แนะควบคุมอาหาร ลดเสี่ยงไตเรื้อรัง
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
โรคไตเรื้อรัง เป็นอาการของอวัยวะไตเสื่อมหรือไตวาย ผู้ป่วยควรควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดอาหารเค็ม ควบคุมน้ำหนักตัว และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
นาวาอากาศเอกหญิง วรวรรณ ชัยลิมปมนตรี และพลอากาศโท นายแพทย์ อนุตตร จิตตินันทน์ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า เบาหวานเป็นสาเหตุสำคัญอันดับหนึ่ง ของการเกิดโรคไตเรื้อรัง ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจึงควรได้รับการตรวจการทำงานของไต และตรวจปริมาณอัลบูมินในปัสสาวะเป็นประจำ อย่างน้อยปีละครั้ง เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นสิ่งสำคัญ ในการทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง
ทำให้มีไข่ขาวรั่วในปัสสาวะ และเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น ผู้ป่วยเบาหวานจึงต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ด้วยการดูแลเรื่องการรับประทานอาหารที่เหมาะสม ควบคุมของหวานของมัน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ลดน้ำหนัก และรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ
ความดันโลหิตสูง เป็นสาเหตุของโรคไตเรื้อรังอันดับสอง และความดันโลหิตสูงยังเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง จึงควรควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอยู่เสมอ ด้วยการลดอาหารเค็ม ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกาย และรับประทานยาลดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ
นิ่วในไตและทางเดินปัสสาวะ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคไตเรื้อรัง การป้องกันไม่ให้เกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ด้วยการดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ
โรคเก๊าท์ เป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยมีข้ออักเสบ จากการที่มีระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้น หากเป็นนานๆ และไม่สามารถควบคุมระดับกรดยูริกให้ปกติ อาจทำให้เกิดโรคไตเรื้อรังได้ และการมีกรดยูริกสูงก็เป็นปัจจัยเร่งให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยโรคเก๊าท์ จึงต้องควบคุมระดับกรดยูริกด้วยการควบคุมอาหารจำพวกเครื่องในสัตว์ สัตว์ปีก ผักมียอด เช่น ชะอม กระถิน เห็ด และรับประทานยาลดกรดยูริกตามที่แพทย์สั่ง
โดยสรุปอยากให้ทุกคนหมั่นตรวจสุขภาพไตเป็นประจำ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดโรคไต หลีกเลี่ยงการซื้อยากินเองเป็นประจำ และอย่าหลงคำโฆษณาและหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพร ยาหม้อ หากทุกคนปฏิบัติตามเคล็ดลับที่แนะนำได้ ก็จะป้องกันการเกิดโรคไตดังที่ทุกคนปรารถนา