เสียงจากใบปริญญา

ที่มา : เว็บไซต์ความสุขประเทศไทย


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ความสุขประเทศไทย


เสียงจากใบปริญญา thaihealth


เชื่อว่าวันที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เป็นวันที่เกือบทุกคนรู้สึกได้ถึงความสำเร็จขั้นแรกในชีวิต วันรับปริญญาเป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่บอกว่า เรากำลังก้าวข้ามจากเด็กคนหนึ่งไปเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว แต่หลังจากวันรับปริญญาแล้ว ใบปริญญาของพวกเราไปอยู่เสียที่ไหน?


“แปะอยู่บนฝาบ้าน” หลายคนตอบปนรอยยิ้ม เคล้าเสียงหัวเราะอยู่ในที


แปลกดีที่สิ่งที่เราทุ่มเทเพื่อให้ได้มา ท้ายสุดกลับกลายเป็นเพียงกระดาษติดอยู่บนฝาบ้าน ภาระหน้าที่ในชีวิตประจำวัน ทำให้เราแทบไม่เคยเหลียวกลับไปมอง จนหลายคนอาจลืมไปแล้วว่าเคยตื่นเต้นภาคภูมิใจตอนที่ได้รับมันมามากแค่ไหน ยิ่งหลายคนเรียนเยอะจนได้หลายใบ ใบปริญญาก็แทบกลายเป็นกระดาษแผ่นหนึ่งที่ความหมายน้อยลงทุกที


วันนี้ลองชวนมาคิดเล่นๆ ว่าถ้าใบปริญญาเป็นคนที่พูดได้ เขาจะพูดกับเราว่าอะไร?


“……………………………………………………………..”


“……………………………………………………………..”


คงมีถ้อยคำมากมายที่ใบปริญญาอยากจะบอกกับคุณ และถ้าคุณไม่หลอกตัวเองจนเกินไป หนึ่งในข้อความที่ใบปริญญาอยากถามคุณ เขาคงอยากรู้ว่าคุณได้ใช้ความรู้ความสามารถจากปริญญาที่ได้รับ ไปทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นมากน้อยแค่ไหน?


เหมือนดังที่ใบปริญญาได้ส่งเสียงกับเหล่าว่าที่บัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล ในงานซ้อมรับพระราชทานปริญญาบัตรที่ผ่านมา (ชมคลิป https://www.facebook.com/happinessisthailand/videos/1013693342086639/) ใบปริญญาไม่เพียงส่งเสียงกับเหล่าว่าที่บัณฑิต แต่ยังสะท้อนก้องไปถึงทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของมหาวิทยาลัยมหิดล ให้ลุกขึ้นมาสืบต่อปณิธาน “ปัญญาของแผ่นดิน” ด้วยการรวมพลังศรัทธาแห่งความรู้ ความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ เพื่อประกาศเจตนารมณ์ความหมายใหม่เนื่องใน ‘วันมหิดล’ อย่างพร้อมเพรียงกันในโครงการ Mahidol Day of Service


โครงการ Mahidol Day of Service คือการรวมพลังกันของชาวมหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน บุคลากร อาจารย์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ทั้งในประเทศไทยและทั่วทุกมุมโลก ด้วยการออกมาทำกิจกรรมจิตอาสา แสดงพลังแห่งการทำความดีอย่างพร้อมเพรียงกันเนื่องใน ‘วันมหิดล 24 กันยายน 2559′


เสียงจากใบปริญญา thaihealthในวันนั้น ชาวมหิดลกว่าสองแสนคนจะออกมาทำกิจกรรมความดีในรูปแบบของตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องเป็นกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่ ซับซ้อน อาจเป็นเพียงกิจกรรมจิตอาสาเล็กๆ ที่สามารถทำได้ง่ายใกล้ๆ ตัว เช่น การทำอาหารให้คนที่คุณรัก การให้เวลากับคนในครอบครัว ติวหนังสือให้เด็กข้างบ้าน ลดค่าบริการบางอย่างในขอบเขตของงานที่รับผิดชอบ ฯลฯ จากนั้นถ่ายภาพประทับใจแล้วแชร์ลงในโซเชียลมีเดียที่ชื่นชอบ ติดแฮชแท็ก #Mahidol Day of Service #วันมหิดล และ #ตัวอักษรย่อคณะ รุ่น หน่วยงานของตัวเอง เพื่อเป็นการแสดงพลังแห่งความดีครั้งนี้ร่วมกัน


