แนะดูแลสุขภาพช่วงถือศีลอด
หลักง่ายๆ ของคนรักสุขภาพ
ผ่านมาแล้ว 20 กว่าวันของการถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิม จากข้อมูลของสมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม. อะไรในอิสลาม การถือศีลอด มาจากภาษาอาหรับว่า “อัศ-เศาม” หรือ “อัศ-ศิยาม” ในทางภาษาหมายถึง การละ การงด การระงับยับยั้ง การควบคุม ครองตน เช่น การละความชั่ว ยับยั้ง สิ่งต่างๆ ที่เกิดจากอารมณ์ฝ่ายต่ำ ส่วนความหมายในทางศาสนา หมายถึงการละเว้นการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม การร่วมสังวาสระหว่างรุ่งสางจนตะวันลับขอบฟ้า งดเว้นการพูดจาโกหกเหลวไหลไร้สาระ เว้นจากการประพฤติชั่วทั้งโดยลับและเปิดเผย
การถือศีลอดได้ปฏิบัติกันมาในรูปแบบต่างกัน บางพวกอดอาหารตลอดวัน บางพวกงดเพียงครึ่งวัน บางพวกบริโภคอาหารหนัก แต่ไม่ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มอื่นๆ และบางพวกงดบริโภคเนื้อสัตว์ แต่สำหรับอิสลาม การถือศีลอดหมายถึง การอดอาหารเครื่องดื่ม การเสพเมถุน อดกลั้นทำความชั่วทุกชนิด แม้เพียงนึกคิด ตั้งแต่รุ่งสางจนตะวันลับขอบฟ้าในเดือนรอมฎอน (เดือนที่ 9 ตามปฏิทินทางจันทรคติขิงอิสลาม) ของทุกปี เป็นเวลาประมาณ 29–30 วัน
ซึ่งเมื่อร่างกายจะต้องงดอาหารและน้ำที่มนุษย์บริโภคเข้าไปในทุกวันนั้น ย่อมส่งผลต่อระบบร่างกาย นายศิริชัย ลีวรรณนภาใส นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ได้กล่าวแนะนำการดูแลรักษาสุขภาพของผู้ถือศีลอดไว้ว่า ช่วงนี้อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคอุจจาระร่วง และอาหารเป็นพิษได้ ซึ่งเกิดจากการรับประทานอาหาร และดื่มน้ำที่ไม่สะอาด จึงควรระมัดระวังในการรับประทานอาหารให้มากขึ้น โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ไม่รับประทานอาหารหวาน มัน มากเกินไป โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน หากมีอาหารที่ทำเก็บไว้ค้างคืนควรเก็บไว้ในตู้เย็น และก่อนกินอาหารควรอุ่นด้วยความร้อนให้เดือด ส่วนการเลือกซื้ออาหารสำเร็จรูป ควรเลือกซื้อจากร้านที่ได้รับการรับรองว่าเป็นร้านอาหารสะอาด ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข
สำหรับผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาในระหว่างเดือนรอมฎอน จำเป็นต้องปรับยาบางมื้อให้เข้ากับจำนวนมื้อ และเวลาอาหารที่เปลี่ยนไป ยาทั่วไปที่รับประทานวันละ 1-2 ครั้งในช่วงก่อน หรือหลังอาหารมื้อเช้า ให้มากินก่อน หรือหลังอาหารซาฮูร ยาที่รับประทานในช่วงก่อน หรือหลังอาหารมื้อเย็น ให้ไปรับประทานก่อน หรือหลังละศีลอด โดยยาที่รับประทานก่อนอาหารเย็นสามารถรับประทานร่วมกับการละศีลอดด้วยอินทผาลัม และน้ำได้ จากนั้นจึงไปละหมาดแล้วกลับมารับประทานอาหารตามปกติ
สำหรับยาที่รับประทานวันละ 3 ครั้ง จำเป็นต้องดูว่า ยาที่ใช้อยู่เป็นยาที่รักษาตามอาการ หรือยารักษาตามโรคที่ไม่สามารถหยุดได้ ถ้าเป็นยารักษาโรคตามอาการสามารถงดมื้อเที่ยงได้ เหลือรับประทานยาเฉพาะมื้อเช้ากับเย็น แต่หากเป็นยารักษาโรคควรปรึกษาแพทย์ก่อน
สุขภาพช่องปากในช่วงถือศีลอด แม้จะไม่ได้รับประทานอาหารในช่วงกลางวัน ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาในช่องปาก เพราะแบคทีเรียในช่องปากยังทำงาน และอาจก่อให้เกิดกลิ่นปาก หรือปัญหาในช่องปากได้ ดังนั้น จึงควรแปรงฟันในช่วงกลางวันเพิ่มเติมจากการแปรงฟันในช่วงหลังรับประทานอาหารหลังจากละศีลอด และอาหารซาฮูร โดยเฉพาะหลังอาหารซาฮูร หลายคนอาจรีบเข้านอนโดยลืมแปรงฟัน ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาในสุขภาพช่องปากได้ ทางที่ดีที่สุดคือการแปรงฟันก่อนการละหมาดทุกครั้ง เช่นนี้ก็จะเป็นการปฏิบัติตามหลักศาสนา และการรักษาสุขภาพได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
หลักการปฏิบัติง่ายๆ ในหลายข้อ ไม่จำเป็นต้องทำเฉพาะในช่วงถือศีลอด เพราะในหลายข้อนั้นถือเป็นหลักปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้เป็นปกติในชีวิตประจำวันได้ เพียงเท่านี้ หากปฏิบัติตามหลักที่ถูกต้อง สุขภาพไม่ว่าจะก่อน ระหว่างหรือหลังถือศีลอด ก็จะดีอย่างที่ควรจะเป็น
ที่มา : สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th
Update : 06-09-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร