แนวทางดูแล ‘หญิงท้อง’ สงสัยติดเชื้อซิก้า

ที่มา : MGR Online (Th)


แนวทางดูแลหญิงท้องที่สงสัยติดเชื้อไวรัสซิกา thaihealth

แฟ้มภาพ


คลอดแนวทางดูแลหญิงท้องกรณีซิกา แม่มีอาการอัลตราซาวด์ทันที ตรวจติดตามทุกเดือนจนคลอด แม่ไม่มีอาการอัลตราซาวด์2ครั้ง พบหัวเล็กก่อน24สัปดาห์ยุติครรรภ์ได้ตามกฎหมาย


ที่กรมการแพทย์ มีการประชุมคณะกรรมการจัดทำแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัยและดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่สงสัยติดเชื้อไวรัสซิกา โดยมี รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เป็นประธานฯ พร้อมด้วย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก รพ.ราชวิถี รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี และ รพ.เอกชนเข้าร่วม


รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า ไวรัสซิกาเป็นเชื้อเก่ากว่า 60 ปี แต่ทำให้ทารกศีรษะเล็กถือเป็นกลุ่มอาการใหม่ที่เพิ่งเจอ เนื่องจากอาจไม่มีการระบาด ทำให้ไม่พบปัญหา ซึ่งที่ผ่านมาในเอเชียยังไม่เห็นมีการจัดทำแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัยและดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่สงสัยติดเชื้อไวรัสซิกามาก่อน แต่ประเทศไทยชัดเจนแล้วว่าพบทารกศีรษะเล็กจากซิกา 2 ราย จึงต้องหาแนวทางที่เหมาะสมในการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่สงสัยติดเชื้อไวรัสซิกา เพราะเมื่อติดเชื้อไวรัสซิกาแล้วร้อยละ 80 มักไม่มีอาการ จะมีอาการเพียงร้อยละ 20 คือ เป็นไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ และเมื่อติดเชื้อแล้วไม่ได้ทำให้ทารกในครรภ์ศีรษะเล็กหรือมีหินปูนจับสมองทุกราย เห็นได้ชัดจากการติดตามหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อซิกาในไทย 39 ราย พบว่า 23 รายไม่แสดงอาการ มีอาการเพียง 16 ราย และที่คลอดออกมาแล้ว 9 ราย เด็กก็ปกติดี ส่วนทารกศีรษะเล็กจากซิกา 2 รายนั้นเป็นเคสที่พบทารกศีรษะเล็กก่อนที่จะวินิจฉัยได้ว่ามารดาเคยติดเชื้อซิกา


"ประเทศไทยมีการตรวจหาเชื้อซิกาเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ตรวจ 10 กว่าราย พบติดเชื้อ 5 ราย เพิ่มเป็นตรวจ 10,000 กว่ารายปี 2559 พบติดเชื้อ 392 ราย ซึ่งการตรวจเยอะย่อมเจอเยอะ ส่วนที่บางประเทศรายงานพบเพียง 1-2 ราย เชื่อว่าประเทศใดที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะ ย่อมต้องมีเชื้อซิกาด้วย แต่อยู่ที่ว่าจะมีการตรวจหาเชื้อหรือไม่" รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว


ศ.นพ.ภิเศก กล่าวว่า ไทยมีแนวทางเวชปฏิบัติดูแลหญิงตั้งครรภ์อยู่แล้วคือ จะต้องมาฝากครรภ์ 5 ครั้ง เพื่อตรวจเลือดและปัสสาวะดูว่ามีความผิดปกติหรือไม่ และทำอัลตราซาวนด์ 1 ครั้ง ช่วงอายุครรภ์ 18-20 สัปดาห์ แต่สำหรับการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่สงสัยติดเชื้อซิกาจะมีการดูแลเพิ่มขึ้น เพราะเชื้อซิกาส่งผลให้ทารกในครรภ์ศีรษะเล็กหรือมีหินปูนจับสมอง แต่ปัญหาคือไม่ได้พบทุกรายที่ติดเชื้อ โดยการดูแลจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ 1.หญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการของเชื้อซิกา เช่น เป็นไข้ ออกผื่น ตาอักเสบ ปวดข้อ จะต้องรีบตรวจเลือดและปัสสาวะส่งห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันว่าติดเชื้อจริงหรือไม่ และทำอัลตราซาวนด์ทันที เพื่อดูความผิดปกติของทารก และอัลตราซาวนด์ติดตามไปจนกว่าจะคลอด เพื่อดูว่ามีศีรษะเล็กจริงหรือไม่ และหากพบว่าศีรษะเล็กจริง จะมีการส่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางดูแลต่อ และ 2.กลุ่มที่ไม่มีอาการ จะมีการอัลตราวซาวนด์ 2 ครั้ง คือช่วงอายุครรภ์ที่ 18-20 สัปดาห์ และ 28-30 สัปดาห์


