แนะตรวจมะเร็งท่อน้ำดี พบเร็วรักษาได้
แฟ้มภาพ
โรคพยาธิใบไม้ในตับ ถือเป็นอีกปัจจัยเริ่มต้นของการพัฒนาไปสู่ "มะเร็งท่อน้ำดี" โดยโรคดังกล่าวในระยะรุนแรงทำให้ ผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมานจากอาการโรค เนื่องจากมีการอุดตันของท่อน้ำดี จะส่งผลทำให้เกิดอาการดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง มีอาการคัน อุจจาระสีเหลืองซีด ปวดท้องบริเวณชายโครงด้านขวา น้ำหนักลด เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย และเป็นไข้
รศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว รองประธานมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวว่า โรคมะเร็งท่อน้ำดีในประเทศไทย ถูกค้นพบมานานแล้วกว่า 90 ปี และเป็นที่ทราบกันดีว่าสาเหตุสำคัญ เกิดจากการรับประทาน ปลาน้ำจืดมีเกล็ดแบบสุกๆ ดิบๆ เช่น ปลาตะเพียนทอง ปลาตะเพียนขาว ปลาสร้อยนกเขา (หรืออีไทย) ปลาชาวนา ปลากระมัง ปลากระสูบจุด ปลาสร้อย ที่อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำ โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศ
สำหรับปลาน้ำจืดจะมีตัวอ่อน ระยะติดต่อของพยาธิใบไม้ตับอาศัยอยู่ ซึ่งตัวอ่อนพยาธิใบไม้จะชอนไชและเข้าไปเจริญเติบโตใน ท่อน้ำดี และทำให้ผนังท่อน้ำดีอักเสบซ้ำซาก หากทิ้งระยะการอักเสบไว้นาน 10-20 ปี จะทำให้ท่อน้ำดีเกิดอาการอักเสบเรื้อรังและกลายเป็น "มะเร็งท่อน้ำดี" ในที่สุด
ปัจจุบันพบว่ามีประชาชนที่เข้าข่ายเกี่ยวข้องอยู่ประมาณ 20 ล้านคน และตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของโรคมะเร็งท่อน้ำดีอยู่ราวๆ 6 ล้านคน ที่มีการติดโรคพยาธิใบไม้ตับและน่าเป็นห่วงมีผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีต้องเสียชีวิตอยู่ราว ๆ 14,000 คนต่อปี หรือ 38 คนต่อวันโดยประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจในเรื่องของการปฏิบัติตัว การดูแลรักษาตัวเองเพื่อป้องกันการเกิดโรค โดยเข้าตรวจคัดกรองสำหรับกลุ่มเสี่ยงคนอายุ 40 ปีขึ้นไป ด้วยการอัลตราซาวด์ตับปีละ 1-2 ครั้ง จะสามารถพบมะเร็งท่อน้ำดีในระยะเริ่มต้นได้ค่อนข้างแม่นยำและทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดมีโอกาสหายขาดจากโรคได้
ทั้งนี้เมื่อปี 57 ที่ผ่านมา ได้ประกาศยุทธศาสตร์ "กำจัดพยาธิใบไม้ตับ ลดมะเร็งท่อน้ำดี วาระคนอีสาน" โดยลงนามบันทึกข้อตกลงทางวิชาการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี ในการร่วมมือกันทำโครงการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ในตับและมะเร็งท่อน้ำดี พร้อมเตรียมนำเข้าสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ภาคประชาชนได้ตระหนักว่าปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาของตนเองและเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการรักษาดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะการเฝ้าระวังตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดีร่วมกันอย่างเป็นระบบ
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์