แก้พฤติกรรมขับขี่ ลดการดื่มแล้วขับ

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


แก้พฤติกรรมการขับขี่ ลดการดื่มแล้วขับ  thaihealth


แฟ้มภาพ


ความสูญเสียในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่ผ่านมากลายเป็นประเด็นสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต้องกลับมาทบทวนการทำงานในเรื่องของการป้องกันและแก้ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุที่ดูแล้วมาจากหลายสาเหตุและแต่ละประเด็นนั้นก็ค่อนข้างที่จะแก้ได้ยาก …ทุกอย่างต้องเริ่มต้นที่วินัยของผู้ขับขี่รถยนต์ รถ จยย. เป็นหลัก


พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องดังกล่าวมีแนวคิดหลังจากที่แถลงผลสรุปสถานการณ์ช่วง 7 วันอันตรายไว้น่าสนใจว่า กระทรวงมหาดไทยเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่รถยนต์ และ รถจักรยานยนต์โดยมีการหารือกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อหามาตรการในการแก้ปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยเฉพาะการพิจารณาแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับเมาแล้วขับ ให้ลดปริมาณแอลกอฮอล์ลงจาก 50 เป็น 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และปรับแก้คำสั่ง คสช.เรื่องยึดรถให้เป็นกฎหมายถาวร


พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า คณะอำนวยการความปลอดภัยทางถนน มหาดไทยกำหนดว่าจะสรุปยอดการสูญเสียจากพื้นที่ทั้งหมดให้ได้ประมาณต้นเดือน พ.ค. แล้วคณะกรรมการทั้งหมดจะวิเคราะห์ว่าที่ผ่านมามาตรการใดที่ทำแล้วได้ผลป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตและจะต้องมีการแก้ไขอะไรบ้างไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขทางกฎหมายหรือมีการแก้ไขมาตรการต่าง ๆ เมื่อเสร็จสิ้นแล้วก็จะนำเสนอ ครม.


"บางคนคิดว่าโทษที่หนักยังไม่ทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมได้ อาจจะต้องแก้กฎหมายลูก เช่นกฎกระทรวงต่าง ๆ ก็ตั้งใจว่าทุกอย่างจะดำเนินการเสร็จสิ้นก่อนที่จะเข้าสู่เทศกาลปีใหม่ ซึ่งในช่วงเดือน พ.ค.จะนำเสนอ ครม. ส่วนอีก5 เดือนก็แก้แก้พฤติกรรมการขับขี่ ลดการดื่มแล้วขับ  thaihealthกฎหมายที่เกี่ยวข้อง"


นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่ากรณีจะมีการแก้ไขกฎหมายเมาแล้วขับ เรื่องระดับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด จากเดิม 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เหลือไม่เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้ถือว่าเมาสุรานั้น และการเพิ่มโทษนั้นในสากลจะเน้นกลุ่มที่เพิ่งทำใบขับขี่ หรือถือใบขับขี่ชั่วคราว ที่เรียกว่านักขับหน้าใหม่ ซึ่งบางประเทศกำหนดไว้ที่ 0 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ โดยหากยังกำหนดอยู่ที่ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ก็ยังมีประโยชน์อยู่แค่ทำให้ครอบคลุมมากขึ้นซึ่งก็เห็นด้วยหากมีการแก้ไขจริง ๆ


หากจะมีการแก้ไขกฎหมายเมาแล้วขับนอกจากเรื่องระดับปริมาณแอลกอฮอล์แล้วมีสิ่งสำคัญอีก 2 เรื่อง คือ มาตรการยึดรถจะทำอย่างไรให้กลายเป็นกฎหมายปกติ ซึ่งปัจจุบัน มาตรการนี้เป็นไปตามคำสั่งมาตรา 44 ซึ่งมีการเขียนไม่ชัดเจนให้เจ้าหน้าที่ทหารไปออกหน้าอีกทั้งควรต้องเขียนให้ครอบคลุมโดยให้ผู้กระทำผิดรับภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษารถและหาหน่วยงานเอกชนมาดูแลรถของตน เพราะมักมีปัญหาบ่อยๆว่า เมื่อทำการยึดรถมาแล้วไม่มีที่จอดรถ หรือหากรถมีรอยขีดข่วนก็ไม่มีผู้รับผิดชอบ


