เสวนา ‘ปัญหาลานเบียร์’

ที่มา : เว็บไซต์คมชัดลึก


ภาพประกอบจากเว็บไซต์คมชัดลึก


เสวนา 'ปัญหาลานเบียร์' thaihealth


"ลานเบียร์"เกลื่อนเมือง อายุไม่ถึง 20 ปีผ่านเข้าฉลุย


เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2560 เวลา10.00 น.ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ในเวทีเสวนา “มองรอบด้าน…ลานเบียร์กับสังคมไทย” จัดโดย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) ร่วมกับ เครือข่ายนักวิชาการเฝ้าระวังปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ลอยสมุทร อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะเครือข่ายนักวิชาการเฝ้าระวังปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เปิดเผยถึงงานวิจัย “การศึกษาผลกระทบที่เกิดจากปรากฏการณ์ลานเบียร์และกลยุทธ์ประเภทดื่มไม่อั้นของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” สนับสนุนโดย สสส.และศูนย์วิจัยปัญหาสุรา รวบรวมตั้งแต่ปี 2558-ปัจจุบัน พบว่า กลุ่มตัวอย่างนักเรียนมัธยมปลาย 1 ใน 3 หรือ 34% เคยไปลานเบียร์ และแม้ว่าอายุยังไม่ถึง 20 ปี ก็เข้าลานเบียร์ได้


ขณะเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างสูงถึง 80.2% ต้องการไปลานเบียร์ใหญ่ๆ ส่วนแรงจูงใจที่ไป คือ ต้องการสังสรรค์ อยากสนุกสนานบันเทิง อยากตามกระแสสังคมปีใหม่ต้องเค้าดาวท์ ที่น่าห่วง คือ23.4% พบเห็นลานเบียร์แถวโรงเรียน และยังพบเห็นได้ตามหน้าห้างชานเมือง 31.2% เทศกาลอาหาร 25% ตามcommunity mall ถนนคนเดิน และตลาดนัด ที่สำคัญคือ ลานเบียร์ทุกแห่งเข้าถึงง่าย สะดวก เจ้าหน้าที่ให้เข้าใช้บริการโดยไม่ต้องตรวจบัตรประชาชน หรือจะตรวจก็ทำพอเป็นพิธี


สำหรับผลกระทบจากการไปลานเบียร์ 45.5% เมา 44.9% เสียเงินมากกว่าที่คิด 3.4% ทะเลาะวิวาท 1.7% อุบัติเหตุ 4.5% ถูกพ่อแม่ต่อว่า ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบการไปลานเบียร์ระหว่างนักเรียนมัธยมและนักศึกษามหาวิทยาลัย สิ่งที่เหมือนกัน คือ ดื่มมากกว่าปกติ และมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ทั้งยังเสี่ยงต่อการเมาแล้วขับ น่าตกใจว่าเด็กมัธยมก็เข้าถึงลานเบียร์กันแล้ว


“ลานเบียร์ คือ ช่องทางการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ง่ายดาย ประกอบกับความบันเทิง ทำให้เกิดการดื่มที่มากขึ้น และลานเบียร์หลายๆ แห่ง ไม่ตรวจบัตรประชาชน ลานเบียร์หลายแห่งเปิดรวมกับลานอาหาร ตลาดนัด ถนนคนเดิน ฯลฯ เราจะเห็นครอบครัวนั่งดื่มเบียร์พร้อมกับรับประทานอาหารในลานเบียร์ประเภทที่เปิดรวมกับลานอาหารหรือเทศกาลอาหาร ซึ่งเท่ากับตอกย้ำเรื่องการดื่มให้กับเยาวชน ลานเบียร์บางแห่งก็ไปเปิดในลานหรือที่ว่างใกล้สถานศึกษา หรือในศาสนสถาน ซึ่งทั้งไม่เหมาะสมและเร่งการเข้าถึงของกลุ่มครอบครัวและเยาวชน อยากฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาเรื่องการออกใบอนุญาตลานเบียร์เหล่านี้ รวมไปถึงการเปิดใกล้สถานศึกษา ใกล้ศาสนสถาน หรือเปิดกลางชุมชน”  ดร.ศรีรัช กล่าว


ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผอ.สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า ลานเบียร์เปรียบเหมือนการทำการตลาดสีเทา มอมเมาและหลบเลี่ยงกฎหมาย เป็นแหล่งเพาะคนเมาออกไปสู่ท้องถนน ปกติร้านเหล้าผับบาร์ผลิตคนเมาเยอะอยู่แล้ว แต่ปีใหม่นี้ยิ่งมีลานเบียร์เพิ่มเข้ามาอีกมากจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาเมาแล้วขับขึ้นอีกเท่าตัว ซึ่งธุรกิจน้ำเมาพยายามทุ่มเทอีเว้นท์นี้ โหมทำการตลาดอย่างเต็มที่ เด็กและเยาวชนเข้าสู่วงจรเร็วขึ้น แม้มีการติดป้ายเตือน แต่เอาเข้าจริงก็ทำแบบรูปหน้าปะจมูก ทำเพียงพิธีกรรม ที่แย่ไปกว่านั้นเมื่อมีความผิดเกิดขึ้นธุรกิจน้ำเมาก็ทำเหมือนไม่มีตัวตน ไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น และมักจะโยนความผิดให้ผู้บริโภค ขณะเดียวกันภาครัฐทำงานเตะกับเรื่องนี้น้อยมาก แก้ปัญหา ไม่ถูกจุด วนเวียนกันอยู่แบบนี้


“ถึงที่สุดแล้ว ลานเบียร์ก็ยังหมิ่นเหม่ว่าเข้าข่ายความผิดหรือไม่ เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนห้ามส่งเสริมการขาย ห้ามสื่อสารการตลาด ยิ่งปีใหม่นี้คนดื่มกินมากขึ้น อุบัติเหตุเพิ่มเท่าตัว กฎกติกาหลายอย่างดูคลายลง ขณะเดียวกันธุรกิจมองเป็นโอกาส สร้างคนกินคนดื่มโดยไม่มีการรับผิดชอบ อยากฝากว่า ขายน้ำเมาให้อยู่ในร่องในรอยตามกฎกติกา อย่าผลักภาระโยนความผิดให้ผู้ดื่ม ที่สำคัญขอให้หยุดความพยายามขอแก้กฎหมายเพียงเพื่อให้ขายได้อย่างเสรีมากขึ้น"ภก.สงกรานต์กล่าว


ภก.สงกรานต์ กล่าวอีกว่า ส่วนรัฐเองก็ไม่ควรผ่อนปรนแม้ปีใหม่จะเป็นโอกาสพิเศษ เพราจะได้ไม่คุ้มเสีย บรรดาเจ้าหน้าเองต้องไม่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วย อย่างไรก็ตามหากเชื่อมโยงกรณีเมาแล้วขับที่ตรวจพบปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็น เจ้าหน้าที่ก็ควรตามไปให้ถึงร้านเหล้าหรือลานเบียร์ที่ขายให้ด้วย เพราะเข้าข่ายขายให้คนเมาครองสติไม่ได้ โดยไม่ต้องตีความใดๆเลย ซึ่งบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ หากทำเรื่องนี้ได้จริงเชื่อว่าปัญหาคนเมาแล้วขับมาจากร้านเหล้าลานเบียร์จะลดลง คนขายเหล้าเบียร์จะระมัดระวังและทำตามกฎหมายมากขึ้น


ขณะที่ นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามองค์ประกอบแล้วลานเบียร์ไม่ควรมีเสียด้วยซ้ำ เพราะไม่ต่างจากการส่งเสริมการขาย ทำการตลาด หรืออีเว้นท์มาร์เก็ตติ้ง อีกทั้งยังอาจยังเข้าข่ายความผิดโดยสภาพ ตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งต้องตรวจสอบดูทั้ง การจัดตั้งจุดจำหน่าย สถานที่ ขายให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า20ปี ขายให้คนเมาครองสติไม่ได้มีการจัดโชว์ตราสัญลักษณ์ และจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายหรือไม่ ซึ่งจากการลงพื้นที่ พบว่าละเมิดกฎหมายมาตรา32มากที่สุด ฐานความผิดโทษจำคุก1ปี ปรับ5แสนบาท ปรับรายวัน5หมื่นบาทจนกว่าจะปฏิบัติถูกต้อง


“เอาเข้าจริงลานเบียร์ไม่ได้ตรวจเข้มงวดขนาดนั้น ทำให้กลายเป็นปัญหาอุบัติเหตุ เมาแล้วขับ เสียชีวิตบาดเจ็บพิการ และสำหรับมาตรการที่ทางสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บังคับใช้ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่นี้คือ อาศัยความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สำนักงานโรคไม่ติดต่อ และภาคีเครือข่ายฯ ร่วมตรวจสอบเฝ้าระวังแจ้งเบาะแส เน้นย้ำ ห้ามขายนอกเวลา ห้ามขายให้เด็ก คนเมา กำหนดควบคุมสถานที่ขาย ที่สำคัญห้ามการจัดโปรโมชั่นกระตุ้นการขาย และอยากฝากไปยังภาคธุรกิจให้เคารพกฎหมายด้วย” นพ.นิพนธ์ กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code