เสวนาร่างกฎหมายอุ้มบุญเลือกปฏิบัติ
นักวิชาการ เสวนาร่างกฎหมายอุ้มบุญเลือกปฏิบัติ สร้างความไม่เท่าเทียม คนหลากหลายเพศหมดสิทธิ์ใช้ ระดมสมองจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย แนะปรับความคิดใหม่ให้ทันยุค เปิดกว้างมิติครอบครัว-คู่ชีวิต ระบุ สังคมไม่ได้มีแค่สองเพศ
เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ รร.รอยัลริเวอร์ ในงานเสวนา “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์: กฏหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ” น.ส.นัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร กล่าวว่า แค่ชื่อร่าง พ.ร.บ.ก็แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ว่า เพื่อคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์เท่านั้น ทั้งที่มีผู้ได้รับผลกระทบอีกมาก โดยเฉพาะผู้หญิงที่รับตั้งครรภ์ ซึ่งหากไม่มีคนนี้จะไม่สามารถพัฒนาการเทคโนโลยี และทำให้เกิดชีวิตใหม่ขึ้นได้ เมื่อดูเนื้อหาร่างกฎหมายยิ่งเห็นชัดว่ามีการเลือกปฏิบัติกับผู้หญิงที่รับตั้งครรภ์ เพราะไม่มีนิติสัมพันธ์ทางกฎหมายกับเด็กที่เกิดมาเลย และไม่ถูกให้ความสำคัญในเชิงจิตวิญญาณสายสัมพันธ์ของความเป็นมนุษย์ ขณะที่กลุ่มหลากหลายทางเพศ ถูกเลือกปฏิบัติ เพราะกำหนดไว้ว่า การดำเนินการให้ตั้งครรภ์แทน ทำได้ 2 วิธีคือ 1.ใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิและไข่ของสามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น และ 2.ห้ามใช้ไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์ ดังนั้นกลุ่มคนหลากหลายทางเพศจะไม่มีโอกาสใช้เทคโนโลยีนี้ จึงถือเป็นการออกกฎหมายที่ไม่สามารถทำให้ประชาชนทุกคนใช้สิทธิได้อย่างเท่าเทียม
“เรื่องนี้เป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่กระทบหลายฝ่าย ดังนั้น ต้องรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบ ก่อนนำร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาในขั้นตอนต่อๆ ไป ทั้งนี้ส่วนตัวไม่ได้คิดว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่คิดว่าโลกมันหมุนไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้น เราจึงต้องเปิดพื้นที่ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และให้ข้อมูลความคิดเห็นต่างๆ ด้วย เพราะเท่าที่ทราบเรื่องนี้จะรู้กันเฉพาะหน่วยงานที่ทำงานด้านสิทธิเด็ก และด้านการแพทย์เท่านั้น ทั้งที่ความจริงแล้วควรต้องให้หน่วยงานที่ทำงานด้านสตรีเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน” น.ส.นัยนา กล่าว
รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการพิจารณารายละเอียดของร่าง พ.ร.บ. พบว่า ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของผู้จัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้คือ ยังเข้าใจคำว่าครอบครัวต้องเป็นเรื่องชายหญิงคู่สามีภรรยาเท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในโลกปัจจุบัน เพราะทุกวันนี้ระบบครอบครัวเปลี่ยนไปแล้ว มีคู่รักเพศเดียวกันด้วย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ร่างกฎหมายฉบับนี้จะส่งผลกระทบต่อคนกลุ่มนี้ค่อนข้างมาก ทั้งที่ขณะนี้กำลังมีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับภาคประชาชน ซึ่งเปิดกว้างเรื่องการจดทะเบียนสมรส และยอมรับการใช้ชีวิตคู่ของคู่รักเพศเดียวกัน ดังนั้นผู้ที่จัดทำร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯ ต้องคำนึงถึงมิติครอบครัว หรือคู่ชีวิตที่กว้างขวางไปจากเดิม นอกจากนี้ บุคคลหรือองค์กรที่จะกำกับดูแลเรื่องนี้ ก็ต้องเป็นผู้ที่มีความเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงด้วย
น.ส.ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า ปัจจุบันมีคู่ชีวิตเพศเดียวกันจำนวนมากที่ใช้ชีวิตร่วมกันเป็นครอบครัวเช่นคู่ชายหญิงทั่วไป และมีความพร้อมมีบุตร ทั้งการขอรับอุปการะเด็กกำพร้าเป็นบุตรบุญธรรม และใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ซึ่งการขอรับอุปการะบุตรบุญธรรม สามารถทำได้ตาม พ.ร.บ.การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ.2522 แต่การใช้เทคโนโลยีฯ ยังไม่มีกฎหมายรองรับ ขณะที่รายละเอียดในร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ… ไม่ได้ช่วยสนับสนุนให้เกิดครอบครัวที่มีความหลากหลายตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม กลับกีดกัน เลือกปฏิบัติต่อกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ ซึ่งการเสวนาวันนี้ จะสะท้อนปัญหา และข้อเสนอแนะต่างๆ และจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เสนอต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้ต่อไป
ที่มา : มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