“เหล้าปั่น” : แอลกอฮอล์ผสมน้ำหวาน ภัยคุกคามเด็กไทย
กระแสนิยมของกลุ่มวัยรุ่นในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผสมน้ำหวานหรือน้ำผลไส้ อย่างเช่น เหล้าปั่น เหล้าถัง ค๊อกเทล รวมทั้งผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มประเภท RTD (Ready to Drink) กำลังเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคประชาสังคมกำลังทำงานเพื่อผลักดันนโยบายในการควบคุมร้านเหล้ารอบสถานศึกษา หัวข้อข่าวจากหนังสือพิมพ์ต่อไปนี้ ทำให้เห็นถึงเรื่องราวความเป็นไปของปัญหาเหล้าปั่นกับเยาวชนไทยเป็นอย่างดี
“แฉโจ๋ไทยนักดื่ม เมาปลิ้น เฉลี่ยวันละขวด”
“เหล้าปั่นขายแฟรนไชน์เย้ยกฎหมาย ใช้นักดื่มสวยใส-ไร้เดียงสา”
“เหล้าปั่น มหันตภัยวัยโจ๋ ก้าวแรกนักดื่มหน้าใหม่”
“ผลวิจัยร้านเหล้ารอบ 15 มหาวิทยาลัย เหล้าปั่นมาแรง”
“กลุ่มเยาวชนร้องกทม. เหล้าปั่นอาละวาดหนัก โจ๋แห่ดื่ม ค่านิยมใหม่”
“สาธารณะสุขชงกฎหมายลูกห้ามจำหน่ายน้ำเมารอบสถานศึกษา 500 เมตร”
“เหล้าปั่น” คือ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อาจจะเป็น วอดก้า รัม จิน เหล้าสี วิสกี้ เหล้าขาว ผสมกับน้ำผลไม้หรือน้ำหวานปรุงแต่งกลิ่นผลไม้ ปั่นรวมกันกับน้ำแข็ง ดูภายนอกลักษณะไม่ต่างจากน้ำผลไม้ปั่นธรรมดา มีสีสันสดใส เช่น สีฟ้า สีเขียว สีแดง ตามสีของน้ำหวานที่ผสม มีรสชาติหอม หวาน ไม่ขมเพราะถูกกลบด้วยรสหวาน ด้วยเหตุนี้ในความรู้สึกของเด็กที่ดื่มจึงบอกว่าเหล้าปั่น อร่อย เปรี้ยวๆ หวานๆ คล้ายน้ำผลไม้ปั่น ดื่มง่าย ไม่ขมไม่เฝื่อน เด็กบางคนคิดว่าดื่มเหล้าปั่นแล้วไม่เมา แต่เด็กบางคนไม่รู้สึกด้วยซ้ำวานมีเหล้าผสมอยู่ด้วย สำหรับบางคนที่ดื่มประจำหากต้องการเมาก็จะสั่งเพิ่มช็อทหรือเติมเหล้าเพิ่มความแรงได้อีก
ร้านขายเหล้าปั่นมีวิธีดึงดูดลูกค้าด้วยกลยุทธ์ที่หลากหลาย เช่น การมีสูตรพิเศษเฉพาะ เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง มีการตั้งชื่อร้านหรือชื่อเมนูที่เท่ห์ๆ โดนใจ และดึงดูดในให้เด็กและเยาวชนอยากทดลองดื่ม เช่น summer kiss, rose in love, pinkpanter เป็นต้น มีการสร้างบรรยากาศในการดื่มด้วยแสงสลัว มีดนตรี มีจอโปรเจ็คเตอร์ฉาย และบางร้านก็จัดพนักงานต้อนรับเป็นวัยรุ่นหญิงสำหรับเรียกลูกค้าผู้ชาย ซ้ำยังมีราคาถูก มีร้านจำหน่ายมากมาย ส่งผลให้เหล้าปั่นกลายเป็นกระแสนิยมในหมู่วัยรุ่น
ความอันตราย เมื่อดื่มเหล้าปั่น
“เหล้าปั่น” มีอันตรายไม่ต่างจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะมีส่วนผสมของเหล้าอยู่ โดยปกติจะใส่เหล้าประมาณ 3 shot ต่อแก้ว หรือ 6 shot ต่อเหยือก คิดเป็นปริมาณแอลกอฮอล์ 30-40 กรรมต่อเหยือก เทียบเท่ากับการดื่มเบียร์ 3 กระป๋อง หรือดื่มเหล้าขาว 4 เป๊ก ไม่ว่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น โรคตับ โรคกระเพาะทะลุ อันตรายจากการมึนเมา เช่น การเกิดอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท ยังมีอันตรายอีกหลายด้านที่เกิดจากการดื่มเหล้าปั่น ได้แก่