"ยืนยันว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อซิกาไม่ได้แปลว่าทารกในครรภ์จะผิดปกติทุกราย แต่จะต้องมีการอัลตราซาวนด์ติดตามต่อเนื่องว่ามีความผิดปกติจริงหรือไม่ ซึ่งต้องตรวจให้พบเร็วที่สุด เพราะปัจจุบันยังบอกได้ยากว่าจะตรวจพบเจอทารกในครรภ์ศีรษะเล็กที่อายุครรภ์เท่าใด โดยแต่ละช่วงอายุครรภ์จะมีเกณฑ์มาตรฐานเส้นรอบวงศีรษะของทารกอยู่แล้วว่าเป็นเท่าใด แต่หากพบว่าทารกศีรษะเล็กจริง การจะยุติการตั้งครรภ์ก็จะใช้แนวทางเช่นเดียวกับการยุติการตั้งครรภ์จากสาเหตุอื่น คือ เด็กพิการจริงหรือไม่ กระทบกับสุขภาพของแม่ทั้งร่างกายและจิตใจหรือไม่ ต้องมีการปรึกษาหารือระหว่างแพทย์อย่างน้อย 2 คนและครอบครัวคือหญิงตั้งครรภ์และสามีก่อน และต้องทำก่อนอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ เพราะยิ่งอายุครรภ์มากภาวะแทรกซ้อนก็จะยิ่งมาก แต่หากอายุครรภ์เกิน 24 สัปดาห์จะถือเป็นการคลอด" ศ.นพ.ภิเศก กล่าวและว่า ทารกศีรษะเล็กในไทยทุกสาเหตุรวมกันถือว่าเกิดน้อยมาก ไม่ถึง 1% และเกิดจากซิกายิ่งน้อย เพราะส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอื่น ที่น่ากังวลคือหัดเยอรมัน เพราะหากติดเชื้อคือทำให้ทารกมีความผิดปกติเกือบ 100% เลย ซึ่งต้องยุติการตั้งครรภ์ แต่ซิกานั้นไม่ได้ทุกรายที่จะเกิดความผิดปกติมีโอกาสเพียง 1-30% เท่านั้น


รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า หากพบทารกศีรษะเล็กหลังอายุครรภ์เกิน 24 สัปดาห์ หากจะทำการคลอดเอาเด็กออกถือเป็นเรื่องใหญ่ โดยจะต้องมีการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อสแกนสมองให้ชัดว่ามีศีรษะเล็กจริง ซึ่งจะมีการพิจารณาเป็นรายๆ ไป โดยสูติแพทย์จะมีการหารือเพื่อวางแนวทางเรื่องนี้ต่อ ทั้งนี้ ยืนยันว่าหญิงตั้งครรภ์ที่แสดงอาการและไม่ได้แสดงอาการ ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มไหนจะเสี่ยงทารกศีรษะเล็กมากกว่ากัน แต่แบ่งเป็นสองกลุ่มเพื่อให้ง่ายต่อการดูแล ซึ่งหญิงตั้งครรภ์ที่แสดงอาการจะทำให้การทำงานเร็วขึ้น เพราะจะเข้าสู่ระบบในการตรวจติดตามเด็กศีรษะเล็กอย่างต่อเนื่อง


เมื่อถามถึงการดูแลเด็กทารกศีรษะเล็กที่คลอดออกมา รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า ขณะนี้จัดทำแนวทางการดูแลเด็กศีรษะเล็กเรียบร้อยแล้ว เตรียมที่จะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข โดยทารกศีรษะเล็กจะต้องอยู่ในความดูแลของกุมารแพทย์ มีการตรวจติดตามเรื่องสายตา การได้ยิน และสมองไปจนถึงอายุ 2 ขวบ และมีการให้ยากันชักสำหรับเด็กที่มีปัญหาเรื่องชักด้วย เพื่อให้คุณภาพชีวิตของเด็กที่ดีสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะต้องยอมรับว่าคงไม่กลับมาเป็นปกติเหมือนเด็กทั่วไป เพราะเนื้อสมองมีน้อยกว่า


ศ.นพ.ภิเศก กล่าวว่า ขอให้หญิงตั้งครรภ์มาฝากครรภ์ เพื่อได้รับการติดตามดูแล และขอให้ระวังในการไปในที่ที่มียุง และมีการป้องกันตัวเองจากการถูกยุงกัด รวมถึงหากมีเพศสัมพันธ์ก็ควรป้องกันด้วยการสวมถุงยางอนามัย


 

Shares:
QR Code :
QR Code