แข่งเรือปลอดเหล้า …งานบุญกระแสแรง
“จากเดิมเคยจัดงานต้องใช้เงิน 7 หมื่นก็เหลือแค่ 3 หมื่น แถมยังไม่มีวัยรุ่นทะเลาะ ตีกัน ก็เพราะการประกาศปลอดเหล้า” คำบอกเล่าจากชาวบ้านใน อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เป็นคำตอบส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชน ชุมชน เห็นความสำคัญของงานบุญปลอดเหล้าร่วมกัน
งานบุญประเพณีปลอดเหล้าเป็นแนวคิดหนึ่งของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ปัจจุบันมีภาคี เครือข่าย เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก จากจุดเริ่มต้นการ “งดเหล้าเข้าพรรษา” ที่เป็นเทียนเล่มแรก และเกิดการขยายต่อไปยังงานบุญอื่น ๆ ทั้งงานมงคล อวมงคล และงานประเพณีต่าง ๆ ของไทย ที่ล้วนแต่มีความเชื่อเรื่องศาสนามาเกี่ยวโยงทั้งสิ้น ทำให้ได้เห็นงานศพ งานบวช งานบั้งไฟ ลอยกระทง สงกรานต์ แข่งเรือ ฯลฯ ปลอดเหล้า ซึ่งล้วนเกิดจากการเห็นความสำคัญและจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดการปลอดเหล้าร่วมกัน
ปัจจุบันมีหลายจังหวัดที่ประกาศตัวเองว่า จะเป็นจังหวัดงานประเพณีปลอดเหล้า ซึ่งเป็นเพราะประชาสังคมเห็นชอบร่วมกัน และผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นความสำคัญของพื้นที่ปลอดเหล้า ซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายประชากร ลดอุบัติเหตุ ลดเหตุทะเลาะวิวาท และลดค่ารักษาพยาบาลจากเหตุการณ์ที่เหล้าเป็นต้นเหตุลง จึงเกิดการขับเคลื่อนให้งานปลอดเหล้าขยายความสำคัญไปในทุกงานประเพณี
ในช่วงเทศกาลออกพรรษา จะมีงานประเพณีที่สำคัญของชุมชนริมแม่น้ำสายต่าง ๆ งานประเพณีแข่งเรือยาวประเพณีปลอดเหล้าเบียร์ อ.ราษีไศล ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ณ ลำน้ำมูล เต็มไปด้วยทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ แต่ละหมู่บ้านมาเชียร์การแข่งเรืออย่างสนุกสนานโดยไม่แตะต้องน้ำเมา มีกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนทำ เช่น การพากย์เรือ กองเชียร์เรือ การวาดภาพ เขียนเรียงความ การแสดงพื้นบ้าน การอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้าน เช่น เรือหาปลาแบบต่าง ๆ ด้วย
ผลสำรวจความเห็นผู้มาร่วมงาน พบว่า ประชาชน ร้อยละ 98.40 เห็นด้วยกับการจัดงานแข่งเรือปลอดเหล้า ร้อยละ 98.94 เห็นด้วยหากจะขยายผลการรณรงค์ปลอดเหล้าเบียร์ ไปยังงานประเพณีอื่น ๆ ในจ.ศรีสะเกษ และร้อยละ 97.89 เห็นด้วยที่เจ้าภาพจัดงานต่าง ๆ จะไม่รับสปอนเซอร์จากเหล้า เบียร์ เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนลูกหลานของตนเอง และร้อยละ 98.94 เห็นด้วยกับการจัดงานครั้งต่อไปที่จะปลอดจากเหล้าเบียร์
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การทำงานเพื่อประกาศเป็นพื้นที่ปลอดเหล้า ไม่สามารถใช้เงินไปสู้กับเงินได้ การเปลี่ยนแปลงแนวความคิดของคนในชุมชน เริ่มจากการที่คนในชุมชนเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกหลานตัวเอง และไม่สามารถเพิกเฉยได้ ซึ่งจากการจัดงานประเพณี หรืองานบุญที่มีเหล้าเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็มักพบกับปัญหาความรุนแรง อุบัติเหตุ ซึ่งทำให้ผิดวัตถุประสงค์ของประเพณี และยังเกิดความสูญเสียขึ้น
“เมื่อคนในชุมชนเห็นปัญหา ก็จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในที่สุด งานบุญประเพณีปลอดเหล้า ได้แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในชุมชนโดยเฉพาะความรุนแรง อุบัติเหตุ และเงินซื้อเหล้าที่ลดลง เช่น งานแข่งเรือปลอดเหล้านั้น สสส.เข้าไปสนับสนุนกิจกรรมโดยใช้งบประมาณน้อยกว่าบริษัทเหล้าถึง 3 เท่า แต่ก็พบว่า ชุมชนเลือกที่จะไม่รับเงินจากธุรกิจน้ำเมาเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดเหล้า ซึ่งปลอดภัยกับคนในชุมชนและลูกหลานแทน” ทพ.กฤษดา กล่าว
ปัจจุบันสนามแข่งเรือที่จะจัดช่วงออกพรรษามีประมาณ 200 สนาม และมีสนามแข่งเรือปลอดเหล้าแล้วถึง 50 แห่ง ซึ่งถือเป็นตัวอย่างของการขยายพื้นที่ปลอดเหล้าจากแค่ในงานบุญมาสู่งานประเพณีที่จำเป็นต้องสนับสนุนและขยายไปอย่างต่อเนื่อง
สิ่งหนึ่งที่พบและถือว่ามีนัยสำคัญ คือ รายจ่ายของครัวเรือน เพื่อซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา …เมื่อขยายพื้นที่ดีคนในสังคมก็จะมีความสุขมากขึ้นได้จริง.
ที่มา : สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สคล.