แค่เปลี่ยน “ใจ” ก็ “สุขเป็น”แล้ว

ข้อมูลจาก งานลงพื้นที่เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และติดตามการดำเนินงานกลุ่มงานสร้างเสริมสุขภาพจิตพื้นที่จ.เชียงใหม่

ภาพโดย ภัณฑิรา แสวงดี Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                 ทุกข์ สุขนั้นอยู่ที่ใจ…จริงหรือ?

                 คงมีเสียงในใจของหลายคนที่คัดค้าน เพราะแค่พูด ใคร ๆ ก็พูดได้ แต่ให้ทำใจได้จริงจะมีสักกี่คน?

                 “เบื่อหน่าย ท้อแท้ สิ้นหวัง” ความโดดเดี่ยวของสังคมยุคปัจจุบัน ความยากไร้ การมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง อาจบีบคั้นให้คนเรารู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้น

                 โลกยุคนี้หลายคนบอกว่าต้องแบกรับสารพันเรื่องราวชวนให้จิตใจดำดิ่งไม่น้อย ยิ่งเมื่อโลกกำลังพลิกผันหลายคนอาจถูกทิ้งไว้ข้างหลัง นั่นอาจคือเหตุผลที่ทำไมคนยุคนี้จึงมี “ปัญหาใจ” มากขึ้น

                 โดยเฉพาะผู้สูงอายุคือมักคิดว่าตนเองเป็นภาระของลูกหลาน เพราะไหนจะโรคภัยที่รุมเร้า เหล่านี้นำมาสู่สาเหตุที่ทำให้คนเราเลือกที่จะ “จบชีวิต” ตัวเอง

                 ดังนั้น ก่อนที่สถานการณ์จะยิ่งดำดิ่งลงไปมากกว่านี้ สังคมเราจำเป็นต้องฉุดดึงผู้คนให้กลับมามีพลังใจและมีภูมิคุ้มกันพอที่จะสู่กับชีวิตต่อไป ซึ่งเวลานี้…อาจต้องอาศัยเครื่องมือฟื้นฟูใจที่เรียกว่า “สุขภาพจิตเชิงบวก”

                 ดอยเต่าสิ้นหวัง?

                 เชียงใหม่เป็นจังหวัดใหญ่ของภาคเหนือที่ใคร ๆ อาจมองว่ามีความเจริญและฐานะดีกว่าจังหวัดอื่นใกล้เคียง แต่ใช่ว่า “ทุกคน” จะได้รับอานิสงส์ความเจริญเหล่านั้น

                 หนึ่งในนั้นคืออำเภอดอยเต่า

                 “ดอยเต่าบ้านเฮากันดาร  หมู่เฮาจากบ้านไปหางานทำ”

                 เนื้อหาท่อนหนึ่งในเพลงไอ้หนุ่มดอยเต่าที่ดูจะสะท้อนแง่มุมวิถีชีวิตคนดอยเต่าได้เป็นอย่างดี เมื่อหลายสิบปีก่อน

                 แม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์ความยากจนคนดอยเต่าจะเบาบางลงไปบ้าง แต่นอกจากเรื่องปากท้อง คนดอยเต่ายังคงเผชิญมรสุมชีวิตในอีกหลายเรื่องที่บ่มเพาะความทุกข์ จนอาจเลือกหนีปัญหาโดยการ “อัตนิวิบาตกรรม”

                 วงศ์อัมพร ภิญญวงค์ พยาบาลวิชาชีพ รพ.ดอยเต่า ขับเคลื่อนโดยกลไกพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.)  ให้ข้อมูลว่า อ.ดอยเต่า มีประชากร  26,788 คน ชาย 13,239 คน หญิง 13,549 คน ข้อมูลปัญหาสุขภาพจิตในพื้นที่ ตั้งแต่ ต.ค. 2565 – ก.ย. 2566 พบอัตราฆ่าตัวตายสำเร็จสูงที่สุดใน จ.เชียงใหม่ คือ 44 คนต่อประชากรแสนคน และมีจำนวนฆ่าตัวตายสำเร็จ 16 คน เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง

                 ข้อมูลยังสืบลึกไปอีกว่าสาเหตุการฆ่าตัวตายของผู้ชาย มาจากปัญหาการใช้สารเสพติด สุรา กัญชา 50%ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว 20% ปัญหาทางเศรษฐกิจ 10% เคยมีประวัติทำร้ายตัวเอง 10% โรคจิตเภท 10% สำหรับผู้หญิงพบในกลุ่มผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยด้วยโรคทางกาย หรือโรคจิตเวช 80% ปัญหาด้านความสัมพันธ์ 20%

