เฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน กินข้าวฮ่วมกัน ครอบครัวอบอุ่นตามวิถีพอเพียง
ที่มา : คมชัดลึก
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
เฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน กินข้าวฮ่วมกัน ครอบครัวอบอุ่นตามวิถีพอเพียง
ปัทมาภา พิมพ์พันธ์ หรือ "แม่หนิง" นักพัฒนาชุมชน คนจริงบ้าน อบต.คำไฮใหญ่ อ.ดอนมดแดง จ.อุบลราชธานี เปิดปากเล่าที่มาของการขับเคลื่อนงานเพื่อชุมชนที่ตนเองทำด้วยใจรัก
เธอยอมรับว่าเป็นเรื่องจริงที่ว่า เมื่อก่อนหากบอกคนในชุมชนว่าจะจัดกิจกรรมให้มาประชุมหรืออบรมอะไรยากที่จะมีใครมาหรือให้ความร่วมมือ
"ถ้าเอาเขามานั่งฟังอบรมในห้อง เขามานะ แต่ก็นั่งนิ่งๆ ไม่พูดอะไร แต่ตอนนั้นเรารู้สึกว่าอยากลอง ก็เลยบอกท่านนิยม พระเมเด นายก อบต.คำไฮใหญ่ เราขอโอกาสได้ไหม ท่านก็ให้โอกาสเราได้ลอง"
เธอจึงลองเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรม โดยเลือกกิจกรรมแรกคือ "ขัวเขียด" หรือการหาเขียด เป็นกิจกรรมที่พาลูกหลานและผู้ปกครองชาวคำไฮใหญ่ไปเบิ่งวิถีชีวิตของคนรุ่นเก่าก่อน เมื่อพ่อแม่ลูกได้ทำกิจกรรมร่วมกันพอทำแล้วก็มีกระแสบวก ได้รับการตอบรับจากชุมชนอย่างดี ถึงขั้นมีการ เรียกร้องว่าอยากทำกิจกรรมแบบนี้อีก
"พอดีตอนนั้นเราได้เข้าร่วมโครงการนวัตกรรมครอบครัวอบอุ่นของสมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย ภายใต้ การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยอุบลราชธานีได้เป็นหนึ่งใน 11 จังหวัดนำร่อง จึงคุยกับคณะทำงานว่าควรจัดกิจกรรมอะไรดี
"สาเหตุที่เลือกกิจกรรมแบบนี้ เพราะเด็กส่วนใหญ่จะไม่อยู่กับพ่อแม่ ก็มองว่าทำอย่างไรจะเอาเด็กกับผู้ใหญ่มามีกิจกรรมร่วมกันโดยเป้าหมายสำคัญเราอยากให้เด็กและเยาวชนเราเข้าใจวิถีชีวิตตั้งแต่สมัยพ่อแม่ จึงเป็นที่ของกิจกรรมเฮ็ดอยู่เฮ็ดกินตามวิถี กินข้าวป่าหาอยู่หากิน โดยเราชักชวนให้ผู้ปกครองพาเด็กหาปลา เด็กๆ ก็ให้ความสนใจ เพราะเด็กยุคนี้เขาไม่เคยทำ ไม่รู้จักกระทั่งวิธีว่าจะหาปลายังไง ได้แต่ซื้อกินเอากับรถพุ่มพวง ไม่ก็ไปห้างสะดวกซื้อ"
ปัทมาภา เล่าถึงสถานการณ์ในพื้นที่ว่า คำไฮใหญ่ปัจจุบันมีวิถีไม่ต่างกับชุมชนต่างจังหวัดโดยทั่วไป ที่ส่วนใหญ่พ่อแม่ ซึ่งเป็นวัยทำงานต้องออกไปทำงานที่อื่นไกลๆ จะไม่ได้อยู่กับลูก ดังนั้น เด็กๆ หรือลูกหลานจะอยู่กับปู่ย่าตายาย ทำให้หนี ไม่พ้นมีปัญหา คือมีเด็กแวนซ์ เด็กติดเกมส์ หรือเด็กท้องไม่พร้อม ฯลฯ
กิจกรรมจัดทั้งหมดสองวัน มีสามฐานให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีหน้าที่เป็นครู ผู้สอนประสบการณ์ชีวิตนอกห้องเรียน ทั้งวิธีหาปลา แหย่ไข่มดแดง ทำบั้งข้าวหลาม ล้วนเป็นวัฒนธรรมวิถีดั้งเดิมของคนอีสาน ส่วนบทบาทของลูกคือนักเรียน
