แก้ ‘สามสูง’ สร้างสังคมเป็นธรรม
บ่ายของการประชุมกลุ่มย่อยหัวข้อ ‘ฟังเสียงคนที่ไม่ค่อยได้ยิน’ และ ‘ทำอย่างไรเพื่อให้สังคมเป็นธรรม’
เริ่มด้วยการฉายวิดีทัศน์นำเสนอประเด็นปัญหาของกลุ่มชายขอบ 7 หัวข้อ ก่อนจะเป็นเวทีสะท้อนปัญหาของกลุ่มคนชายขอบ โดยนางอรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายบำนาญ นำเสนอปัญหาของผู้สูงอายุ โดยชี้ให้เห็นว่า ผู้สูงอายุไทยจำนวนมากไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบบำนาญ และเสนอให้นำ ‘พ.ร.บ.การออมแห่งชาติ’ ซึ่งผ่านสภามาแล้วมาบังคับใช้
ส่วนนายสุทิน เอี่ยมอิน จากศูนย์พักคนไร้บ้านบางกอกน้อย กล่าวว่า คนไร้บ้านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและมีผู้สูงอายุจำนวนมากตัดสินใจออกจากบ้านเพราะไม่อยากเป็นภาระลูกหลาน ขณะนี้กลุ่มคนไร้บ้านได้ตั้งศูนย์เพื่อดูแล และเรียกร้องให้รัฐบาลไม่ควรแก้ปัญหาแบบสังคมสงเคราะห์แต่เปลี่ยนมาเป็นการสนับสนุนการทำงานเครือข่าย
ด้านนางวันเพ็ญ จำปาจีน ศูนย์แรงงานนอกระบบ จ.ราชบุรี กล่าวถึงแรงงานนอกระบบที่มักไม่ได้รับข้อมูลว่า งานที่ทำอยู่มีอันตรายหรือมีความเสี่ยงอย่างไร จึงเสนอให้ อปท. และสาธารณสุขประจำตำบลควรเน้นให้ความรู้กับอาชีพที่มีความเสี่ยง
ส่วนนางปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ กลุ่มสตรีมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สูญเสียสมาชิกครอบครัวในช่วงเหตุไม่สงบในพื้นที่ กล่าวว่า ขณะนี้ได้รวมกลุ่มสตรีซึ่งสูญเสียสมาชิกครอบครัวได้กว่า 871 ราย เพื่อเป็นอาสาสมัครชุมชนช่วยเหลือดูแลกันเวลาเกิดปัญหา ทั้งนี้ชาวมลายูอยากเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหา และหวังว่าพื้นที่นี้จะเป็นพื้นที่ของคนไทยทุกๆ คน
นายธีระยุทธ สุคนธวิท จากศูนย์ดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ จ.นนทบุรี เรียกร้องให้มีการปรับปรุงสาธารณูปโภค รวมถึงระบบขนส่งเพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึง รวมทั้งการศึกษา สาธารณสุข และอยากให้ทุกคนเปิดใจเห็นคนพิการเป็นเพื่อนมนุษย์ เป็นสมาชิกหนึ่งของชุมชน
ด้านนางลาเคละ จะทอ ชาวลาหู่ นายกเทศมนตรีหญิงจาก อ.เชียงดาว กล่าวว่า ที่ผ่านมามีกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและตกสำรวจ ทำให้ไม่ได้รับสัญชาติ ซึ่งการไม่มีสัญชาตินั้นทำให้เสียโอกาส และบางทียังถูกมองจากสังคมว่าเป็นคนอื่น จึงอยากขอร้องให้มองกลุ่มชาติพันธุ์เป็นมนุษย์ และเป็นเพื่อนร่วมโลกเหมือนกัน
ส่วนตัวแทนคนขับรถแท็กซี่ นางสำอางค์ ขันธนิธิ เรียกร้องความเท่าเทียมของคนทุกอาชีพ ไม่อยากให้มีการเปรียบเทียบว่า อาชีพนี้ด้อยกว่าอาชีพนี้ โดยที่ผ่านมาได้รวมตัวกันตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนขับแท็กซี่เพื่อสร้างประโยชน์ให้สังคม
หลังการนำเสนอปัญหา ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อภิปรายว่า ปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญ คือภาวะการสูญเสียตัวตนโดยผู้ที่นำเสนอปัญหาทั้ง 7 ด้านล้วนมีสภาพไม่ต่างจาก มนุษย์ล่องหนเพราะถูกลืม ยิ่งในภาวะที่มีการครอบงำข้อมูลข่าวสารสูง ยิ่งซ้ำเติมสิ่งที่เป็นอคติ ทำให้ปัญหาหนักข้อขึ้น
โดยลักษณะปรากฏการณ์นี้เกิดมาจากสิ่งที่เรียกว่า ‘สามสูง’ ได้แก่ หนึ่ง ‘สูญเสียตัวตนสูง’ ‘ความเสี่ยงสูง’ และสูงที่สามคือ ‘ค่าเช่าสูง” หรือ ‘ขูดรีดสูง’ ทั้งนี้ในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน ระบบทุนนิยมเป็นผู้เอาผลประโยชน์ส่วนเกินออกไปจากระบบ และเอาออกไปมากกว่าส่วนที่คืนกลับมา โดยกลไกเศรษฐกิจที่พิกลพิการเช่นนี้ เกิดมาจากความเชื่อเรื่องเสรีนิยมใหม่ที่เชื่อว่า กลไกตลาดดี 100% แต่จริงๆ แล้ววิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 หรือวิกฤตในสหรัฐอเมริกาก็เป็นตัวอย่างที่ฟ้องว่ากลไกตลาดก็ล้มเหลวได้
ทั้งนี้ ศ.ดร.อานันท์ เสนอว่าหากจะแก้ภาวะ “สามสูง” นี้ จะให้คนชายขอบแต่ละกลุ่มปัญหารวมตัวช่วยเหลือกันคงไม่พอ เพราะชีวิตเขาตอนนี้ก็ลำบากอยู่แล้ว และสมัยนี้ปัญหาใหญ่ระดับโลกาภิวัฒน์จะพึ่ง “บ้าน วัด โรงเรียน” คงไปไม่รอด การแก้ไขปัญหาระดับรากโคน สังคมต้องสร้างกลไกแบบใหม่ขึ้นมา ต้องเปลี่ยนกลไกภาษี และต้องพูดถึงภาษีอีกหลายชนิด
ที่มา : จดหมายข่าว “มหามวลมิตร” เวทีครบรอบ สสส. 12 ปี ฉบับที่ 1