เเนะทำความสะอาดบ้าน เเละจุดที่สัมผัสบ่อยๆ ช่วงอยู่บ้าน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
เเฟ้มภาพ
"กรมควบคุมโรค" แนะประชาชนอยู่บ้านลดการติดเชื้อโควิด-19 ขอให้ทำความสะอาดบ้าน โดยเฉพาะจุดที่มีการสัมผัสบ่อยๆ
เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้สถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทย มีจำนวนผู้ป่วยลดลงเมื่อเทียบกับระยะที่ผ่านมา แต่ทุกพื้นที่ยังต้องดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นต่อไป ซึ่งทางรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ขอให้ประชาชนอยู่บ้านเพื่อลดการติดเชื้อโควิด-19 ไม่นำเชื้อจากนอกบ้านมาแพร่สู่คนในครอบครัว และเพิ่มระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อดังกล่าว รวมถึงกลุ่มวัยทำงานปฏิบัติงานที่บ้าน (Work from home) ทำให้ต้องปฎิบัติงานหรือทำกิจกรรมในบ้าน
กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำว่า ในช่วงนี้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่บ้าน ขอให้ใช้เวลานี้ทำความสะอาดบ้าน ทำงานบ้าน รดน้ำต้นไม้ และออกกำลังกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยเฉพาะการทำความสะอาดห้องพักหรือบ้าน ให้เน้นในจุดที่มี การสัมผัสบ่อยๆ เช่น ปุ่มกด ราวจับ ลูกบิดประตู ที่วางแขน พนักพิงที่นั่ง โต๊ะ รีโมท คีย์บอร์ด สวิตช์ไฟ เป็นต้น รวมถึงของใช้ส่วนตัวที่อาจมีละอองของน้ำลาย เสมหะติดอยู่ด้วย เนื่องจากเชื้อไวรัสสามารถอยู่บนพื้นผิวของวัตถุต่างๆ ได้ จึงต้องได้รับการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ โดยวิธีเช็ดถูด้วยน้ำกับผงซักฟอก แล้วเช็ดด้วยน้ำสะอาด หรือใช้สารเคมีที่มีประสิทธิภาพ ที่หาได้ง่ายตามท้องตลาด คือ
1.น้ำยาฟอกขาว สามารถใช้สำหรับทำความสะอาดพื้นผิวได้ โดยผสมในอัตราส่วน ดังนี้ 1)พื้นผิวทั่วไป ใช้น้ำยาฟอกขาวเจือจาง 1 ส่วนในน้ำ 99 ส่วน (ความเข้มข้น 0.05% หรือเท่ากับ 500 ppm) 2)พื้นผิวที่มีน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ สารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น ห้องสุขา โถส้วม ใช้น้ำยาฟอกขาวเจือจาง 1 ส่วนในน้ำ 9 ส่วน (ความเข้มข้น 0.5%) ราดทิ้งไว้อย่างน้อย 15 นาที
2.สำหรับพื้นผิวที่เป็นโลหะ สามารถใช้ 70% แอลกอฮอล์ทำความสะอาดได้
3.สิ่งแวดล้อมที่เป็นวัสดุผ้า ที่อาจปนเปื้อนด้วยเชื้อไวรัส เช่น เสื้อผ้า ผ้าม่าน ผ้าปูที่นอน ควรทำความสะอาดก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ โดยใช้น้ำที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสและผงซักฟอกในครัวเรือนได้
นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวอีกว่า หากประชาชนจำเป็นต้องเดินทางออกจากบ้าน ถ้ากลับถึงบ้านแล้วต้องทำความสะอาดร่างกายทันที เพื่อลดโอกาสการนำเชื้อเข้ามาติดต่อสู่คนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้อยู่ร่วมบ้านกับผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เพราะถ้ากลุ่มดังกล่าวได้รับเชื้อจะมีอาการรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น และควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนอยู่แออัด หลีกเลี่ยงอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ กินร้อน ช้อนส่วนตัว และล้างมือบ่อยๆ พร้อมทั้งสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเพื่อป้องกันโรค ติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุข หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422