เสริมเขี้ยวเล็บนักข่าวฝึกทักษะ CPR

ที่มา : หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย 


ภาพประกอบจากเว็บไซต์เดลินิวส์


เสริมเขี้ยวเล็บนักข่าวฝึกทักษะ CPR thaihealth


สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ จับมือ ศูนย์กู้ชีพนเรนทร ฝึกเสริมทักษะช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ให้สื่อมวลชน เพื่อรับมือกรณีฉุกเฉิน ชี้ช่วยเพิ่มอัตรารอดชีวิตถึง 3 เท่า พร้อมเปิดประสบการณ์พลเมืองดี นาทีวิกฤตช่วยชีวิตคนหัวใจหยุดเต้นสำเร็จ


ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ปาร์ค สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ร่วมกับศูนย์กู้ชีพ นเรนทร รพ.ราชวิถี จัดเสริมทักษะการปั๊มหัวใจ(CPR) และสอนเทคนิควิธีเอาตัวรอดเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ ให้กับสื่อมวลชน ภายใต้โครงการส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


พญ.ณธิดา สุเมธโชติเมธา กลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.ราชวิถี กล่าวว่า การเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันมีแนวโน้มพบได้บ่อยขึ้น ทั้งอัตราป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ และจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งผู้ที่เข้ารับการรักษาอาการเจ็บหน้าอกและกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมีจำนวนมากดังนั้น การช่วยชีวิตเบื้องต้น หรือ CPR จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว และสำคัญอย่างมากสะท้อนได้จากข้อมูลของสมาคมหัวใจอเมริกัน (American Heart Association:AHA) พบว่า การทำ CPR อย่างถูกวิธีสามารถช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้ถึง 3 เท่า


"การนำสื่อมวลชนมาฝึกทักษะการปั๊มหัวใจในครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นให้เห็นความสำคัญ และขยายบอกต่อไปในวงกว้าง โดยขั้นตอนที่ถูกต้อง คือ เมื่อพบผู้ป่วยหมดสติ ให้มองบริเวณรอบๆ ว่าปลอดภัยหรือไม่ หากปลอดภัยจึงเข้าไปแตะต้องผู้ป่วยได้ จากนั้นปลุกเรียกผู้ป่วย ถ้าไม่ตื่น ต้องโทรเรียกรถพยาบาล 1669 ทันที ให้ตรวจดูว่าผู้ป่วยยังหายใจหรือไม่ โดยตรวจดูที่หน้าอกหรือท้อง หากไม่มีการขยับหรือเคลื่อนตัว หรือหายใจเฮือกๆ ให้ทำ CPR ทันที" พญ.ณธิดา กล่าว


นพ.อรุณ วิทยะศุภร นายแพทย์เกษียณ ผู้มีประสบการณ์ในการทำซีพีอาร์เพื่อช่วยเหลือชีวิตลูกของตนเอง กล่าวว่า ย้อนไปวันที่เกิดเหตุการณ์ ขณะอยู่ในรถและลูกนั่งอยู่ข้างๆ พอหันไปดู พบว่า ลูกเงียบผิดปกติ และพบว่ามีอาการหมดสติ ในทางการแพทย์เห็นแล้วว่าขาดอากาศหายใจ มือไม้บิด สิ่งแรกที่ทำได้คือการทุบหน้าอกเพื่อให้เกิดแรงกระแทกส่งไปที่หัวใจ หลังจากนั้นพยายามนำรถจอดข้างทางเพื่อทำ CPR ระหว่างนั้นตนเห็นคนถือโทรศัพท์ จึงร้องขอให้โทรไปที่ 1669 และได้รถฉุกเฉินของเอราวัณที่ผ่านมาให้ความช่วยเหลือ เหตุการณ์วันนั้นจึงผ่านมาได้ด้วยดี ซึ่งอาการของลูกเกิดจากหัวใจห้องล่างสามารถทำงานเพียงห้องเดียว ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ


นพ.อรุณ กล่าว่า หากพบผู้ป่วยหยุดหายใจการช่วยเหลือที่รวดเร็วจะช่วยผู้ป่วยได้มาก เพราะช่วงเวลา 4-5 นาทีอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือมีผลกระทบต่อสมองได้ ดังนั้นการเรียนรู้ฝึกทักษะช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินจึงควรฝึกตั้งแต่เด็กเล็กเพื่อให้รู้ว่าอย่างนี้ คือ CPR  และฝึกสอนต่อเนื่อง เมื่อเกิดเหตุการณ์จริงเขาจะรู้ว่าควรทำอย่างไร เหมือนกับประเทศญี่ปุ่นที่ฝึกให้คนทุกวัยเรียนรู้วิธีเอาตัวรอดจากแผ่นดินไหว และควรอยู่ในหลักสูตรการศึกษา โดยอาจขอความร่วมมือจากบุคลากรด้านสาธารณสุขเข้ามาฝึกสอน ตามความเหมาะสม


ขณะที่ นายเกรียงไกร ล้ำเลิศปัญญา นักธุรกิจ และนักศึกษาหลักสูตรชั้นสูงการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน รุ่น 17 สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า โดยปกติตนเองจะออกกำลังกายด้วยการจ๊อกกิ้งในสวนสาธารณะเป็นประจำอยู่แล้ว และเคยประสบเหตุการณ์เจอผู้ที่มาออกกำลังกายเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นมาแล้วถึง 5 ครั้ง แต่ใน 4 ครั้งที่ผ่านมาตนไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยเพราะเนื่องจากว่าไม่มีความรู้ในเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยเฉพาะการทำ CPR แต่ครั้งที่ 5 ตนมีโอกาสได้ทำ CPR ให้ผู้ป่วย เนื่องจากก่อนที่จะเกิดหตุตนได้เข้าร่วมการฝึกอบรมการปฐมพยาบาลรวมทั้งการทำ CPR ที่ จ.ลพบุรี มาแล้ว จึงมีความมั่นใจที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย และให้คนรอบข้างช่วยโทรเรียกรถพยาบาล ซึ่งในระหว่างนั้นก็ได้มีการพูดสายกับเจ้าหน้าที่ตลอดจนรถพยาบาลมารับ


"การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับคนทุกวัย  แต่ในเด็กเล็กอาจจะไม่มีแรงมากพอในการทำ CPR แต่การเรียนรู้จะทำให้เขามีทักษะในการกู้ชีพฉุกเฉินเมื่อโตขึ้น จึงอยากให้ กทม.ที่เป็นเจ้าของพื้นที่สวนสาธารณะหลายแห่ง จัดอบรมและฝึกทักษะให้กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย(รปภ.) ถึงแม้ว่า รปภ.ที่จ้างมาจะเป็นบริษัท outsource ก็ตาม เพราะที่ผ่านมา ส่วนมาก รปภ.ในสวนสาธารณะไม่มีความรู้หรือทักษะการทำ CPR เลย หรือมีข้อแม้เลยว่า รปภ.ที่จะมาทำหน้าที่ที่สวนสาธารณะควรมีความรู้ในเรื่องดังกล่าว เพราะสวนสาธารณะเป็นสถานที่ที่คนมาออกกำลังกายจำนวนมาก มีโอกาสที่จะเจอผู้ป่วยฉุกเฉินเหมือนกับที่ ตนเองเคยเจอมาแล้วถึง 5 ครั้ง" นายเกรียงไกร กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code