อันตรายต่อสมองของวัยรุ่น : สมองของคนเราจะเจริญเติบโตจนถึงอายุประมาณ 20 ปี เมื่อดื่มเหล้าจะทำให้ลดการสร้างเซลล์ประสาท ลดพัฒนาการของสมองส่วนความคิด และเหตุผล ส่งผลให้ความจำจะไม่ดี หรือมีการตัดสินใจที่ขาดการใช้สมอง
อันตรายจากการดื่มเป็นประจำ: การดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ส่งผลต่อการหลังสารสื่อประสาทในสมอง ทำให้สมองมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้าและเกิดโรคสมองติดยาได้ในที่สุด
อันตรายจากปริมาณน้ำตาลที่สูง: เวลาดื่มจะรู้สึกสดชื่น ดื่มได้คราวละมากๆ ได้ปริมาณแอลกอฮอล์มากๆ จนเมาไม่รู้ตัว และหากดื่มเป็นประจำก็อาจจะเป็นโรคอ้วนได้
อันตรายจากการเมาแบบไม่รู้ตัว: หรือที่เรียกกันว่า เมาซึม ผู้หญิงอาจโดนมอมเหล้าได้ หรือเสี่ยงต่อมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัยที่นำมาซึ่งการติดเชื้อเอชไอวี ตลอดจนการตั้งครรภ์
อันตรายจากการผสมด้วยเหล้าเถื่อน: เนื่องจากราคาขายต่อเหยือกค่อนข้างต่ำ ผู้ขายบางรายจึงต้องลดต้นทุนโดยการเปลี่ยนจากเหล้าราคาแพงอย่างวอดก้า รัม มาใช้เหล้าสี เหล้าขาว หรือแม้กระทั่งเหล้าเถื่อน เหล้าต้มเองมาผสมแทน ซึ่งผู้ที่ดื่มจะไม่มีทางรู้เลยว่าเหล้าที่นำมาผสมคือเหล้าชนิดใด อันตรายของเหล้าเถื่อน หรือเหล้าต้มเองคือ หากกระบวนการต้มไม่ดีพอจะทำให้มีสารเมทานอลตกค้างอยู่ และอาจส่งผลให้ผู้ดื่มตาบอดได้
อันตรายจากการผสมเครื่องดื่มชูกำลัง: เนื่องจากฤทธิ์ที่ขัดแย้งกันของแอลกอฮอล์ที่ออกยับยั้งประสาท ตรงข้ามกับฤทธิ์กระตุ้นประสาทจากคาเฟอีนในเครื่องดื่มชูกำลัง ทำให้ผู้ดื่มมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดในสมองแตก หรือระบบประสาททำงานผิดปกติได้
เมื่อเด็กและเยาวชน กลายเป็นกลุ่มลูกค้าคนสำคัญของ “เหล้าปั่น”
จากการทำการตลาดของร้านขายเหล้าปั่น ไม่ว่าจะเป็นการตั้งราคาให้มีราคาถูกเพียงเหยือกละ 49-150 บาท แม้เด็กนักเรียนที่ไม่มีรายได้ก็สามารถซื้อดื่มได้ กอรปกับการหาดื่มได้ง่ายจากร้านขายเหล้าปั่นจำนวนมากที่เพิ่มขึ้นใกล้สถานศึกษา หอพัก หรือแหล่งรวมตัวของกลุ่มวัยรุ่น ตลอดจนมีโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขาย เช่น “พาเพื่อนผู้หญิงมาด้วยจะได้เหล้าปั่นฟรี”,“ซื้อ 2 เหยือก แถม 1 เหยือกฟรี” ล้วนแสดงให้เห็นว่าลูกค้าหลักของเหล้าปั่นก็คือเด็กและเยาวชน ซึ่งอาจแบ่งเด็กที่ดื่มเหล้าปั่นได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มเด็กหัดดื่ม หรือนักดื่มหน้าใหม่ 2) กลุ่มวัยรุ่นหญิง 3) กลุ่มนักดื่มประจำ โดยแต่ละกลุ่มจะมีพฤติกรรมการดื่มที่แตกต่างกันไป
กลุ่มเด็กหัดดื่ม จากข้อมูลพบว่าส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยมต้น จะเริ่มหัดดื่มเหล้าปั่นก่อน แล้วจะเปลี่ยนไปดื่มเบียร์ หรือเหล้าสี อายุต่ำสุดที่สำรวจพบที่ดื่มคือ 7 ปี
กลุ่มวัยรุ่นหญิง จะดื่มเหล้าปั่นได้อย่างไม่เขินอาย เพราะภาพลักษณ์เหล้าปั่นที่ดูน่ารัก สดใส อินโนเซนท์ และหากไปดื่มกันในกลุ่มเพื่อนชายและหญิง ฝ่ายชายจะเป็นผู้สั่งเหล้าปั่นมาให้ฝ่ายหญิงทดลองดื่ม
