แนะทารกนอนเตียงเด็กปลอดภัยกว่า
เผย 1 ใน 5 ของการเสียชีวิตเพราะหมอนหรือผ้าอ้อมอุดปากและจมูก
ผลวิจัยชี้ทารกที่นอนร่วมเตียงกับพ่อแม่ มีโอกาสเสี่ยงที่จะถูกทับจนหายใจไม่ออก หากผู้ปกครองเมาหรือกินยาบางชนิด แนะแยกลูกน้อยไปนอนในเตียงเด็กจะปลอดภัยกว่า
นักวิจัยของมหาวิทยาลัยบริสตอลและวอริกในอังกฤษ ได้ศึกษาการเสียชีวิตอย่างไม่คาดหมายของทารกทุกรายที่มีอายุจนถึง 2 ปี ในเขตตะวันตกเฉียงใต้ของแคว้นอิงแลนด์ ระหว่างเดือนมกราคม 2546 จนถึงเดือนธันวาคม 2549
ทีมวิจัยได้เปรียบเทียบกรณีการเสียชีวิตเหล่านี้กับอีก 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นพวกมี “ความเสี่ยงสูง” เพราะมีแม่เป็นวัยรุ่น สูบบุหรี่ และมีปัญหาการเข้าสังคม อีกกลุ่มได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ
ในกลุ่มเปรียบเทียบทั้งสอง พ่อแม่ที่นอนร่วมเตียงกับลูกมี 20% ในจำนวนกรณีการเสียชีวิต 80 รายนั้น เป็นการเสียชีวิตขณะนอนร่วมเตียงกับพ่อแม่ 54% ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะพ่อแม่ดื่ม
แอลกอฮอล์ หรือกินยาก่อนเข้านอน การเสียชีวิตของกรณีเหล่านี้มี 31% ขณะที่ในกลุ่มเปรียบเทียบมี 3%
ในปี 2550 ในอังกฤษเกิดกรณีการเสียชีวิตของทารกขณะนอนหลับบนเตียง 305 ราย ลดลงจาก 374 รายเมื่อปี 2543
หนึ่งในห้าของการเสียชีวิตในเตียงของทารก เกิดขึ้นเพราะหมอนหรือผ้าอ้อมอุดปากและจมูก ซึ่งนับเป็นปัจจัยเสี่ยง นักวิจัยบอกว่า ควรจัดให้ทารกนอนหงาย หรือจัดให้มีเตียงเด็กต่างหาก ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับเตียงของพ่อแม่
ศาสตราจารย์ปีเตอร์ เฟลมมิง หัวหน้าทีมวิจัยแห่งภาควิชาการพัฒนาทางกายภาพและสุขภาพของทารก มหาวิทยาลัยบริสตอล บอกว่า การให้ทารกนอนร่วมเตียงหรือโซฟากับผู้ปกครองเป็นเรื่องเสี่ยง เราขอแนะนำว่า ถ้าพ่อแม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือกินยา ก็ไม่ควรนอนร่วมกับลูกน้อย
เขาบอกว่า การให้ลูกนอนบนโซฟาร่วมกันมีความเสี่ยงมากกว่าการนอนบนเตียงร่วมกันถึง 25 เท่า เมื่อพ่อแม่ป้อนนมลูกในตอนกลางดึกแล้วก็ควรนำลูกไปนอนบนเตียงเด็ก
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจชิ้นหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร community practitioner เผยว่า คุณแม่ราว 1 ใน 4 ไม่เชื่อว่าการนอนร่วมเตียงกับลูกน้อยจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของทารก
งานสำรวจนี้ได้สอบถามคุณแม่ 506 รายซึ่งมีลูกอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 3 ขวบ
ผู้อำนวยการมูลนิธิศึกษาการเสียชีวิตของทารก จอยซ์ เอพสไตน์ บอกว่า ทางมูลนิธิได้ให้คำแนะนำมาตั้งแต่ปี 2543 ว่าพ่อแม่ควรนอนแยกกับลูก ผลวิจัยนี้ได้ยืนยันว่าคำแนะนำเช่นนี้เป็นเรื่องถูกต้อง แต่ผลสำรวจของทางมูลนิธิพบว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงที่สุดคือพวกแม่อายุน้อยที่เลี้ยงลูกเพียงลำพัง ซึ่งคนกลุ่มนี้มักปฏิเสธคำแนะนำนี้
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
update: 22-10-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: อัญณิกา กฤษสมัย