                 โดยเฉพาะที่ ต.โปงทุ่ง อ.ดอยเต่า เป็นพื้นที่ 1 ใน 5 แห่งที่มีสถิติฆ่าตัวตายสำเร็จสูงสุดในเชียงใหม่ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่สิ้นหวัง คิดว่าตนเองเป็นภาระของลูกหลาน

                 “เกิดจากคำถามเวลาไปประชุมที่ไหน ทุกคนตั้งคำถามว่า ทำไมเปลี่ยนไม่ได้ ทำไม(สถิติ)ไม่ลงเลย แต่ละปี 10 คนขึ้นตลอด” วงศ์อัมพรให้ข้อมูล

                 การติดตามสถานการณ์การฆ่าตัวตาย ในระดับตำบล ที่ ต.โปงทุ่ง พบว่า มีจำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จติดต่อกัน 3 ปี และสูงกว่าตำบลอื่น ๆ ในปี 2565 คิดเป็น อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ 65.26 คนต่อประชากรแสนคน ติด 1 ใน 5 ตำบลที่มีจำนวนผู้ทำร้ายตนเองสำเร็จมากที่สุดในอำเภอ โดยเฉพาะที่ชุมชนบ้านเกาะหลวง จึงเป็นพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง

                 สถานการณ์ดังกล่าวนี้เอง ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมีความห่วงใย และเป็นจุดเริ่มของการค้นหาแนวทางร่วมกัน เพื่อหาคำตอบว่าอะไรที่ทำให้คนดอยเต่าหมดหวังกับการมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ พร้อมนำเสนอกระบวนการนำร่องที่จะ “สร้างสุขภาพใหม่ให้ใจฟู” ผ่านแนวทางด้านจิตวิทยาเชิงบวก ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้ เกิดภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่จับมือกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์  สธ.จังหวัดเชียงใหม่ และโรงพยาบาลดอยเต่า ร่วมกันผลักดันโครงการที่มีชื่อจดจำง่าย ๆ ว่า “สุขเป็น”

                 เริ่มที่ “สุขเป็น”

                 “พี่นุ่น”  มีนิสัยแต่เดิมเป็นคนชอบบุลลี่คนอื่น แต่พอเข้าสู่กระบวนการ “สุขเป็น” ได้ฝึกตัวเองให้ฟังมากขึ้น มองโลกแง่บวก และคิดก่อนที่จะพูด

                 “พี่วรรณ”  เคยเป็นคนใจร้อนวู่วาม แรงมาแรงกลับ พอเรียนรู้ “สุขเป็น” ได้สัมผัสทักษะขอบคุณตัวเอง การและนำไปใช้ในครอบครัว

                 “พี่สุ” เดิมทำงานชอบข่มคนอื่น พอรู้จัก “สุขเป็น” ก็หัดมองโลกแง่ดี นิ่งขึ้น มองโลกแง่บวกมากขึ้น

                 “พี่เมาท์” ไม่ค่อยเข้าใจหรือใส่ใจคนอื่นเท่าไหร่ ได้ฝึกการมองโลกแง่ดีผ่าน “สุขเป็น” จึงเปลี่ยนมารับฟังผู้อื่น และเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น

                 “นิดา” เป็นคนไม่ปล่อยวาง โมโหง่ายคิดเร็ว “สุขเป็น” ได้สอนให้เรียนรู้การรับฟังคนอื่นทำให้ใจเย็น รับฟังและเข้าใจคนอื่นมากขึ้น

                 “พี่ภา” ภรรยาพ่อหลวง เป็นคนโกรธง่าย ใจร้อน วู่วาม ได้เข้าใจทักษะการรักตัวเอง คิดก่อนพูดมากขึ้น และใจเย็นมากขึ้น จาก “สุขเป็น”

                 “น้องวา” จากที่เคยใส่ใจเรื่องทุกคนมากเกินไป ชอบยุ่งเรื่องคนอื่น แต่ “สุขเป็น” เริ่มทำให้เข้าใจปัญหาผู้อื่น ฟังมากขึ้น แต่ไม่ยุ่งกับปัญหาคนอื่น

                 เหล่านี้คือความเปลี่ยนแปลงของอาสาสมัครที่สมัครใจร่วมทดลองหลักสูตร “สุขเป็น”รุ่นแรก และได้พบความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง ก่อนที่จะผันตัวมาเป็นแกนนำที่ช่วยแพร่เมล็ดพันธุ์ “สุขเป็น” ให้กระจายทั่วชุมชน

                 “เราไม่รู้เลยว่า แค่เราปรับที่ตัวเอง มันกลับช่วยแก้ปัญหาชุมชนได้ แต่ 4-5 เดือนที่ผ่านมา สถิติคนฆ่าตัวตายในหมู่บ้านก็ลดลงนะ” เสียงจากน้องวาหนึ่งใน Change Agent ที่ผ่านกระบวนการสุขเป็นบอกเล่า

                 เธอเอ่ยต่อว่าสิ่งที่เป็น เปรียบสหมือนรีวอร์ดคือ การได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง และเปลี่ยนแปลงองค์กรเอง ให้เข้าถึงง่ายไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ที่สำคัญยังทำให้ในชุมชนมี “บรรยากาศที่ดีขึ้น”

                 “พอเราเปลี่ยนตัวเองเขาเลยเข้าหาเรามากขึ้น” เธอสันนิษฐาน

                 เปลี่ยนเรา เขาก็เปลี่ยน

                 “ตอนแรกเราดึงมา 50 คน แต่มีคนที่ยกมือ 13 คน” วงศ์อัมพรย้อนเล่าในวันเริ่มต้นโครงการ

                 “เราปูพรมให้ทุกคนมาร่วมกัน ถามหาคนที่มีความคิดเหมือนกันว่าอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองไหม เราไม่ได้หวังผลให้ได้คนเยอะ แต่เราหวังให้คนที่ร่วมกระบวนการแล้วเห็นการเปลี่ยนแปลงตัวเองจริงๆ”

                 วงศ์อัมพรบอกต่อว่า กระบวนการนี้ใช้วิธีการง่าย ๆ ด้วยการพูดคุยกันหารือว่าจะทำอย่างไรให้เปลี่ยนแปลงตัวเองให้มีความสุขมากขึ้น ถึงตรงนี้ ก็แนะนำสอดแทรก “หลัก PERMA” เข้า

                 “เรื่องแรกที่เราบอกพวกเขาคือ สิ่งที่ทุกคนขาดไปคือการขอบคุณตัวเอง และอย่าไปคิดว่าเป็นภาระงาน แต่ให้คิดถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงตัวเอง  เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน สองเดือนต่อมาเห็นการเปลี่ยนแปลงเป็นรายคนเลย”

                 พร้อม ๆ กับการสร้างวัคซีนใจในชุมชน ยังมีการให้มีความรู้ด้านสุขภาพจิตเบื้องต้น กระบวนการสังเกตสัญญาณฆ่าตัวตาย การค้นหาคัดกรองผู้ป่วย กลุ่มเสี่ยง และผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ผ่าน application Mental Health Check In

                 หลังดำเนินโครงการมากว่าหนึ่งปี วงศ์อัมพรเอ่ยว่า ผลลัพธ์นับจากการริเริ่มโครงการ พบว่าในหนึ่งปีลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และในช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมาไม่มีคนฆ่าตัวตายเลยในชุมชน นอกจากนี้คนที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพจิต ยังกล้าเดินมาหา อสม.หรือคนที่สาธารณสุขมากขึ้น

                 หากถามว่า “สุขเป็น” สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร วงษ์อัมพรวิเคราะห์ว่า

                 “เมื่อก่อนเราดูแลแก้ปัญหาแบบมองที่ปลายทาง แต่สุขเป็นการแก้ปัญหาต้นน้ำ ได้เปลี่ยนให้ชุมชนมีทัศนคติเชิงบวกมากขึ้น

                 “แต่เวลาเราทำงาน เราไม่ได้เอาคนที่ฆ่าตัวตายมาเป็นหลักเพราะนั่นเป็นเพียง 5% ของคนในชุมชน แต่อีก 95% ที่ยังดีอยู่คือกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่เรามุ่งหวังให้เขามีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น เพราะก็จะทำให้การฆ่าตัวตายลดลงโดยอัตโนมัติ คือแน่นอนว่ามันยังมีทั้งสุขๆ ทุกข์ ๆ ปะปนกัน เพราะโลกไม่ได้สวยขนาดนั้น แต่ก็จะมีภูมิคุ้มกันในใจให้รู้ว่าหากฉันมีปัญหาเรื่องนี้แล้วจะแก้อย่างไร หาทางออกได้ โดยไม่ต้องจบชีวิตลง”

