“เสียงดนตรี” สะพานสู่อิสรภาพแห่งสิทธิสตรี
ส่งเสียงเรื่องสิทธิสตรี จากหัวใจกลุ่มนักดนตรีเพื่อการเรียนรู้
สิทธิและเสรีภาพที่สตรีควรได้รับคืออะไร? เป็นประเด็นที่สังคมตั้งคำถามและให้ความสำคัญมาโดยตลอด เพราะไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยไหนหรือฝั่งซีกโลกใด ทุกวินาทียังคงมีสตรีหรือเพศหญิงที่กำลังถูกกดขี่ข่มเหง คุกคาม และเอารัดเอาเปรียบมากมาย อันเป็นบ่อเกิดของความอยุติธรรม จนกลายเป็นวัฒนธรรมชั้นต่ำที่ฝังรากลึกจนไม่อาจทำลายให้สิ้นซากไปได้
ด้วยสาเหตุดังที่กล่าวมานี้ก่อเกิดเป็นแรงผลักดันให้สตรีต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ เพื่อเรียกร้อง สิทธิอันชอบธรรม และความเท่าเทียมกันในสังคมเพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้ให้ทุกคนร่วมกันแสดงออกและตระหนักถึงความเลวร้ายของปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงซึ่งอาจมาในรูปแบบการทำร้ายในครอบครัว ความรุนแรงในชีวิตคู่ และการคุมคามทางเพศ
กลุ่มเครือข่ายดนตรีเพื่อการเรียนรู้ โดยกลุ่มดนตรี Triple H และสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับแผนงานส่งเสริมสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศและภาคีเครือข่ายอีก 13 องค์กร ในนาม เครือข่ายรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง ได้ใช้โอกาสนี้จัดแสดงบริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ โดยใช้เสียง “ดนตรี” เป็นเครื่องมือในการแสดงพลังและส่งเสียงสิทธิสตรีให้ดังก้องไปถึงหัวใจของทุกคน
ในงานนี้ที่จัดขึ้น เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นวันสตรีสากลนั้น จึงได้เลือกใช้คีตกวีเป็นดนตรีบำบัด เพื่อส่งเสียงสิทธิสตรี รวมถึงปรับทัศนคติที่มีต่อสตรีให้ดีขึ้น โดย ใหม่-กนกพร อำโพธิ์ศรี สมาชิกกลุ่ม Triple H Music กล่าวถึงบทเพลง Break the Chain หรือ “ทำลายโซ่ตรวนนี้” ซึ่งเพลงหนึ่งที่ใช้ในการแสดงครั้งนี้ว่า เพลงนี้มีความหมายแสดงให้เห็นถึงพลังและคุณค่าของผู้หญิง การเคารพในสิทธิ ในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง และความมุ่งมั่นของผู้หญิงที่จะลุกขึ้นมายืนหยัดไม่ยอมถูกทำร้ายอีกต่อไป
เพลงนี้เป็นเพลงที่แต่งขึ้นสำหรับการรณรงค์ “One Billion Rising” หรือ “หนึ่งพันล้านเสียง ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง” ซึ่งเป็นการรณรงค์หยุดความรุนแรงต่อผู้หญิง ที่จัดขึ้นในประเทศต่าง ๆ กว่า 200 ประเทศทั่วโลก โดยในระดับนานาชาติ มีการจัดกิจกรรมนี้ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 แล้ว และในประเทศไทยเรา แผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ และภาคีเครือข่าย ได้จัดงานนี้เป็นปีที่ 2 แล้ว”
ทางด้าน รมีน อ่อนทอง (มีน) จากวงอมตะ ศิษย์เก่าจาก Triple H Music ปีที่ 2 นักดนตรีที่ขึ้นเล่นได้พูดถึงการมาร่วมกันเล่นดนตรีในครั้งนี้ว่า “เป็นเกียรติอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นการร่วมงานในวันสตรีสากลเป็นครั้งแรก และถึงตัวเองจะเป็นผู้ชาย ผมก็อยากเข้าร่วมสนับสนุนการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง ผมคิดว่าการพูดถึงและปฏิบัติต่อผู้หญิงก็ควรเป็นท่าทีที่ให้เกียรติไม่ใช่แค่ในฐานะทีเขาเป็นผู้หญิงแต่เป็นในฐานะของความเป็นคนไม่ใช่สิ่งของที่ไม่มีชีวิตจิตใจ”
จะเห็นได้ว่าถึงแม้ปัจจุบันสิทธิสตรีจะได้รับการพูดถึงและรับรองเพิ่มมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่สภาพความเป็นจริงผู้หญิงยังต้องเผชิญกับปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติ ถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม เป็นผู้ถูกกระทำ และเป็นเหยื่อของความรุนแรง ขาดซึ่งความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิต แม้แต่สิทธิในชีวิต จิตใจ และร่างกาย ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งก็ยังไม่ได้รับการคุ้มครอง
ในงานนี้จึงมอบหน้าที่ให้กับ “เสียงดนตรี” เป็นเบื้องหลังในการเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้ของสิทธิสตรี ให้เสียงดนตรี เป็นตัวแทนของทุกกระบอกเสียง และจุดประกายให้ทุกฝ่ายในสังคมร่วมกันแก้ไข สร้างความเสมอภาคระหว่างเพศ รวมถึงสตรีเองก็ควรเห็นศักยภาพของตนเองเทียบเท่าเพศชาย และที่สำคัญที่สุดคือภาครัฐ ที่ควรต้องมาดูแลสนใจและเอาใจใส่ในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง เพื่อสังคมที่เท่าเทียมและสันติสืบไป
ที่มา : สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส.
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต