แก้ ‘กฎหมาย-นโยบายรัฐ’รองรับจ้างงาน ‘สูงอายุ’
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
แฟ้มภาพ
ในสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ และโครงสร้างทางสังคมจะมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก คือการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุทั้งเรื่องสุขภาพ รายได้ รวมไปถึงปัญหาที่อาจจะเกิดจากการขาดแคลนแรงงานในระดับประสบการณ์ แนวคิดในการจ้างงานผู้สูงอายุจึงเกิดขึ้นมาเป็นหนึ่งในหลายๆ โครงการที่จะรองรับและแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะเกิดขึ้น
พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) เปิดเผยผลสรุปโครงการนำร่องเครือข่ายพัฒนารูปแบบ การขยายอายุการจ้างแรงงานผู้สูงวัยในสถานประกอบการ ที่มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ร่วมมือกับภาคธุรกิจ 13 บริษัท และสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โดยในบทสรุป มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า การที่ภาคธุรกิจจะจ้างแรงงานใหม่ มีต้นทุนที่นายจ้างจะต้องจ่าย ทั้งเงินเดือน สวัสดิการ และโบนัส น้อยกว่าการจ้างงานผู้สูงอายุมาก แต่หากคำนวณในแง่การลดต้นทุนการฝึกอบรมหรือ ประสิทธิภาพการผลิตในบางอุตสาหกรรมแล้ว หากคุ้มค่ากว่าบริษัทก็จะตัดสินใจเลือกจ้างงานผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจอีกว่า การตัดสินใจของบริษัทที่จะจ้างงานผู้สูงอายุนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ 1. นโยบายบริษัท 2. การจัดการองค์ความรู้ที่หากหาพนักงานใหม่มาแทนไม่ทันอาจแก้ปัญหาด้วยการจ้างผู้สูงอายุทำงานต่อ 3. ภาวะตลาดแรงงานบางประเภทที่หากขาดแคลนแรงงานก็อาจใช้ทางเลือกจ้างแรงงานผู้สูงอายุ และ 4. นโยบายภาครัฐ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก เพราะจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายรวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ในแง่กฎหมาย การจ้างงานผู้สูงอายุภายหลังเกษียณ ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 พบว่า นายจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชย ภายหลังสัญญาจ้างหมดลงด้วย อันอาจ เกิดความไม่เป็นธรรมแก่นายจ้างที่จะต้องเสียค่าชดเชยจ้างแรงงานผู้นั้น ถึงสองครั้ง ทำให้การจ้างแรงงาน หลังเกษียณอาจไม่ดึงดูดใจนายจ้าง อีกต่อไป ตรงกันข้ามกับการเลี่ยงกฎหมายของนายจ้างที่อาจใช้การทำสัญญาจ้าง ราย 11 เดือนขึ้นมาแทนเพื่อหลีกเลี่ยง การจ่ายค่าชดเชยที่จะไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้าง ประเด็นนี้จึงจำเป็นต้องหาวิธี แก้ไขให้เหมาะสมต่อไป
พญ.ลัดดา กล่าวอีกว่าในส่วนของมาตรการจูงใจที่กระทรวงแรงงานออกมาตรการให้สถานประกอบการที่จ้าง ผู้สูงอายุ ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป สามารถนาเอาค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า โดยที่จำนวนการจ้างงานนั้นจะต้องไม่เกิน 10% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด สมมติว่าพนักงานทั้งบริษัทมี 200 คน จะจ้างผู้สูงวัยที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปได้ไม่เกิน 20 คน
นอกจากนี้ยังกำหนดค่าจ้างที่จ้าง ผู้สูงอายุรวมกัน จะต้องไม่เกิน 10% ของรายจ่ายค่าจ้างในบริษัทนั้นๆ ซึ่งพบว่ามาตรการนี้ไม่จูงใจผู้ประกอบการในการ จ้างแรงงานสูงอายุมากเท่าไหร่นัก
ทั้งนี้ การจ้างแรงงานสูงวัย จะช่วยแก้ปัญหาวัยแรงงานที่หายไปจากระบบและที่สำคัญยังช่วยลดภาวะการพึ่งพิงได้เป็นอย่างดีเป็นปัจจัยสำคัญในการ ขัดขวางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้ เพื่อรองรับประเทศไทย จะเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 สอดรับกับสัดส่วน "วัยแรงงาน" กับ "วัยสูงอายุ" ที่กำลังลดลงจากเดิม วัยแรงงาน 4.3 คน ต่อ ผู้สูงอายุ 1 คน จะปรับลดลงกว่าครึ่งเหลือ วัยสูงอายุ 2 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ในอีก 20 ปี ข้างหน้า พญ.ลัดดา ระบุ