"ผู้ปกครองก็ชอบมากที่ได้สอนลูก วันนั้นเราทำอ่อมหอยเสร็จแล้วเรามากินข้าวร่วมกัน เราทำแบบไม่มีเงื่อนไขหรือบังคับ เราปล่อยให้เขาสอน เรียนรู้กันเอง
"ตอนหลังมีเด็กเดินมาบอกกับเราว่า แม่หนิง…หนูไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าอาหารที่เรากินทำยังไง หนูเพิ่งรู้วันนี้แหละ" เธอเล่าด้วยสีหน้าภูมิใจ
การจัดกิจกรรมของโครงการครอบครัวอบอุ่นชุมชนเข้มแข็งตามเศรษฐกิจพอเพียง เป็นอีกกรณีศึกษาที่นำมาแลกเปลี่ยนในงาน มหกรรมสร้างเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่จัดโดยสำนักสนับสนุน สุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สสส. ซึ่งเป็นอีกตัวอย่างของรูปแบบการทำงาน ที่ไม่จำเป็นต้องอยู่แต่ในห้องเรียนเสมอไป และยังถือเป็นอีกนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากพื้นที่ ซึ่งรู้จักเลือกที่จะหยิบเอา "ทุน" ด้านวัฒนธรรมหรือประเพณีในท้องถิ่นมาเป็นตัวกลางในการสร้างกิจกรรมเพื่อสานสัมพันธ์สร้างความอบอุ่นในครอบครัว
หลังการจัดกิจกรรมผ่านไปได้ด้วยดี ซึ่งไม่เพียงการส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่ซึมซับวัฒนธรรมของท้องถิ่น หากอีกผลพลอยได้คือกิจกรรมดังกล่าวยังเป็นเหมือนสะพานที่เชื่อมสัมพันธภาพระหว่างกันในครอบครัว
"พอเสร็จกิจกรรม ทุกคนลงความเห็นร่วมกันว่าอยากให้กิจกรรมนี้กลายเป็นประเพณีของท้องถิ่น เราก็ต่อยอด โดยมีกลุ่มเด็กให้ความร่วมมือพ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน ต้องขอบคุณท่านนายก อบต. วันนั้นที่ให้โอกาสเรา"
เจริญ ตามสีวัน รองนายก อบต. คำไฮใหญ่ ในฐานะตัวแทนฟากฝั่งผู้ใหญ่ของชุมชน เผยความรู้สึกเกี่ยวกับโครงการนี้ว่า
"หลังจากทำกิจกรรมแล้ว มองว่าคนได้กำไรที่สุดคือคนในชุมชน ที่สำคัญยังตอบโจทย์เรื่องการสร้างสัมพันธภาพ บทบาทหน้าที่ของพ่อแม่ และสุดท้ายคือการพึ่งพาตนเอง โดยเป็นการใช้มิติมุมของวิถีวัฒนธรรมมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรม ส่งเสริมครอบครัว
เรามองว่าเป็นกิจกรรมดีๆ ที่ให้ ลูกหลานเราเรียนรู้ทักษะดีๆ ตามวิถีดั้งเดิมของท้องถิ่น ซึ่งยอมรับว่าตอนแรกก็ไม่เห็นด้วย เพราะด้วยปัจจัยหลายอย่าง แต่เมื่อเกิดขึ้น การได้เห็นผู้ใหญ่ปู่ย่าตายายที่ เลี้ยงดู ก็มาร่วมกิจกรรม มาสอนลูกหลานตัวเองก็เป็นสิ่งที่น่าดีใจ"
ปีนี้ ก็ยังคงมีเสียงเรียกร้องให้ทำ ต่อเนื่องเช่นเดิม ทางคณะทำงานจึงยังคงขับเคลื่อนการทำงานต่อเนื่องกับ สภาเด็กและเยาวชนและหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงการนำกิจกรรมมาต่อยอดกับ การขับเคลื่อนโรงเรียนครอบครัวในพื้นที่อีกด้วย