แจงมาตรการเข้ม รพ.ทางเลือก ดูแลผู้ป่วยต่างแดน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
แฟ้มภาพ
แจงมาตรการเข้ม รพ.ทางเลือก ดูแลผู้ป่วยต่างแดน เน้นต้องปลอดโควิด 19 ตรวจ ไม่พบก่อนเข้าประเทศ และตรวจในประเทศอีก 3 ครั้ง เข้ารับการรักษา เป็นผู้ป่วยในเท่านั้น เผย มีรพ.แสดงความจำนง กว่า 100 แห่ง ย้ำขณะนี้ยังไม่มีการอนุญาตให้ผู้ป่วยและผู้ติดตามรายใดเข้ามาในประเทศ
นายธนิตพล ไชยนันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุม "ชี้แจงแนวทางการจัดการสถานกักกันใน โรงพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine) สำหรับผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมผู้ติดตาม" โดยมีผู้แทนจากสถานพยาบาลภาครัฐ และเอกชน ที่แสดงความจำนงเข้าร่วมเป็นสถานกักกันในโรงพยาบาลทางเลือกเข้าร่วมการประชุม
นายธนิตพล กล่าวว่า ประเทศไทยมีการดำเนินการควบคุมป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) จนได้รับการยอมรับว่าประเทศไทยมีความมั่นคงทางด้านสุขภาพเป็นอันดับหนึ่งของโลก และรัฐบาลได้มีนโยบายในการรับชาวไทยกลับเข้าประเทศ และชาวต่างชาติที่มีความประสงค์จะเข้ามารับการรักษาพยาบาลในไทย ทั้งโรคที่รอการรักษา และโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่อง
จากปัจจัยความพร้อมในการจัดบริการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ มาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับในเวทีโลก รวมทั้งความเชี่ยวชาญของบุคลากรทางการแพทย์และเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย มีจำนวนสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับสากล JCI มากที่สุดในอาเซียน มาตรฐาน HA และค่ารักษาพยาบาลมีความเหมาะสม
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จึงได้จัดทำมาตรการ Alternative Hospital Quarantine (14 วัน) สำหรับกลุ่มผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างชาติในสถานพยาบาล และผู้ติดตาม สร้างระบบการกักตัว ร่วมกับการรักษาพยาบาล ในสถานพยาบาล เพื่อให้กลุ่มนี้ได้รับการดูแลรักษาอย่างเป็นระบบ และเป็นการเฝ้าระวังโรคโควิด 19 ตามหลักเกณฑ์และแนวทางการควบคุมป้องกันโรค
ด้าน นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า ได้เชิญผู้แทนจากสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชน ชี้แจงเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการ การตรวจสอบเอกสารผู้ป่วย การตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 และขั้นตอนการดำเนินการระบบกักตัวผู้ป่วย รวมถึงผู้ติดตาม ที่ถูกต้องเหมาะสม มาตรฐานเดียวกัน ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค โดยกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ป่วย
อาทิ ตรวจโควิด 19 ไม่พบก่อนเข้าประเทศ และตรวจในประเทศอีก 3 ครั้ง เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในเท่านั้น ระยะนอนโรงพยาบาลไม่น้อยกว่า 3-5 วัน กระบวนการรักษาไม่เป็นหัตถการที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขและมาตรการที่กำหนดในคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ครบถ้วน ส่วนเกณฑ์การคัดเลือกประเทศ จะเลือกประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ และปานกลางก่อน
ขณะนี้ มีสถานพยาบาลแสดงความจำนงเข้าร่วมเป็นสถานกักกันในโรงพยาบาลทางเลือกแล้วกว่า 100 แห่ง ซึ่งประมาณการว่าจะมีผู้ป่วยต่างชาติ ที่จะเข้ารับบริการรักษาพยาบาลมากกว่า 900 ราย ทั้งนี้ ยังไม่มีการอนุญาตให้ผู้ป่วยและผู้ติดตามรายใดเข้ามาในประเทศ ส่วนการกำหนดระยะเวลาให้เข้ามารักษาได้นั้น ต้องได้รับการพิจารณาจาก ศบค. อีกครั้ง
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ แนวทางการกำหนดสถานกักกันในโรงพยาบาลทางเลือกตามประกาศศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด19 เรื่อง หลักเกณฑ์แนวทางการกำหนดสถานที่กักกันที่รัฐกำหนด พ.ศ. 2563 ฉบับที่ 2 มีข้อกำหนดสถานพยาบาลที่จะเข้าร่วม ได้แก่ 1. เป็นสถานพยาบาลภาคเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2. สถานพยาบาลจะต้องแสดงความจำนงเข้าร่วมตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และได้รับการประกาศรายชื่อจากกระทรวงสาธารณสุขโดยกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ป่วยชาวไทยและต่างชาติที่เดินทางเข้ามาใน ราชอาณาจักรไทย เพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล และมีความจำเป็นต้องเข้ารับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยเดินทางมาพร้อมผู้ติดตาม ไม่เกิน 1-3 รายซึ่งได้มีการนัดหมายไว้ล่วงหน้ากับสถานพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยผู้ป่วยและผู้ติดตามจะต้องชำระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและการกักกันตนด้วยตนเอง ในทุกกรณี
สถานพยาบาลที่เป็น Alternative Hospital Quarantine ต้องมีองค์ประกอบหลัก 3 หมวดดังนี้หมวด 1 ลักษณะโดยทั่วไปสถานพยาบาลต้องเป็นไปตามที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องหมวด 2 ลักษณะที่ต้องจัดให้มีเพิ่มเติมโดยสถานพยาบาลต้องจัดให้มีสถานที่ บุคลากร และ ระบบงานพร้อมอุปกรณ์ ซึ่งแยกจากระบบงานปกติ ได้แก่ 1. ห้องแยกโรคติดเชื้อ AIIR-ICU/ Modified AIIR หรือ Cohort Ward 2. ระบบทางเดิน 3. ระบบสุขอนามัย 4. บุคลากรผู้ให้บริการ 5. มีห้องพักที่เป็นห้องเดี่ยว สำหรับผู้ติดตาม 6. ห้องปฏิบัติการที่ได้ตามมาตรฐานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
และหมวดที่ 3 ระบบฐานข้อมูลสถานพยาบาลต้องจัดเตรียม ได้แก่ 1. เอกสารการนัดหมายจากสถานพยาบาล 2. แบบฟอร์มรายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 3. รายละเอียดประกอบการจัดทำรายงานผลการรักษา 4. หนังสือรับรองการกักกันตัว