แคมเปญ “ออกมาเล่น 60นาที” สติปัญญาฉับไว

ชวนเด็กไทยสร้างเสริมการมีกิจกรรมทางกายอย่างเหมาะสม ลดเสี่ยง NCDs ส่งเสริมสติปัญญาฉับไว


แคมเปญ


พ่อแม่รู้หรือไม่ว่าการอบรมเคี่ยวเข็ญให้เด็กมุ่งแต่เรียนหามรุ่งหามค่ำ ต่อด้วยเสาร์อาทิตย์ต้องไปเรียนกวดวิชา ส่วนเวลาว่างก็ให้แต่อ่านหนังสือ หรือผ่อนคลายด้วยการเล่นเกม ดูโทรทัศน์ เพื่อหวังให้พวกเขาเติบโตมีการงานที่ดี การดำเนินชีวิตแบบนี้อาจจะส่งผลร้ายแก่บุตรหลานในเรื่องพัฒนาการ ร่างกายและจิตใจ ทักษะชีวิต ที่ไม่สามารถทัดเทียมเด็กคนอื่นๆ รวมทั้งปัญหาสุขภาพ ที่ขาดกิจกรรมทางกายอย่างเหมาะสม ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคในกลุ่ม NCDs เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่


ความกังวลต่อสถานการณ์ของเด็กไทยที่มีแนวโน้มจะเป็นเด็กเนิร์ดกันมากขึ้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงออกแคมเปญสำคัญและชวนให้มา “ออกมาเล่น” (Active Play) วันละ 60 นาที เพื่อลดปัญหาข้างต้น


“ออกมาเล่น” (Active Play) คือกิจกรรมการเล่นใดๆ ที่ สสส.ต้องการให้เด็กเป็นผู้ร่วมเล่นด้วยตนเอง ทำให้ได้รับความสนุกสนาน เป็นการเล่นที่ไม่มีการกำหนดรูปแบบกติกาที่เป็นทางการ (Unorganized/Unstructured) และอยู่นอกเหนือชั่วโมงพลศึกษา ทั้งยังหมายถึงการละเล่นพื้นบ้านได้ด้วย อาจฟังดูเป็นนิยามใหม่ ทว่าที่จริงเป็นพฤติกรรมโดยธรรมชาติของเด็กอยู่แล้วที่ชอบเล่น


ออกมาเล่น เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางกาย (Physical Activities หรือ PA) อันหมายถึง เคลื่อนไหวโดยใช้กล้ามเนื้อโครงสร้าง และทำให้ใช้พลังงานของร่างกาย สามารถแบ่งได้ 3 ระดับ


ข้อ 1 ระดับเบา คือระดับที่มีการเคลื่อนไหวน้อยมาก เช่น การยืน การนั่ง ข้อ 2 ระดับปานกลาง คือเคลื่อนไหวออกแรงที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ มีความหนักและเหนื่อยในระดับเดียวกับ การเดินเร็ว ขี่จักรยาน การทำงานบ้าน มีชีพจรเต้น 120-150 ครั้ง ระหว่างที่เล่นยังสามารถพูดเป็นประโยคได้ และมีเหงื่อซึมๆ ข้อ 3 ระดับหนัก คือเคลื่อนไหวร่างกายที่ทำซ้ำและต่อเนื่อง โดยใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น วิ่ง เดินขึ้นบันได ออกกำลัง มีระดับชีพจร 150 ครั้งขึ้นไป แคมเปญ จนทำให้หอบเหนื่อย และพูดเป็นประโยคไม่ได้


ทั้งนี้ จากข้อมูลประชุมวิชาการกิจกรรมทางกายระดับชาติ ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ "Active Living for all" หรือกิจกรรมทางกายเพื่อทุกคน โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์วิจัยกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์


มีผลการวิจัยจากต่างประเทศยืนยันว่า หากเด็กอยู่นิ่งๆ เกิน 2 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นการนั่งดูทีวี เรียนหนังสือ หรือทำงาน เป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้เกิดโรคต่างๆ


โดยองค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ในแต่ละวันเด็กควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง-หนัก อย่างน้อยที่สุด 60 นาที หรือมากกว่านั้น อย่างน้อย 5 วัน/สัปดาห์ หรือสะสมปริมาณรวมของพลังงานที่ใช้อย่างน้อย 200 kcal/วัน (เทียบกับการเดิน 3.2 กม./วัน หรือเดิน 60 นาที) เพื่อสะสมให้ครบ 60 นาที/วัน สามารถแบ่งช่วงเป็น 10-20-30 เช่น มีกิจกรรมตอนเช้า 10 นาที, กิจกรรมระหว่างวันหรือพักเที่ยง 20 นาที, และกิจกรรมตอนเย็นอีก 30 นาทีก็ได้


โดยสูตรแบ่งเวลาเล่นแบ่งออกเป็น 10-20-30 คือ 10 นาที ก่อนเข้าเรียน เช่น เดินหรือปั่นจักรยานไปโรงเรียน ออกกำลังกายประกอบเพลง วิ่งไล่จับก่อนเข้าชั้นเรียน ต่อด้วย 20 นาทีระหว่างวัน เช่น วิ่งเล่น เตะฟุตบอล ปีนป่าย กระโดดหนังยาง เล่นเกมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย และ 30 นาทีสุดท้าย หลังเลิกเรียน เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักยาน เต้น วิ่งจ๊อกกิ้ง เต้นแอโรบิก วอลเลย์บอล


