เส้นทางที่ทำให้สังคมไทยปลอดบุหรี่
21 ปี กับความตั้งใจและร่วมมือของแต่ละฝ่าย
การรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ของคนไทย ดำเนินการมานานแล้วถึง 21 ปี ซึ่งถ้าใครติดตามข่าวสารการรณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง คงจะได้พบว่า จำนวนคนที่สูบบุหรี่ในช่วงที่ผ่านมา 21 ปีนี้ มีปริมาณลดน้อยลงอย่างมาก
ถ้าไม่มีการรณรงค์ต่อต้านกันแล้ว ป่านนี้ ทุกหนทุกแห่งในเมืองไทย คงจะเต็มไปด้วยหมอกควันของคนที่สูบบุหรี่ จำนวน สถิติของคนที่เป็นโรค และ ตายเนื่องจากพิษของควันบุหรี่คงจะมีมากมายมหาศาล จึงนับได้ว่า ผลจากการรณรงค์ตลอดช่วงเวลายี่สิบกว่านี้ ได้ช่วยชีวิตคนไทย และ ได้ป้องกันโรคร้ายอันเกิดจากการสูบบุหรี่ได้อย่างมหาศาลทีเดียว
ผลจากการสร้างโลกของคนไทยให้สดใส เกิดขึ้นเช่นนี้ เนื่องจากมาจากการสนับสนุนและส่งเสริมของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ผลักดันให้เกิดการณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ขึ้น อันเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันมาโดยตลอดอย่างจริงจัง จนถึงวันนี้ ได้เกิด”ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ” ขึ้น
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และ สสส. ร่วมกันจัดตั้งศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ เพื่อเป็นเครื่องมือชิ้นใหม่ของประเทศไทยในการสนับสนุนการเลิกบุหรี่ โดย สสส. จัดงบประมาณสนับสนุนในปี 2551-2552 จำนวน 32 ล้านบาท ให้บริการผ่านหมายเลข 1600 ซึ่ง เดิมได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2536 โดยมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบุหรี่ ได้โอนมาและยกระดับจัดตั้งเป็นศูนย์บริการระดับชาติเมื่อวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา จากผลงานที่ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง ยืนยันได้จากงานวิจัยระดับนานาชาติหลายชิ้น พบว่า ผู้สูบที่เข้ารับบริการสายด่วนเลิกบุหรี่ จะเลิกสูบบุหรี่ได้มากกว่า ผู้ที่อ่านคู่มือด้วยตนเองถึง 50%
รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธ์ ผอ.ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ กล่าวว่า จากการเริ่มทดลองเปิดบริการศูนย์มา 3 เดือน มีผู้ใช้บริการเกือบ 4 พันราย ในอนาคตคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการไม่ต่ำกว่า 2 พันรายต่อเดือน โดยที่ศูนย์มีเจ้าหน้าที่ประจำซึ่งเป็นพยาบาลวิชาชีพ และผู้ผ่านการอบรม 22 คน ให้บริการ 18 คู่สาย ตั้งแต่ 7.30-20.00 น. นอกเวลาและวันหยุดมีการบันทึกข้อความเพื่อติดต่อกลับ ผู้ใช้บริการจากทั่วประเทศเสียค่าใช้จ่ายเพียง 3 บาทต่อครั้ง การให้บริการมีทั้งเชิงรุกและรับ ติดตามผลให้กำลังใจ และบริการข้อมูลทางไปรษณีย์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย รวมถึงบริการข้อมูลผ่านทาง www.thailandquitline.or.th และจะมีการประสานเชื่อมโยงการรับและส่งต่อที่จำเป็นกับการให้บริการเลิกบุหรี่ของภาครัฐและเอกชนต่างๆ ด้วย
ความสำเร็จในการรณรงค์ให้คนไทย ไม่เกิดการกระจายของผู้สูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้นเช่นนี้ สร้างประโยชน์ให้กับมวลชนชาวไทย อย่างมาก ดังที่ นพ.วิชัย โชควิวัฒน รองประธานคนที่ 2 สสส.กล่าวว่า การสูบบุหรี่คือปัจจัยเสี่ยงที่สร้างภาระโรคภัยแก่คนไทยสูงเป็นอันดับ 3 ที่มีตัวเลข ประมาณการผู้เสียชีวิตถึง 42,000 คน ต่อปี หรือ 115 คนต่อวัน ทุกวันนี้แม้ว่า อัตราการสูบบุหรี่ของประเทศไทยจะลดอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันคนไทยยังสูบบุหรี่อยู่ถึง 11.03 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 6 คน ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า ผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบันปีละ 5 ล้านคน หรือวันละ 13,700 คน หรือนาทีละ 9.5 คน คือ 1 ใน 10 ของผู้เสียชีวิตเกิดจากบุหรี่ บุหรี่จึงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของประชากรโลก และจะเพิ่มเป็น 10 ล้านคนใน 20 ปีข้างหน้า
หากจะย้อนกลับไปดูความเป็นมาของ การรณรงค์เพื่อต่อต้านการสูบบุหรี่ จนทำให้ เมืองไทยเกิดสภาวะโลกสดใสที่ส่งให้กายสุขสันต์ในทุกวันนี้ เริ่มเมื่อ ปี พ.ศ. 2523 เมื่อ องค์การอนามัยโลกประกาศเป็นปีแห่งการไม่สูบบุหรี่ และได้นำมาสู่ความตื่นตัวในการแสวงหาและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายจากการสูบบุหรี่ต่อสุขภาพกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งตอนนั้น ศ.นพ.ประเวศ วะสี รองประธานมูลนิธิหมอชาวบ้าน ได้มีโอกาสไปร่วมประชุมกับหน่วยงานนี้ในต่างประเทศโดยตลอดจึงรับรู้ข้อมูล เรื่องพิษภัยจากบุหรี่ที่มีการศึกษาในหลาย ๆ ประเทศ ที่ แสดงแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน ว่า บุหรี่จะได้กลายเป็นสาเหตุแห่งการเจ็บป่วยและเสียชีวิตมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ
ในปี พ.ศ. 2528 ศ.นพ.ประเวศ จึงได้พูดคุยกับกลุ่มคนทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสาธารณสุขว่าอยากให้ช่วยกันรณรงค์ให้คนไทยลดการสูบบุหรี่ลงและสร้างค่านิยมที่ไม่สูบบุหรี่แก่คนรุ่นใหม่ ได้มีการปรึกษาหารือร่วมกัน และเห็นพ้องกันว่าต้องมีการรณรงค์ในเรื่องนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่องจึงมีการมอบหมายให้คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสาธารณสุขหรือ คปอส.ศึกษา รวบรวมข้อมูล และประสานงานกับฝ่ายต่าง ๆเพื่อจัดตั้งเป็นคณะทำงานขึ้น
ด้วยความร่วมมือของบุคคลและองค์กรที่สนใจ มีการยกร่าง จัดทำโครงงาน กิจกรรม และจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา โดยเชิญ ศ.นพ.ประเวศวะสี เป็นประธาน ศ.นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเคยร่วมงานด้านวิชาการและพัฒนาวงการแพทย์ร่วมกับ ศ.นพ.ประเวศ มานานเป็นรองประธานและยังมีแพทย์รุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นการเคลื่อนไหวเชิงรุกในการรณรงค์ปัญหาบุหรี่อีก2ท่าน คือ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด และ ผศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล แพทย์ที่สนใจมิติทางสังคมวัฒนธรรมร่วมเป็นกรรมการโดยมี นางสาวบังอร ฤทธิภักดี เป็นเจ้าหน้าที่ประจำโครงการเต็มเวลาเป็นคนแรก
หลังจากที่มีการหารือในที่ประชุมอย่างกว้างขวาง ชื่อ โครงการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ ที่มีการเสนอสู่ที่ประชุมในครั้งแรก ก็ได้ถูกปรับเปลี่ยนเสียใหม่เป็นโครงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่เพื่อนำเสนอความรู้สึกในเชิงบวก ซึ่งได้ถูกยึดเป็นแนวทางหลักของโครงการรณรงค์ฯ มาเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้กระแสการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ได้รับการขานรับจากสังคม ตราบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า
Update: 10-02-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร