เสียงสะท้อนครูชาวบ้าน
“ปาเจราจริยาโหนติคุณุตตรานุสาสกา” บทเพลงแห่งการเคารพบูรพาจารย์ ที่ยังคงดังกึกก้องในหัวใจของใครหลายคนที่ระลึกถึงพระคุณของคุณครูอาจารย์ในทุกวันที่ 16 มกราคม ซึ่งกำหนดให้เป็นวันครูของไทย
เมื่อกล่าวถึงวันครู หลายต่อหลายคนมักจะนึกถึงบุคคลที่สอนอยู่ในสถานศึกษา สถาบันการเรียนการสอนต่างๆ แต่กลับลืมกลุ่มบุคคลอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้จบการศึกษาในคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ เพื่อมาเป็นครูตามใบประกอบวิชาชีพครูที่คุรุสภากำหนดออกให้ แต่เป็นครูที่สอนศิษย์จากประสบการณ์ชีวิต สอนจากภูมิปัญญาที่มีอยู่ในกายและความคิด โดยไม่เคยคิดมูลค่าของค่าตอบแทน เป็นเสมือนครูของชาวบ้าน หรือที่มักเรียกกันติดปากเสมอว่า “ปราชญ์ชาวบ้าน”
เหมือนดั่ง ครูภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่เข้าร่วมโครงการพื้นที่นี้ดีจัง ของแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
อาจารย์สะกิต หนูคง ซึ่งปัจจุบันประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนกรีดยาง ที่ต้องตื่นแต่เช้าออกไปกรีดยางในสวนยางพารา ที่จังหวัดพัทลุง และได้ใช้เวลายามว่างหลังการกรีดยางหรือช่วงหลังเลิกเรียนของเด็กๆ อุทิศการสอนมโนราห์เด็ก เก็บสุข ใต้ถุนบ้าน ของศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านเกาะทัง ต.นาโหนด จ.พัทลุง โดยหวังเพียงต้องการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เป็นดั่งศิลปวัฒนธรรมอันงดงามของชาวใต้ให้คงอยู่ โดยครูสะกิต เล่าว่า เดิมทีครูเองเป็นคนรำมโนราห์ในคณะสาริกา แต่เมื่อครูสาริกาเจ้าของคณะเดิมเสียไป จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็นสะกิต สาริกา มาสอนเด็กๆ ให้รำมโนราห์ ส่วนหนึ่งในพื้นที่ยังมีปัญหาเรื่องของยาเสพติด หรือตัวอย่างที่ไม่ดีจากพ่อแม่ของเด็กๆ เอง เช่น การเล่นการพนัน ซึ่งเมื่อเด็กๆ ได้มาร่วมเรียนและใช้เวลาว่าง เป็นเหมือนการปลูกฝังเรื่องการทำดี การช่วยเหลือผู้อื่น และหลีกหนีจากตัวอย่างการเล่นการพนันที่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีกับเด็ก อีกทั้งยังทำให้เด็กกล้าแสดงออก
ครูสะกิต ยังบอกอีกว่า ทั้งหมดที่ทำนั้นทำให้มีความสุข และเชื่อว่าแม้กาลเวลาจะเปลี่ยนไป แต่ศิลปวัฒนธรรมที่มีคงไม่สูญหายไป เพียงแต่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เพราะมโนราห์ปัจจุบันนี้แตกต่างจากโบราณ ที่มีเครื่องเล่นสมัยใหม่ เช่น กีตาร์ คีบอร์ด กลองชุดเข้ามาร่วมเล่นด้วย และเนื่องในโอกาสวันครูอยากฝากไปถึงเด็กๆ ให้เป็นคนดีของประเทศและให้ช่วยกันอนุรักษ์ศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นของภาคใด แบบใดก็ตาม และควรอนุรักษ์ให้ถึงแก่นแท้ ไม่ใช่เพียงเอาแต่เปลือกนอก เพื่อเป็นตัวอย่างไปให้กับลูกหลานสานต่อ