                 เสียงจาก ศิรินุช ไหมคำ หนึ่งในแกนนำ “สุขเป็น” พื้นที่บ้านดอยหลวง ช่วยเสริมว่าที่ผ่านมา ตนเองและทุกคนมีความกังวลกับปัญหาเรื่องการฆ่าตัวตายในชุมชน

                 “เหมือนยิ่งเราหาหนทางแก้ ก็ยิ่งเพิ่ม ไม่ลดลงเลย พอมาเห็นโครงการนี้จึงสนใจสมัครเป็นแกนนำ เพราะอยากเข้ามาปรับในชุมชน ให้เปลี่ยนแปลง

                 เธอบอกว่าความแตกต่างโครงการนี้ คือเริ่มจากให้เปลี่ยนตัวเองก่อนเลย

                 “เหตุผลหนึ่งที่เราเข้ามาก็เพราะอยากเปลี่ยนตัวเองและครอบครัว เดิมสามีเป็นคนคิดมาก ลูกก็กำลังเข้าสู่วัยรุ่น ตัวเราเองเป็นคนพูดแล้วไม่คิด ถ้าเราไม่รีบเปลี่ยนอาจสายเกินแก้ เราทดลอง 12 ทิปด้วยตัวเองก่อน ทำให้เราคิดและฟังมากขึ้นก่อนพูด อย่างสามีเราก็มีปัญหาไม่ลงรอยกับพ่อตลอด เราให้คำปรึกษาเขาไป เขาเชื่อเราเพราะเขาเห็นเราเปลี่ยนแปลงก่อน”

                 หลังเปลี่ยนตัวเองและครอบครัวสำเร็จระดับหนึ่ง ศิรินุชจึงเริ่มขยายสู่การทำงานเป็น Change Agent สุขเป็นในชุมชน ซึ่งเป้าหมายต่อไปที่เธออยากต่อยอดคือ การนำสุขเป็นมาแก้ปัญหา ปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกผู้ดูแลผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียงกับตัวผู้สูงอายุ เนื่องจากพบว่าส่วนใหญ่มักมีปัญหาขัดแย้งกันไม่น้อยในชุมชน

                 ทักษะขอบคุณตัวเอง

                 หากวิเคราะห์หมัดเด็ดสำคัญของ “สุขเป็น” นั่นคือการใช้ “ทักษะขอบคุณตัวเอง” มาเป็นจุดเปลี่ยน ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมสุขของหลักจิตวิทยาเชิงบวก ที่สร้างสุขอย่างง่าย ๆ ซึ่งการเคลื่อนตัวโครงการนี้ใช้ PERMA เป็นหลักสูตรรับรองวิชาการจาก American Psychological Association ข้อดีของโครงการคือทำให้องค์ความรู้สมัยใหม่ระดับโลกเข้าถึงชุมชนได้ง่าย อีกทั้งชุมชนเขายังรู้สึกมีส่วนร่วมในการจัดการความท้าทายต่าง ๆ ของชุมชน

                 ซึ่ง ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. เล่าถึง “สุขเป็น” ว่า คือโครงการหนึ่งในการสนับสนุนการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตของ สสส.ที่มีเป้าหมายให้ประชาชนมีสุขภาพจิตดี มุ่งเน้นการสร้างเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตก่อนเจ็บป่วย ด้วยการมองโลกแง่ดี มีความหวัง จึงพัฒนาโมเดลขับเคลื่อนมาตรการสร้างเสริมสุขภาพจิตผ่านกลไกชุมชน ด้วยการ “สร้าง” สุขภาพจิตเชิงบวกผ่านแนวทางด้านจิตวิทยาเชิงบวก ด้วยหลัก PERMA ที่มีองค์ประกอบหลัก 5 ด้าน 1. สร้างการมีส่วนร่วม 2. ทำให้มีความรู้สึกเชิงบวก 3. การมีความสัมพันธ์ที่ดี 4. การมีชีวิตที่มีคุณค่าและความหมาย 5. มีความสำเร็จ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีทักษะทางจิตใจในเชิงบวก สามารถดูแลใจตัวเองและรับมือกับปัญหาที่เข้ามาได้

                 “การพัฒนากลไกให้เกิดแกนนำเป็น counsellor ด้วยการทำงานกับต้นน้ำคือคนในพื้นที่เพื่อช่วยให้ปัญหาคลี่คลาย เป็นสิ่งที่ชุมชนสามารถแก้ปัญหาได้เอง ไม่ใช่ไม่สบายแล้วต้องไปเจอหมอเท่านั้น”

