เหตุเมาแล้วขับกับผู้ร้ายตัวจริง
ที่ยังลอยนวล
ในรอบเดือนที่ผ่านมา มีข่าวปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนมากมาย ข่าวล่าสุดเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2553 “นักศึกษาหอการค้าเมาซิ่งชน ส.ต.ท. ดับ สุดสลดเมียท้อง 7 เดือน ลูกไม่มีโอกาสได้พบพ่อ..” เป็นอีกข่าวหนึ่งที่สะเทือนใจคนทั้งประเทศ หลายคนช่วยกันเรี่ยไรเงินช่วยเหลือครอบครัวตำรวจที่เสียชีวิต คนจำนวนมากแสดงความคิดเห็นผ่านทาง SMS รายการทีวี วิทยุและโลกออนไลน์ ประณามผู้ก่อเหตุแสดงความเสียใจและให้กำลังใจครอบครัวผู้สูญเสีย สื่อทุกแขนงช่วยกันนำเสนอข่าว ในขณะที่ผู้คนในสังคมเฝ้ารอว่าเมื่อไหร่ภาครัฐจะมีมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง มากกว่าการนั่งรอแสดงความเสียใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก และปล่อยให้ทุกอย่างหมุนกลับมาที่เดิมเป็นวัฏจักรที่ไม่มีการแก้ไข
จากเหตุการณ์นี้ที่ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ผู้ที่ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น คงไม่ใช่แค่นักศึกษาที่เป็นผู้กระทำผิดเท่านั้น ในส่วนของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ไม่สนใจแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ธุรกิจน้ำเมาที่ได้แต่ทำการตลาดชวนให้เยาวชนดื่ม ตลอดจนร้านเหล้าที่นักศึกษาไปดื่มกิน เหล่านี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วย มิใช่ลอยนวลอยู่เช่นทุกวันนี้ สำหรับร้านเหล้านั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรติดตามตรวจสอบว่าเป็นการขายให้คนเมาที่ครองสติไม่ได้ด้วยหรือไม่ เพราะนั่นเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 29 ซึ่งมีบทลงโทษถึงขั้นจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เอาไว้ด้วย
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ 1.คณะกรรมการนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรเร่งออกมาตรการควบคุมร้านเหล้ารอบสถานศึกษา และบังคับใช้กฎหมายให้ทันกับสถานการณ์ปัญหาที่รุนแรงมากขึ้น
2.สังคมไทยควรจะมีนโยบายให้การเปิดร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำได้ยากขึ้นเหมือนในประเทศที่เจริญแล้ว ไม่ใช่ปล่อยให้ขายกันอย่างไม่กำหนดขอบเขตแบบนี้ ใบอนุญาตต้องมีราคาแพงขึ้นอีกมาก มีกลไกที่ตรวจสอบจริงจัง ไม่ใช่ใครจะขอก็ได้ เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน (การอนุญาตให้ขายปืนยากแค่ไหน การขายน้ำเมาควรยากกว่า เพราะน้ำเมาฆ่าคนชั่วโมงละ 3 คน มากกว่าอาวุธทุกชนิดรวมกันหลายเท่าตัว) รวมถึงการเพิกถอนใบอนุญาตถาวร หากพบว่ามีการขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี
3.ไม่ออกใบอนุญาตให้ร้านที่ตั้งอยู่ใกล้ศาสนสถาน หรือสถานศึกษามากเกินไป หรือมีการจัดโซนนิ่งร้านในลักษณะดังกล่าวเป็นการเฉพาะ
4.ในการเปิดร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องมีการฝึกอบรมพนักงานขายให้มีทักษะในการบริการที่ถูกต้อง อาทิ เทคนิคการสังเกตคนเมาครองสติไม่ได้และปฏิเสธการขาย (เพราะผิดกฎหมาย) การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าหากลูกค้าเมาแล้วจะขับรถ เป็นต้น
5.กำหนดให้ร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผู้ก่อเหตุไปใช้บริการแต่ประสบอุบัติเหตุดื่มแล้วขับมีส่วนรับผิดชอบในความผิดนั้นด้วย
6.มีการเพิ่มโทษเมาแล้วขับให้สูงขึ้น โดยเฉพาะผู้กระทำความผิดซ้ำ ควรให้เป็นโทษจำคุกจริงๆ เสียทีเพราะมีคนตาย/พิการจากน้ำเมาแล้วขับมากเกินพอแล้ว
ในส่วนของบริษัทผู้ผลิตหรือจำหน่าย คงไม่สามารถไปเรียกร้องสำนึกทางสังคมอะไรได้มากนักเพราะแค่ให้ปฏิบัติตามกฎหมายก็ยังพยายามหลีกเลี่ยงกฎหมาย และข่มขู่ฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ เรียกค่าเสียหายนับสิบล้าน เพื่อไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ปกป้องเยาวชนได้อย่างเต็มที่ คงต้องรอให้บาปบุญ เวรกรรมเป็นผู้ตัดสิน
สำหรับกรณีนี้ คงไม่มีใครบอกได้ว่าสภาพจิตใจของผู้เป็นภรรยาและลูกที่กำลังจะเกิดมาในอีก 2 เดือนข้างหน้านี้ จะระทมทุกข์ไปอีกนานแค่ไหน จะมีหน่วยงานไหนจะเข้าไปเยียวยา และใครจะเป็นรายต่อไป แต่หากผู้คนในสังคมเริ่มคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องเข้มแข็ง เลิกเกรงใจนายทุนน้ำเมา คงจะต้องช่วยกันส่งเสียงดังๆ ให้ภาครัฐได้เห็นถึงความต้องการของประชาชน เร่งจัดการกับปัญหาน้ำเมาอย่างจริงจังเสียที
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
Update : 23-09-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร