แก้ปัญหาความยากจนด้วยกองทุนซะกาต
สสส.เร่งศึกษาระบบเพิ่มประสิทธิภาพให้เหมาะกับสังคมไทย
ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนเป็นปัญหาสำคัญที่ทุก ๆ รัฐบาลให้ความสนใจ เพราะความทุกข์ของประชาชนนำมาซึ่งความไม่มั่นคงของประเทศชาติเป็นภาระแก่รัฐในการทุ่มเท งบประมาณ เพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหา โดยเฉพาะในหลาย ๆ พื้นที่ที่มีมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ยังคงปัญหาความยากจนอยู่มาก และมีอัตราการลดลงของปัญหาช้ากว่าส่วนอื่น ๆ ของประเทศ
คนไทยมุสลิมในประเทศมีประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 6 ล้านคน และมีปัญหาความยากจนมากกว่าคนไทยพื้นที่อื่น ๆ จากผลวิจัยพบว่าจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสติดอยู่ใน 10 อันดับจังหวัดที่ยากจนที่สุดของประเทศ ซึ่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นี้มีสัดส่วนชาวมุสลิมสูงถึง 85 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่รายได้ต่อหัวประชากรใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นับว่าต่ำมาก คิดเป็นเพียงประมาณ 40,000 บาทต่อปี เปรียบเทียบรายได้ต่อหัวเฉลี่ยของโดยรวมของทั้งประเทศซึ่งอยู่ที่ 81,000 บาท การเติบโตทางเศรษฐกิจก็ไม่ชัดเจนเหมือนจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้
ในสังคมมุสลิม ระบบซะกาตเป็นระบบการให้ความช่วยเหลือทางสังคมที่ถูกบัญญัติขึ้นตามหลักศาสนา เป็นการจ่ายจากความศรัทธาโดยไม่ต้องมีกฎหมายบังคับสำหรับผู้ที่มีทรัพย์ครบจำนวนตามเกณฑ์และครอบครองทรัพย์นั้นครบครบรอบปีจะต้องแบ่งปันส่วนหนึ่งของทรัพย์นั้นตามอัตราที่ศาสนากำหนด(แตกต่างกันตามประเภทของทรัพย์สิน) ให้แก่ผู้ที่มีสิทธิรับซะกาตทั้ง 8 ประเภท เช่น คนยากจน ขัดสน ผู้ที่ศึกษาแสวงหาความรู้และความโปรดปรานจากพระเจ้า ฯลฯ การจ่ายซะกาตเป็นหลักปฏิบัต 1 ใน 5 ประการที่ชาวมุสลิมจะต้องถือปฏิบัติอันได้แก่ การปฏิญาณตนว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจาก อัลลอฮ์ และมุฮัมมัดเป็นผู้ส่งสารของพระองค์ การละหมาดวันละ 5 เวลา การถือศีลอด การจ่ายซะกาต และการประกอบพิธีฮัจญ์
ในประเทศไทย การจัดตั้งกองทุนซะกาต เพื่อบริหารการจัดเก็บและการแจกจ่ายซะกาตมีจำนวนไม่มากนักในระดับชุมชน และยังขาดระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ การจ่ายซะกาตของผู้ศรัทธาส่วนใหญ่ จึงดำเนินการในลักษณะปัจเจกชน แจกจ่ายแก่คนที่มีสิทธิรับในวงแคบและเป็นไปอย่างจำกัด ดังนั้น ระบบซะกาต จึงยังไม่สามารถทำงานได้เต็มศักยภาพอย่างแท้จริง ความช่วยเหลือทางสังคมที่จะตกแก่คนยากจน ขัดสน ผู้ด้อยโอกาสจึงยังไม่เกิดประสิทธิผลอย่างที่ควรจะเป็น
แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย(สสม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จึงได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อทำการศึกษาวิจัยถึงแนวทางการจัดการบริหารระบบซะกาตที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสังคมวัฒนธรรมของคนไทยแนวทางนี้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ต้องการให้การช่วยเหลือกันระหว่างผู้คนในสังคมเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากและความยากจนของประชาชนสู่สังคมอุดมคุณธรรมและระบบพอเพียง
จึงได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาตนี้
กองทุนซะกาตถือเป็นระบบเครือข่ายช่วยเหลือทางสังคม คาดว่า หากระบบกองทุนสมบูรณ์ทั้งประเทศ จะมีเงินกองทุนหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งภายใต้กฎหมายฉบับนี้ รัฐจะจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาตทำหน้าที่ให้การส่งเสริมเพื่อก่อให้เกิดกองทุนซะกาตซึ่งถือเป็นนิติบุคคลในระดับจังหวัด ระดับชุมชน หรือสัลยิดอย่างแพร่หลายด้วยการสนับสนุนงบประมาณเบื้องต้นและจัดวางระบบการบริหารการจัดเก็บและแจกจ่ายซะกาตที่มีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศสนับสนุนด้านการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และตรวจสอบติดตามการดำเนินงานของแต่ละกองทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใสรวมทั้งเกิดผลกระทบในด้านการให้ความช่วยเหลือทางสังคมอย่างมีประสิทธิผล
กองทุนซะกาตจึงถือเป็นเครื่องมือทางสังคมอย่างหนึ่งที่จะก่อให้เกิดการช่วยเหลือกันระหว่างผู้คนในสังคมเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐและจะสามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ตรงกุ่มเป้าหมาย อย่างไรก็ตามแม้ซะกาตจะเป็นศาสนบัญญัติที่กำหนดไว้แต่เฉพาะผู้นับถือศาสนาอิสลามแต่กองทุนซะกาตก็จะสามารถรับเงินบริจาคในรูปแบบอื่นและให้การช่วยเหลือแก่สาธารณประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้โดยไม่จำกัดผู้รับความช่วยเหลือในด้านเชื้อชาติและศาสนา ยิ่งไปกว่านั้นหากการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาตเกิดขึ้นได้ในประเทศไทยและประสบความสำเร็จก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือทางสังคมที่เป็นชุมชนในรูปแบบอื่น ๆ ต่อไป
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
Update:23-07-51