 “อยากเชิญชวนพี่น้องศิษย์เก่า ศิษย์ใหม่ทั้งหลายมาช่วยกัน มาร่วมมือกัน” พล.ต.อ.น.พ.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวเชิญชวนชาวมหิดลเข้าร่วมกิจกรรม “การเรียนรู้ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการเรียนรู้ คือการที่ได้นำประโยชน์หรือคุณค่าที่ได้จากการเรียนรู้ไปทำประโยชน์กับสังคม กับมนุษยชาติ เป็นโครงการที่พวกเราทุกคนที่เป็นศิษย์เก่า พยายามที่จะใช้เวลาส่วนหนึ่งของเรามาทำประโยชน์ให้แก่สังคมและชาวโลก”


เพราะใบปริญญาไม่ใช่แค่กระดาษติดฝาบ้าน และ ‘ปัญญา’ ไม่ได้มีความหมายแค่ความรู้ แต่ยังหมายถึงความกล้า ความศรัทธา จิตวิญญาณความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ สังคม และโลกใบนี้ การแสดงพลังของชาวมหิดลในกิจกรรม Mahidol Day of Service จึงเป็นเหมือนการประกาศให้สังคมได้รู้ถึงการใช้ ‘ปัญญา’ นำพา ‘ความสุข’ ซึ่งเป็นความสุขจากการได้ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นอย่างแท้จริง


“เราไม่ต้องการเห็นแค่นักศึกษามาเรียนจบแล้วได้ปริญญาไป” ศ.คลินิก นพ. อุดม คชินทร อธิการบดีเสียงจากใบปริญญา thaihealthมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงนัยสำคัญที่แฝงอยู่ในกิจกรรม “แต่สิ่งสำคัญคือต้องเอาความรู้นั้นไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่มนุษยชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่สมเด็จพระราชบิดาทรงเน้นย้ำกับเราตลอดว่า เรียนแล้วจะต้องเอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ที่น้อย หรือประโยชน์ที่มากในระดับชุมชนสังคมก็แล้วแต่”


โครงการ Mahidol Day of Service เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยมหิดลและธนาคารจิตอาสา ภายใต้โครงการวิถีสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งสนับสนุนโดย สสส.  ถึงตอนนี้เข้าช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเริ่มกิจกรรม Mahidol Day of Service แล้ว กระแสของกิจกรรมได้เริ่มจุดประกายให้นักศึกษา คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ภายในมหาวิทยาลัย ต่างลุกขึ้นมาคิดสร้างสรรค์ทำงานจิตอาสาเพื่อผู้อื่นกันอย่างคึกคัก หลายคนเปลี่ยนเวลาว่างจากการนอนเล่นรอเวลาเรียนในหอพัก มาทำงานจิตอาสาเพื่อผู้อื่น ขณะที่อีกหลายคนเมื่อได้สัมผัสกับความสุขจากการทำความดีเพื่อผู้อื่น ก็เริ่มบอกต่อและชักชวนเพื่อนๆ ให้เริ่มทำบ้าง กลายเป็นวงจรของการทำความดีที่ทอดยาวออกไปไม่สิ้นสุด


และสำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นทำอะไรดี มหาวิทยาลัยมหิดลได้เปิดพื้นที่ให้ผู้สนใจ ไม่ว่าคุณจะเป็นชาวมหาวิทยาลัยมหิดลหรือไม่ก็ตาม สามารถเข้าไปร่วมค้นหาหรือแชร์ไอเดียสร้างสรรค์การทำความดีในรูปแบบต่างๆ ร่วมกันได้ที่ www.mahidol.ac.th/dayofservice


และเมื่อถึง ‘วันมหิดล’ เราจะมาร่วมแสดง และเป็นประจักษ์พยานแห่งพลังความดีพร้อมกัน !


 

Shares:
QR Code :
QR Code