อีกส่วนคือเมาแล้วขับถูกมองว่าประมาทซึ่งในต่างประเทศมองว่าเป็นการขับที่อันตรายหรือมีเจตนา เรื่องนี้จึงต้องถูกหยิบยกมาและอาจจะดีกว่าพูดถึงเรื่องลดระดับปริมาณแอลกอฮอล์ด้วยซ้ำ เช่น ประเทศญี่ปุ่นก่อนหน้านี้กฎหมายเมาแล้วขับก็คือประมาท แต่ภายหลังก็ได้แก้ไขให้เป็นการขับรถอันตราย บทลงโทษที่เปลี่ยนไปทำให้ผู้กระทำความผิดลดลง 3ใน 4 จากจำนวน 1,000 คน เหลือเพียง 200 คนเท่านั้น


อย่างไรก็ตามการจะบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพต้องมีอุปกรณ์ที่เพียงพอ ต้องมีระบบข้อมูลความผิดซ้ำเพื่อเพิ่มบทลงโทษให้เพิ่มขึ้นตามจำนวนที่ทำผิด เพราะตำรวจไม่มีระบบตรวจสอบข้อมูลความผิดที่รวดเร็วพอซึ่งคดีเมาแล้วขับหากผู้ต้องหารับสารภาพก็จะนำคดีส่งศาลแขวง การตรวจสอบความผิดในอดีตก็ทำได้ล่าช้า เจ้าหน้าที่จึงต้องมีระบบที่สามารถตรวจสอบได้ทันทีด้วย


นายนิวัติ แก้วล้วน เลขาธิการสภาทนายความ กล่าวว่า การเพิ่มโทษจำคุก  และเพิ่มจำนวนปริมาณแอลกอฮอล์ให้ต่ำกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้กับผู้ที่เมาแล้วขับนั้น โดยส่วนตัวเห็นว่า ปัจจุบันที่กฎหมายบัญญัติไว้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติว่า จะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังมากน้อยเพียงใด


ช่วงเทศกาลสงกรานต์มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากอุบัติเหตุทั้งจากรถจยย.รถกระบะ กลับภูมิลำเนาจากคนขับที่ขับรถโดยประมาท ขาดวินัยจราจรหรือขับรถขณะมึนเมาสุรา ก็ทำให้ปริมาณอุบัติเหตุสูงขึ้น  ดังนั้นการตรวจจับดำเนินคดีผู้กระทำผิดต้องมีความเข้มแข็งจริงจังทุกพื้นที่ …อย่างไรก็ตาม หากมีการเพิ่มโทษ และเพิ่มจำนวนปริมาณแอลกอฮอล์กับผู้ที่เมาแล้วขับจริงก็น่าเชื่อว่าจะทำให้เกิดความเกรงกลัวกฎหมายหลาบจำ ไม่อยากกระทำผิดอีก


ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษของพฤติกรรมเมาแล้วขับหรือแก้กฎหมายลดปริมาณแอลกอ ฮอล์ให้น้อยลงกว่าเดิมจาก 50 มิลลิกรัม เปอร์เซ็นต์  เหลือเพียง 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับคนขับขี่รถที่ต้องมีจิตสำนึกต้องไม่ประมาทและกระทำการใด ๆ ที่เสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายทุกส่วนจะต้องยึดหลัก การเป็นที่ตั้งในการดำเนินคดีผู้กระทำผิด หากทำได้อย่างจริงจังเชื่อว่าตัวเลขของผู้ประสบอุบัติเหตุน่าจะลดลงไม่มากก็น้อยแน่นอน.

Shares:
QR Code :
QR Code