แก๊งค์ปากดีวอนนายก ปกป้องเด็กไทยจากบุหรี่และเหล้า

แก๊งค์ปากดีวอนนายก ปกป้องเด็กไทยจากบุหรี่และเหล้า

เยาวชนแก๊งค์ปากดี ขอวอนผู้นำรัฐบาลไทย ปฏิบัติตามมาตรา 5.3 แห่งอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบ (fctc)  ไม่เจรจาใดๆ กับตัวแทนบริษัทบุหรี่-เหล้า เพื่อปกป้องนโยบายการควบคุมสุรา-ยาสูบจากการแทรกแซงของผู้ประกอบการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมเหล่านี้

นางสาวจิราภรณ์ กมลรังสรรค์ นางสาวจิราภรณ์ กมลรังสรรค์ ตัวแทนเยาวชนกลุ่ม “แก๊งค์ปากดี” เครือข่ายเยาวชนเฝ้าระวังและรู้ให้ทันธุรกิจบุหรี่และเหล้า แสดงความคิดเห็นตามที่เป็นข่าวในสื่อมวลชนว่า สภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน ซึ่งมีตัวแทนบริษัทบุหรี่และเหล้ายักษ์ใหญ่ ทำหนังสือขอเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ เพื่อขอเจรจาในเรื่องภาษีบุหรี่-เหล้า

ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกำลังเรียกร้องให้รัฐบาลขึ้นภาษีเหล้าบุหรี่ เพื่อให้เยาวชนไทยลดการดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ในนามตัวแทนเยาวชนแก๊งค์ปากดี ขอวอนผู้นำรัฐบาลไทย ปฏิบัติตามมาตรา 5.3 แห่งอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบ (fctc) ที่ประเทศไทยได้ลงนามเป็นสมาชิก โดยอนุสัญญาฯ ระบุว่า “ภาคีอนุสัญญาจำต้องตื่นตัวเกี่ยวกับความพยายามใดๆ ของอุตสาหกรรมยาสูบที่จะสกัดกั้นนโยบายและมาตรการในการควบคุมยาสูบของรัฐ และมีหน้าที่ป้องกันนโยบายดังกล่าว จากอิทธิพลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมยาสูบ”

ในฐานะที่นายกรัฐมนตรี เป็นประธานบริหารรัฐบาลไทย จึงขอให้ท่านไม่เจรจาใดๆ กับตัวแทนบริษัทบุหรี่-เหล้า  ซึ่งพวกเราเชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยห่วงใยเยาวชน และมีความปรารถนาที่จะเห็นเยาวชนไทยปลอดพ้นจากปัญหาบุหรี่-เหล้า และแสดงจุดยืนต่อการปกป้องเยาวชนด้วยการไม่เจรจากับตัวแทนบริษัทบุหรี่-เหล้า เพื่อปกป้องนโยบายการควบคุมสุรา-ยาสูบจากการแทรกแซงของผู้ประกอบการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมเหล่านี้

ประกิต วาทีสาธกกิจ ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ขอสนับสนุนข้อเรียกร้องของเยาวชน และกล่าวว่า กรณีการขึ้นภาษียาสูบนั้น บิล เกตต์ ก็ได้เสนอให้รัฐบาลต่างๆ ขึ้นภาษียาสูบ เพื่อนำภาษีมาพัฒนาประเทศ และลดจำนวนคนสูบบุหรี่  ในการประชุมซัมมิท ผู้นำประเทศจี 20 ครั้งที่ 6 ที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส โดยเห็นว่า ภาษียาสูบได้ประโยชน์ทั้งทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้คนสูบน้อยลง หรือเลิกสูบ และป้องกันคนที่จะติดใหม่

ยกตัวอย่างประเทศไทยที่ใช้นโยบายขึ้นภาษีระหว่าง พ.ศ. 2537 ถึง พ.ศ. 2550 ทำให้เก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิมสองเท่า แม้ว่าผู้สูบบุหรี่จะลดลงศ.นพ.ประกิต สนับสนุนให้รัฐบาลไทยกำหนดนโยบายภาษียาสูบโดยให้ความสำคัญกับผลกระทบด้านสุขภาพเป็นด้านหลัก โดยไม่ต้องสนใจกับผลกระทบต่อกำไรของบริษัทบุหรี่ 

Shares:
QR Code :
QR Code