แกงส้ม-แกงขี้เหล็ก ช่วยสุขภาพดีต้านภัยหนาว

/data/content/26363/cms/e_befijlntuv68.jpg


          สธ.แนะกินผักพื้นบ้านรสเปรี้ยว ปรุงเครื่องเทศเผ็ดร้อน ช่วยร่างกายอบอุ่นต้านอากาศหนาว ลดป่วยไข้หวัด แนะแกงส้ม แกงขี้เหล็ก เมนูเด็ดช่วยสุขภาพดี ระบุยึดหลักโภชนบัญญัติ 9 ประการ


          นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพที่มากับหน้าหนาวมักมีผลกระทบต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย คือ ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ และผิวหนัง ประชาชนควรรับประทานอาหารที่เพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย โดยเลือกอาหารที่ร้อน ปรุงสุกใหม่ มีรสเปรี้ยวหรือเปรี้ยวอมขมเล็กน้อย ที่เป็นผักพื้นบ้านตามฤดูกาลและหาได้ง่ายในช่วงหน้าหนาว เช่น กระเจี๊ยบ ดอกแค ขี้เหล็ก ยอดมะขาม เพราะมีวิตามินซีช่วยเสริมภูมิคุ้มกันต้านโรคหวัด และเน้นเมนูอาหารที่มีเครื่องเทศที่มีรสเผ็ดร้อน เพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือดในร่างกาย ทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้นได้ เช่น แกงเลียง แกงส้มดอกแค แกงป่า แกงขี้เหล็ก แกงเผ็ด แกงคั่ว เป็นต้น แต่หลีกเลี่ยงอาหารเปรี้ยวจัด มันจัด


          อย่างไรก็ตาม การรับประทานควรคำนึงถึงสุขภาพ สารอาหาร และปริมาณครบถ้วนเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายด้วย โดยเฉพาะกลุ่มคาร์โบไฮเดรต โปรตีนและไขมันจะให้พลังงานและกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งไขมันต้องรับประทานให้หลากหลาย เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก หมุนเวียนสลับกันไป


          หลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัวจากสัตว์ติดมัน หนังสัตว์ และเครื่องในสัตว์ หากจะรับประทานอาหารจำพวกอาหารทอดหรือกะทิ อาจทำได้โดยมีอาหารที่ใช้ไขมันในการประกอบอาหาร 1 รายการต่อมื้อ เช่น ไข่เจียวคู่กับแกงส้ม ปลาทอดคู่กับแกงเลียง และควรรับประทานอาหารร่วมกับผักสดอย่างน้อยมื้อละ 2 ทัพพี


          ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังวสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การรับประทานอาหารให้สุขภาพดี ทำได้ง่ายๆ โดยยึดตามหลักโภชนบัญญัติ 9 ประการ ได้แก่ 1.กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และควบคุมน้ำหนักตัว 2. กินข้าวเป็นอาหารหลัก สลับกับอาหารประเภทแป้งเป็นบางมื้อ 3. กินพืชผักให้มากและกินผลไม้เป็นประจำ 4. กินปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่และถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำ 5. ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย 6.กินอาหารที่มีแต่ไขมันพอควร 7. หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสหวานจัดและเค็มจัด 8. กินอาหารที่สะอาด ปราศจากการปนเปื้อน และ 9. งดหรือลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำเปล่าอุ่นๆ เป็นประจำวันละ 8-10 แก้ว เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง


          “อากาศที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลจะทำให้ผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรงเกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย ส่งผลต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ระบบการย่อยอาหาร ผิวหนังแห้งแตกและคัน ดังนั้น ประชาชนจึงควรเอาใจใส่ดูแลตนเองอย่างสม่ำเสมอเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงอย่างยั่งยืน รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ลดอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม และออกกำลังกายเป็นประจำสัปดาห์ละ 5 วัน วันละอย่างน้อย 30 นาที ผ่อนคลายความเครียดคิดบวกอยู่เสมอรวมทั้งทำจิตใจให้แจ่มใส เพื่อให้ร่างกายพร้อมรับกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทุกฤดูกาล” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว


 


 


          ที่มา : ASTV ผู้จัดการออนไลน์


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code