                 เรื่องใจต้องใช้ทุนมนุษย์

                 ชาติวุฒิยอมรับว่างานเรื่องวัคซีนใจเป็นเรื่องยาก แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำ ซึ่งโครงการนี้เป็นการทดลองในพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งในเขตเมืองและภูมิภาค ประมาณสองปีโดยจะสิ้นสุดกรกฎาคม 2567 โดยใช้แนวทางมีโจทย์ง่าย ๆ คือทำอย่างไรให้คนมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน มีความสุข มีคุณค่ามีความหมายในชีวิต อยู่อย่างมีความหวัง และมีมิตรภาพที่ดีกับคนรอบข้าง

                 “การที่เราเลือกเป็น 7 ทักษะสำหรับการทำระยะแรก เพราะเป็นการนำมาใช้กับชาวบ้าน ทำง่าย ๆ คือเริ่มต้นที่ต้นทุนคน คือใจดี คิดดี กายดี  เราเริ่มจากคุยกับคน 30 คน อาจมีคนแค่ 7-10 คนที่ยกมืออยากเปลี่ยนในช่วงแรก ซึ่งกระบวนการไม่ใช่แค่การดูแลสุขภาวะทางจิตเท่านั้น แต่ต้องมีทางกายประกอบด้วยเช่นนอนให้เร็วขึ้น ออกกำลังกาย ดื่มน้ำกินอาหารดี ๆ คิดทางบวกง่าย ๆ จากนั้นทุกสองเดือนมาคุยกัน ว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร คือยังไม่ต้องคิดว่ามาทำงานอะไรขอให้เปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน” ดร.ชาติวุฒิกล่าว

                 ชูไชย นิจไตรรัตน์ เลขาธิการมูลนิธิแพธทูเฮลท์ กล่าวว่า “สุขเป็น” ดำเนินการนำร่องใน 12 พื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ 1. กรุงเทพ ที่แขวงประเวศ เขตประเวศ และแขวงหนองแขม เขตหนองแขม 2. สมุทรสาคร ที่ ต.ยกกระบัตร อ.บ้านแพ้ว และ ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน 3. นนทบุรี ที่ ต.ละหาร อ.บางบัวทอง และ ต.ท่าทราย อ.เมือง 4. เชียงใหม่ ที่ ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง และ ต.โปงทุ่ง อ.ดอยเต่า 5. ประจวบคีรีขันธ์ ที่ ต.เขาล้าน อ.เมือง และ ต.ไชยราช อ.บางสะพานน้อย 6. นครศรีธรรมราช ที่ ต.บ้านตูล อ.ชะอวด และ ต.บ้านชะอวด อ.จุฬาภรณ์

                 1 ปีที่ผ่านมา เกิดแกนนำสื่อสารกับคนในพื้นที่ สร้างเครื่องมือตามกรอบแนวทางจิตวิทยาเชิงบวก ปรับพฤติกรรมด้วยการสร้างสุขอย่างง่ายจากกิจกรรม อาทิ “ขอบคุณ” “สุขอย่างยั่งยืน” “12 Tips-สุขเป็น” สำรวจความสุข” “Self care ดูแลตัวเอง” “การสื่อสารเชิงบวก” “Character Strengths” “ล้มแล้วลุกได้” และต่อไปจะรวบรวมการทำงานเป็น “คู่มือแนวทางทำงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเชิงบวกในชุมชนโดยชุมชน

                 หลายคนอาจมองแค่อยากหลุดพ้นจากวังวนความทุกข์ในใจ แต่ “การฆ่าตัวตาย” ไม่ได้จบลงแค่คนที่จากไป หากผลกระทบของการสูญเสียเพียง 1 คนนั้น ยังทำให้ “คนที่อยู่” เหมือน “ตายทั้งเป็น” อีกว่า 6-7 คน ต้องแบกรับความเจ็บปวด ซึมเศร้าต่อไปไม่รู้ถึงเมื่อไหร่

                 ดังนั้น หากเราทุกคนและชุมชนหันมาใส่ใจคนรอบตัวมากขึ้น และรู้จักการใช้“ทักษะการฟังอย่างตั้งใจ” รวมถึง“ฟังโดยไม่ตัดสิน” ก็อาจเป็นภูมิคุ้มกันใจให้กันและกันไม่น้อย

Shares:
QR Code :
QR Code