เหมือนดั่ง พ่อบุญลี พลคำมาก พ่อครูหนังตะลุงอีสาน (หนังบักตื้อ) หนังประโมทัย ปัจจุบันประกอบอาชีพเป็นคนร้องหนังตะลุงในคณะ ส.สำลี ประโมทัย ที่จังหวัดมหาสารคาม ขณะเดียวกันก็สวมหมวกอีกใบเป็นครูของเด็กๆ ให้กับคณะ
เพชรอีสาน โดยพ่อบุญลี เล่าว่า หนังตะลุงอีสาน มีเสน่ห์ที่การนำเสนอหนังตะลุงที่มีการเล่าโดยมีภาพประกอบที่เหมือนจริง ซึ่งเป็นการใช้หนังวัวมาทำเป็นตัวตลก ตัวสัตว์ประกอบต่างๆ โดยใช้การร้องหมอลำเป็นตัวเล่า ซึ่งเป็นการผสมผสานศิลปะของภาคใต้และอีสานรวมกัน ซึ่งพ่อครูจะใช้เวลาว่างมาสอนเด็กๆ ในพื้นที่อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย และอำเภอนาดูน จ.มหาสารคาม เพื่อถ่ายทอดความเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านส่งต่อไปยังเด็กรุ่นหลัง ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้กับพ่อครูบุญลีเป็นอย่างมาก ที่อย่างน้อยทำให้เด็กๆ กลุ่มหนึ่งได้ร่วมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยคงไว้
“ตัวครูเองก็อายุมากแล้ว ปีนี้ก็อายุ 60 ปี และศิลปวัฒนธรรมดีๆ ก็ถูกทำลายลงไปมาก พ่อครูก็อยากอนุรักษ์ของเก่าๆ เอาไว้ จึงอยากฝากไปถึงเด็กๆ สมัยใหม่ให้สานต่อสิ่งที่ดีๆ คงไว้ ไม่อยากให้สูญหายไปตามกาลเวลา ไม่ใช่ให้เก็บไว้ที่พ่อเฒ่าผู้แก่เท่านั้น ซึ่งเวลาที่เห็นเด็กได้เรียนและรับความรู้ไปจากครูแล้วนำไปแสดง ก็อดชื่นชมและดีใจแทนเด็กไม่ได้” พ่อครูบุญลีกล่าว
ด้าน อ.จำลอง บัวสุวรรณ ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาอังกฤษ ในโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ จ.เพชรบุรี และยังเป็นผู้ตั้งกลุ่มลูกหว้า และสืบสานงานสกุลช่างเมืองเพชร โดยอาจารย์จำลอง เล่าให้ฟังว่า เด็กไทยสมัยนี้มีการเรียนรู้เรื่องของความรู้ แต่ขาดจินตนาการ ซึ่งตามที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ บอกว่าจินตนาการสำคัญกว่าความรู้ ในจุดนี้จึงเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นที่เห็นความสำคัญของการมีจินตนาการ ขณะที่โรงเรียนก็มักจะสอนความรู้มากกว่าจินตนาการ จึงทำให้คิดที่จะก่อตั้งกลุ่มลูกหว้า สอนให้เด็กมีภูมิปัญญาท้องถิ่น เพราะต้องการให้เด็กมีจินตนาการมากกว่าความรู้ ซึ่งถือเป็นความจำเป็นที่ต้องทำเรื่องนี้ เพราะอาศัยทางโรงเรียนอย่างเดียวคงไม่ได้ หากสิ่งใดที่ช่วยเสริมได้ก็ควรทำ
นอกจากนี้อาจารย์จำลอง ยังฝากไปถึงการเป็นครูที่ดีว่า ขอให้ครูทำอะไรก็ตามด้วยอุดมการณ์ ไม่ทำเพื่อหวังของรางวัล เกียติยศ หรือทำเพราะเพียงคิดว่าเป็นหน้าที่ ไม่ใช่ทำเพื่อให้ถูกใจคนอื่นเท่านั้น
แม้ไม่ใช่ครูในระบบการศึกษา เป็นเพียงผู้ที่ถ่ายทอดประสบการณ์ที่บ่มเพาะมาตลอดชีวิตสู่ชนรุ่นหลัง ในฐานะครูของชาวบ้านที่ถือตำราภูมิปัญญาท้องถิ่นส่งต่อให้กับคนในชุมชน ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ไม่ต่างอะไรจาก”ครูของแผ่นดิน” เราจึงไม่ควรหลงลืมความสำคัญของท่านเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
ที่มา : สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th