เสริมศักยภาพความปลอดภัยทางถนน จ.อุดรฯ
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน หนุนเสริมศักยภาพด้านการจัดการเชิงผลลัพธ์ในการขับเคลื่อนกลไกลศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ และท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี
เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 61 ที่ห้องประชุมร่มโพธิ์ทอง 1 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี นายธนพล จันทรนิมิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานการประชุมให้ข้อคิดเห็นแนวทางการพัฒนากลไกลศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ และท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี โดยมีคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนระดับอำเภอ อาทิ ปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบงานอุบัติเหตุทางถนน ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธร หรือผู้แทน ท้องถิ่นอำเภอ ผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอที่รับผิดชอบงานอุบัติเหตุทางถนน และผู้รับผิดชอบงานอุบัติเหตุทางถนน โรงพยาบาลจาก 20 อำเภอ ร่วมประชุมรวม 130 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสื่อกรอบแนวคิดการพัฒนากลไกศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนระดับอำเภอ เพื่อชี้แจงเป้าหมาย กระบวนการดำเนินงาน ผลลัพธ์ ตัวชี้วัด รวมทั้งเงื่อนไขในการดำเนินงานให้กับคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนระดับอำเภอในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี
นายแพทย์ ปิยวัตร ตุงคโสภา รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากการรวบรวมของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ถึง 13 กันยายน 2561 เกิดอุบัติเหตุทางถนน 14,511 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 17,533 คน เสียชีวิต 366 คน คิดเป็นร้อยละ 23.63 ต่อแสนประชากร หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีงบประมาณ 2560 พบว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตลดลง 103 คน อันเนื่องมาจากการขับเคลื่อนการดำเนินงานโดยใช้ข้อมูลที่มีคุณภาพ และมีการคืนข้อมูลให้พื้นที่รับทราบ มีการประชาคมหมู่บ้าน ชุมชน ทำให้เกิดความเข้มแข็งของการทำงาน มีการจัดการแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนระดับพื้นที่ตลอดทั้งปี
ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน และมูลนิธินโยบายถนนปลอดภัยได้ดำเนินการจัดทำโครงการพัฒนากลไกศูนย์ปฎิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอของพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ อุดรธานี นครสวรรค์ สระแก้ว และน่าน โดยมุ่งเน้นในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินงานการจัดกลไกความปลอดภัยระดับพื้นที่ มุ่งหนุนเสริมศักยภาพด้านการจัดการเชิงผลลัพธ์ของคณะกรรมการ อนุคณะอนุกรรมการ ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนระดับอำเภอและท้องถิ่น ให้มีการขับเคลื่อนงานเชิงกลไกได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งมีการพัฒนาศักยภาพของคณะกรรมการ ให้มีความสามารถในการปฏิบัติ การสนับสนุน เสริมพลังการทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี รวมทั้งเป็นพี่น้องทางวิชาการในการหนุนเสริมการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนระดับท้องถิ่นทุกพื้นที่