เอาจริงให้ยุงสิ้นลาย ปราบยุงลายให้สิ้นซาก

เรื่องโดย : ดนยา สุเวทเวทิน team content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลบางส่วนจาก หนังสือ "สิ่งแวดล้อมที่ดี อะไรๆ ก็ดี ไม่มียุงกวน' โดยกระทรวงสาธารณสุข


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


เอาจริงให้ยุงสิ้นลาย ปราบยุงลายให้สิ้นซาก thaihealth


เอาจริงให้ยุงสิ้นลาย เพราะถ้ายุงไม่ตาย เราอาจจะป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลายจนถึงตายเลยก็เป็นได้นะคะ


เพราะ “ยุงลาย” เป็นพาหะนำโรคติดต่อ ซึ่งในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม– 4 กันยายน 2560 พบว่ามีรายงานผู้ป่วยแล้ว 34,459 ราย และในที่นี้มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงถึง 49 ราย หรือเทียบเท่ากับปีที่ผ่านมา ยอดผู้เสียชีวิตในปีนี้สูงขึ้นจากปีก่อนๆ จนน่าตกใจ


เนื่องจากยุงลาย 1 ตัว สามารถออกลูกได้ประมาณ 500 ตัว และไข่ยุงลายก็สามารถอยู่ได้เป็นปีแม้จะไม่ได้อยู่ในน้ำก็ตาม ประกอบกับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีฝนตกชุกจนเกิดน้ำท่วมขังในหลายๆ พื้นที่ บวกกับในช่วงเวลาดังกล่าวยังคงมีพายุฝนที่พัดผ่านเข้ามาเรื่อยๆ


เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักในการดูแลสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้ถูกหลัก สู่การมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงห่างไกลโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำสื่อโฆษณาทั้ง 4 เรื่อง ได้แก่ 1) เรื่องขยายพันธุ์  2) เรื่องไม้แบต หนึ่งในวิธีกำจัดยุงลายโดยใช้ไม้ช็อตยุง 3) เรื่องฟันปลอม และ 4) เรื่องฝาโอ่ง ทั้งหมดนี้สื่อถึงความน่ากลัวของการแพร่พันธุ์ยุงลายและวิธีป้องกันไม่ให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์เพื่อไม่ให้ยุงวางไข่ได้ เพราะเพียงแค่การเทน้ำทิ้งอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องล้างและขัดภาชนะรองรับเพื่อกำจัดไข่ยุงลายด้วย อีกทั้งเป็นการเปลี่ยนแปลงทัศนคติให้คนเข้าใจถูกต้องว่ายุงลายชอบกัดคนเวลากลางวันมากกว่ากลางคืน ซึ่งสื่อรณรงค์ดังกล่าวได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดีจนถึงหลักล้านวิว ทั้งจากช่องทาง Youtube (https://youtu.be/63dBUOt7HOg) และ Facebook (facebook.com/socialmarketingth และ facebook.com/thaihealth)


<iframe width="640" height="360" src="https://www.youtube.com/embed/PwqtXNgmn4g" frameborder="0" allowfullscreen></iframe>


 



ในวันนี้ทีมเว็บไซต์ สสส. จึงรวบรวมข้อมูลโรคที่มีต้นตอจากยุงลาย ทั้ง 3 โรค รวมถึงวิธีกำจัดลูกน้ำยุงลายมาฝากดังนี้ค่ะ


โรคไข้เลือดออก


สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) มี 4 ชนิด ซึ่งแพร่เชื้อโดยยุงลายไปกัดคนป่วยด้วยไข้เลือดออก เชื้อจะพักตัวในยุง 8-10 วัน แล้วเมื่อยุงนั้นไปกัดคนอื่นหลังจากได้รับเชื้อแล้ว 5-8 วันจึงจะมีอาการ โดยจะมีอาการไข้สูงลอย ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ หน้าแดง ตาแดง อาจมีผื่นขึ้นตามแขนขา-ตามตัว มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเร็วแต่เบา อาจมีเลือดกำเดา อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด หากมีอาการดังกล่าวควรรีบ พบแพทย์เพื่อรักษาอาการเนื่องจากโรคดังกล่าวอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้


โรคติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika Fever)


เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิก้า (Zika Virus-ZIKV) แพร่เชื้อโดยยุงลายที่มีเชื้อมากัดคน หลังจากได้รับเชื้อแล้วจะมีระยะฟักตัว 3-12 วัน จึงจะมีอาการป่วย ซึ่งโรคนี้ส่งผลกระทบต่อระบบสมอง โดยเฉพาะเด็กในครรภ์ที่มารดาได้รับเชื้อขณะตั้งครรภ์ ทารกอาจเกิดมามีความผิดปกติ เช่น สมองเล็ก แคระแกร็น พัฒนาการช้า ตัวเล็ก ไม่ปกติ อาการของโรคคือปวดศีรษะ เยื่อบุตาอักเสบ มีไข้อ่อนเพลีย มีผื่นแดง ปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อ


โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikunkunya)


เกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา แพร่เชื้อโดยยุงลายสวน และยุงลายบ้านที่มีเชื้อและไปกัดคนหลังจากได้รับเชื้อ 1-12 วันจึงจะมีอาการป่วย แต่ที่พบบ่อยคือ 2-3 วัน โดยมีอาการปวดข้อจากอวัยวะหนึ่งไปยังอวัยวะหนึ่ง เช่น จากข้อมือไปข้อเท้า เลื่อนปวดไปทั้งตัว อาจมีผื่นคันและปวดมาก จนกระทั่งต้องคลานเข้าห้องน้ำ


มาตรการ 3 เก็บ ป้องกันโรคที่เกิดจากยุงลาย


กำจัดยุงให้สิ้นซาก เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง เพื่อไม่ให้ยุงลายเกาะพักอาศัย เก็บขยะ เศษภาชนะที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ เก็บน้ำให้มิดชิด ปิดภาชนะ ภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้ก็ปล่อยน้ำทิ้งเป็นประจำทุกสัปดาห์ หรือหาปลาหางนกยูงกินมาลูกน้ำ


ป้องกันตัวเองอย่างไรดี?


นอนกางมุ้งทั้งกลางวันและกลางคืน, ใส่เสื้อผ้ามิดชิด, ใช้ยาทากันยุง หรือยาจุดกันยุง, ใช้สารไล่ยุง เช่น ตะไคร้หอม สารไล่ยุงชนิดเคมีอื่นๆ, อยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้สะดวกและมีแสงสว่าง, กำจัดแหล่งน้ำขังภายในที่พักอาศัย ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง


ป้องกันชุมชนอย่างไรดี?


กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณบ้านทุกวัน, หมั่นจัดระเบียบบ้านและที่พักอาศัยไม่ให้เป็นแหล่งเกาะอาศัยของยุงลาย, ปิดภาชนะให้มิดชิดไม่ให้ยุงวางไข่, ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำยุงลายเคลือบสารที่มีฟอสกำจัดลูกน้ำในภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้, เปลี่ยนน้ำในห้องน้ำ แจกันดอกไม้ ทุกๆ 7 วัน, ปล่อยปลาหางนกยูงในอ่างน้ำบัวเพื่อให้กินลูกน้ำยุงลาย, จานรองขาตู้กับข้าว เปลี่ยนจากใส่น้ำมาใส่ขี้เถ้าหรือน้ำมันแทน หรือใส่เกลือ 1-2 ช้อนชาลงไปในน้ำ, ภาชนะที่มีน้ำขัง เช่น ขวดกระป๋องขุดหลุมฝังทำลายทิ้ง ยางรถยนต์เก่าให้เรียงซ้อนกันแล้วใช้ผ้าพลาสติกปิดรัดที่ด้านบน ยางรถยนต์เก่าเก็บในที่ร่มมีหลังคาหรือดัดแปลงมาใช้ประโยชน์, ใช้สารเคมีพ่นฆ่ายุงลายในบ้านที่พบผู้ป่วยและบ้านใกล้เคียง เพื่อฆ่ายุงที่มีเชื้อให้หมดไป


อย่าลืมร่วมมือร่วมใจกันปราบลูกน้ำและยุงลายกันอย่างจริงจัง ทั้งนี้ก็เพื่อสุขภาวะที่ดีของตัวเราเองและเพื่อนๆ ในชุมชนด้วยนะคะ

Shares:
QR Code :
QR Code