สำหรับประโยชน์ที่ได้รับแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ประการแรก ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) หรือเรียกว่า พัฒนาการทางสติปัญญา เกิดจากการทำงานของสมองในขณะที่เด็กเล่น โดยทำหน้าที่สั่งการให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายเคลื่อนไหวอย่างประสานสัมพันธ์กัน การที่สมองของเด็กได้รับการกระตุ้นให้ทำงานบ่อยๆ ผ่านการเล่น จะทำให้สมองสั่งแคมเปญ การอย่างฉับไว ส่งผลต่อการพัฒนาสติปัญญาเด็กในการเรียนรู้สาระวิชาการด้านอื่นๆ อีกด้วย


ประการที่ 2 ด้านจิตพิสัย (Affective Domain) คือเรียนรู้เพื่อพัฒนาการทางเจตคติ คุณธรรม จริยธรรม ประสบการณ์ที่มีคุณค่าด้านเจตคติของเด็กที่มีต่อตนเองและผู้อื่น เด็กจะยอมรับกฎระเบียบและถือปฏิบัติตาม พร้อมเห็นคุณค่าของการเคารพกติกาในการเล่น เกิดทักษะสังคม และเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่นผ่านการเล่น


และประการที่ 3 ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) คือเรียนรู้พัฒนาทักษะทางกาย โดยเด็กจะสามารถเลียนแบบท่าทางจากการเล่น รู้จักพัฒนาการควบคุมบังคับการเคลื่อนไหว และเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย หรือสรุปง่ายๆ ว่า Active Play เป็นกิจกรรมที่มีศักยภาพเพื่อการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กทั้งมิติกาย สมอง และสังคม


ในทางกลับกัน หากเด็กที่ไม่ออกมาเล่นก็เสี่ยงปัญหาสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง มีโอกาสเป็นโรคหัวใจสูงกว่า และมีโอกาสเป็นผู้ใหญ่ที่มีภาวะเฉื่อยชา เนือยนิ่งสูงต่อไป รวมทั้งพัฒนาการจะล่าช้ากว่า


ทั้งนี้ ผลการศึกษา 287 ชิ้น ในกลุ่มเด็กแคนาดา ชั้นประถมศึกษา 4-5 ในโรงเรียนต่างๆ กว่า 10 แห่ง พบว่าโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ Action School in British Columbia ที่จัดกิจกรรมให้เด็กได้เคลื่อนไหวและขยับตัวอย่างเพียงพอ มีสัดส่วนของเด็กที่ทำคะแนนสอบมาตรฐานสูงกว่าโรงเรียนที่เด็กไม่ได้เข้าโครงการแคมเปญ


ส่วนแนวทางที่จะสนับสนุนให้เด็กออกมาเล่น ผู้ปกครองต้องลดปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรค เช่น ลดเวลาติดจอสำหรับเด็ก กล่าวคือ เวลารับประทานอาหารเป็นเวลาครอบครัว ควรปิดโทรทัศน์ ไม่ควรมีโทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์ในห้องนอนของเด็ก ตั้งข้อจำกัดและกฎในการดูโทรทัศน์ ฟังเพลง หรืออ่านนิทานแทนการดูโทรทัศน์ เพื่อลดการเสพติดอุปกรณ์หน้าจออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่สำคัญผู้ปกครองต้องสนับสนุนให้เด็กออกมาเล่นด้วย


นายเกษม นครเขตต์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวสรุปว่า ในปี 2564 สสส.ร่วมกับหน่วยงานภาคีต่างๆ ตั้งเป้าจะเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายประจำของคนไทยอายุ 11 ขวบขึ้นไป ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และลดความชุกของภาวะน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วนในเด็กให้น้อยกว่าร้อยละ 10 ในปี 2562 โดยมุ่งส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายตลอดช่วงวัย การสร้างพื้นที่สุขภาวะ หรือปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย ควบคู่ไปกับการสื่อสารรณรงค์เพื่อให้การมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันเป็นพฤติกรรมที่ปฏิบัติได้ง่าย  เพิ่มการเล่นของเด็กแค่วันละ 60 นาที ก็เท่ากับเสริมสุขภาวะรอบด้านให้แก่ลูกหลานที่เรารักได้แล้ว.


จัดพื้นที่เล่นให้เด็ก


พื้นที่เล่นไม่ได้มีแค่สนามเด็กเล่น ผู้ปกครองสามารถจัดสรรพื้นที่ในบ้าน หรือประยุกต์พื้นที่ในชุมชนให้เป็นพื้นที่เล่นของเด็กได้ หัวใจสำคัญคือต้องคำนึงความแตกต่างทางเพศ บุคลิกภาพ ความสามารถทางกาย และความต้องการพิเศษของเด็ก


1.ในบ้าน ไม่ว่าบ้านขนาดจะเล็กหรือใหญ่ ถ้าจัดสรรพื้นที่ดีๆ ก็สามารถเพิ่มมุมให้เด็กกระโดดเชือกหรือตีลังกาได้


2.ชุมชน ลองหารือในชุมชนเพื่อจัดสรรพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกัน 1 วันในรอบสัปดาห์ เช่น กิจกรรมปิดถนนเส้นเล็กในชุมชน ให้เด็กได้วิ่งไล่จับ หรือเล่นการละเล่นไทยอื่นๆ เช่น มอญซ่อนผ้า ม้าก้านกล้วย


3.พื้นที่ว่างในชุมชน สามารถจัดการพื้นที่ให้สะอาดและปลอดภัย เพื่อกระตุ้นให้เด็กออกมาเล่นกิจกรรมที่หลากหลายในเวลาว่างได้


4.ธรรมชาติรอบตัว ในชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ ผู้ปกครองควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการเล่นกับธรรมชาติรอบตัว การห้อยโหนหรือปีนป่ายจะช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะทั้งกาย สังคม และสมอง.


 


 


ที่มา: เว็บไซต์บ้านเมือง 

Shares:
QR Code :
QR Code