กลุ่มนักดื่มประจำ จะใช้ร้านเหล้าปั่นเป็นแหล่งนัดพบ ดื่มเหล้าปั่นเพื่ออุ่นเครื่องก่อนจะไปดื่มต่อที่สถานบันเทิงอย่างเธค ผับ บาร์ หรือบางกลุ่มใช้เป็นมั่วสุมของกลุ่ม ก่อนไปสร้างปัญหาสังคม เช่น แข่งรถ
จากข้อมูลข้างต้นเป็นการยืนยันทฤษฎีที่ว่า “การดื่มเหล้าปั่นของเด็กและเยาวชนเป็นบันไดขั้นแรกของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนที่จะไปดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่น จนกลายเป็นนักดื่มระจำ เมาประจำ นักดื่มหนักในที่สุด หรือเป็นประตูไปสู่การเสพยาเสพติดอื่นๆ” ได้อย่างชัดเจนและจะเห็นได้ว่าทำไมเด็กดื่มเหล้าจึงน่าเป็นห่วง
เมื่อผู้ขายเหล้า ไม่สนใจสังคม ขาดความรับผิดชอบ
นอกจากการส่งเสริมการขายของเหล้าปั่นที่เจาะลูกค้ากลุ่มวัยรุ่นที่กล่าวมาแล้ว ยังมีข้อมูลแสดงว่ามีการขายเหล้าปั่นให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งผิดกฎหมาย ไม่มีการตรวจบัตรประชาชน บางร้านขายให้เด็กที่อยู่ในเครื่องแบบนักเรียนด้วยซ้ำ จำนวนหนึ่งของร้านเหล่านี้เป็นร้านที่ไม่มีใบอนุญาตในการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย ร้านเหล้าปั่นมีอยู่หลายลักษณะ ตั้งแต่เพิงแผนลอย รถเข็น ร้านนม ร้านน้ำผลไม้ปั่น ร้านกาแฟ ร้านเกมส์/อินเทอร์เน็ต ร้านอาหารทั่วๆ ไป ร้านหมูกระทะ ร้านคาราโอเกะ จนถึงสถานบันเทิงหรูๆ การที่เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ มีเมนูเหล้าปั่นเข้าไปอยู่ในเมนูอาหารด้วย ทำให้ยากแก่การตรวจสอบ เด็กและเยาวชนก็สามารถสั่งดื่มได้ง่าย โดยผู้ปกครองหรือครูอาจารย์ไม่รู้ว่าเด็กและเยาวชนเหล่านี้กำลังดื่มเหล้าอยู่
นอกจากนี้ ธุรกิจร้านเหล้าปั่นกำลังเป็นที่สนใจ เห็นได้จากจำนวนร้านที่เพิ่มขึ้น มีการเปิดเป็นธุรกิจแฟรนไชน์ และเชิญชวนให้มาขายเหล้าปั่นด้วยข้อความเหล่านี้ เช่น “ธุรกิจเหล้าปั่น ปั้นน้ำเป็นเงิน” “ธุรกิจมาแรง เหล้าปั่น…กำไรกว่า 70% คืนทุนภายใน 1 เดือน” ที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ประกอบการร้านเหล้าปั่นบางส่วนเป็นคนที่ใกล้ชิดเยาวชน เช่น ญาติ รุ่นพี่ที่สถานศึกษา หรือเป็นเยาวชนเองที่ดำเนินกิจการ
จะเห็นว่าปัญหาเหล้าปั่นกับเยาวชน ไม่ได้มีเฉพาะการมีร้านเหล้าเหล่านี้ใกล้สถานศึกษา การมีสังคมที่เอื้อต่อการดื่มและการเมา การโฆษณาและการทำการตลาดของบริษัทสุราที่มุ่งเป้าต่อเด็กและเยาวชน การที่พ่อแม่ผู้ปกครองดื่มเหล้า ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กดื่มเช่นกัน หากมองต่อถึงอนาคตก็เป็นไปได้ว่ามีผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์รูปแบบใหม่ๆ มีการทำการตลาดแบบใหม่ของบริษัทสุราและร้านเหล้าเกิดขึ้นอีก เห็นทีการแก้ปัญหาแอลกอฮอล์กับเยาวชนจะต้องร่วมมือจากหลายๆ ภาคส่วนในการทำงานต่อไปค่ะ
ที่มา : ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา โดย ภญ.อรทัย วลีวงศ์ และคณะ