เสริมวัคซีนใจ สร้างต้นทุนชีวิตเด็ก

สร้างรากฐานสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่ดี

 

             ต้นทุนชีวิตลูก คือสิ่งที่พ่อ แม่ ผู้ปกครอง หรือคนรอบข้างต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะนั่นเปรียบเสมือน รากฐานของการเจริญเติบโตให้เด็กในวันนี้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้า ได้อย่างมั่นคงนั่นเอง

 

             แต่ทว่าปัจจุบันหลายครอบครัวกลับมีข้ออ้างให้กับตัวเองต่างๆ นานา จนละเลยให้ความอบอุ่น เลี้ยงดู สั่งสอน หรืออบรมลูก แต่กลับให้ความสำคัญกับการทำงานหาเลี้ยงครอบครัว จนเผลอทำลายต้นทุนชีวิตของลูกไปโดยไม่รู้ตัว ล่าสุดมีการเก็บข้อมูลผ่านแบบทดสอบต้นทุนชีวิตของเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 12-25 ปี จำนวน 20,892 ตัวอย่าง ใน 18 จังหวัดของแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน พบว่า ต้นทุนชีวิตที่ขาดหายไปของเด็กไทยมีอยู่ 4 ด้าน คือ ขาดทักษะการเป็นผู้ให้ ขาดการร่วมกิจกรรมทางศาสนา ขาดการสะท้อนคุณค่าของเด็กๆ ในชุมชน และยอมรับการไม่พูดความจริง ซึ่งต้นทุนชีวิตที่ขาดเหล่านี้ สามารถสร้างขึ้นได้ ถ้าเพียงแต่พ่อแม่ใส่ใจปลูกฝังให้กับลูกน้อย ในช่วงแรกเกิด จนถึงห้าปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการการเจริญเติบโต และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หากพ่อแม่ช่วยกันฉีดวัคซีนใจให้กับลูกน้อย เขาก็จะเติบโตขึ้นโดยมีต้นทุนชีวิตที่ดีได้

 

เสริมวัคซีนใจ สร้างต้นทุนชีวิตเด็ก

 

           โดยในช่วงวัยแรกเกิด 6 เดือน พ่อแม่สามารถฉีดวัคซีนใจให้แก่ลูกน้อยได้ โดยการมอบความรักความอบอุ่น พ่อแม่ควรจะสัมผัส และอุ้มลูกน้อยอย่างนุ่มนวล พร้อมโอบกอดเอาไว้แนบอก เพื่อให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นหนึ่งเดียวกันกับพ่อแม่ จากนั้นให้ลูบหลังเบาๆ ให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและเป็นสุข แต่ไม่ควรรัดแน่นจนเกินไป เพราะอาจทำให้ลูกรู้สึกอึดอัดและหายใจไม่ออกได้ และเมื่อลูกร้องไห้ พ่อแม่ควรอุ้มขึ้นมาปลอบโยนทุกครั้ง ถ้ายังอุ้มไม่ได้ในทันที ก็ให้ส่งเสียงปลอบก่อนแล้วค่อยค้นหาสาเหตุว่าลูกร้องเพราะสาเหตุใด

 

           นอกจากนี้ พ่อแม่ควรพยายามหาเวลาเล่นกับลูกทุกวัน หยอกล้อ พูดคุย อุ้มและโยกตัวไปมา หรือเอามือเขี่ยที่ฝ่ามือ-ฝ่าเท้าของลูก เพื่อกระตุ้นความรู้สึกและการรับรู้ เมื่อลูกเริ่มเล่นเสียง พ่อแม่ก็ลองใช้มือวางทาบไปที่ปากของลูก พร้อมกับชักออกให้เกิดเสียง ว๊าว…ว๊าว…จะทำให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องเสียงอย่างสนุกสนาน

 

            เมื่อลูกมีอายุอยู่ในช่วง 6 เดือน 1 ปี เขาจะเริ่มเกิดความรู้สึกกลัวได้ง่าย ดังนั้น เมื่อลูกร้องไห้ ตกใจ หรือกลัวคนแปลกหน้า พ่อแม่ควรดึงลูกมาอุ้มหรือกอดไว้ และตบหลังเบาๆ พร้อมกับปลอบใจว่าไม่เป็นไร ไม่ต้องกลัว ไม่มีอะไร แล้วค่อยๆ หันหน้าลูกออกให้เห็นว่า จริงๆ แล้วไม่มีอะไรน่ากลัว นอกจากนี้ในช่วงวัยนี้ลูกจะเริ่มหยิบจับอะไรด้วยตัวเองมากขึ้น อาทิ จับขวดนมเอง หยิบของใส่ปาก ใช้หลอดดูดน้ำ พ่อแม่ควรปล่อยให้ลูกลองผิดลองถูกบ้าง และเฝ้ามองเขาอย่างใกล้ชิด

            เพื่อฝึกให้ลูกรู้จักการรอคอย อดทน อดกลั้น เมื่อลูกรู้สึกหิว พ่อแม่ควรพูดคุย หรือส่งเสียงให้ลูกรู้ว่า พ่อแม่อยู่ใกล้ๆ และกำลังทำอะไรอยู่ เขาก็จะเรียนรู้ว่าแม่กำลังทำอาหารให้ รออีกสักครู่ก็จะได้กิน หรือขณะที่แม่กำลังทำงานบ้านอยู่ แต่ลูกอยากให้แม่มาเล่นด้วย แม่ควรทำงานบ้านตรงหน้าให้เสร็จลุล่วงไปก่อนจึงมาเล่นกับลูกได้ เพื่อให้ลูกเกิดการเรียนรู้ว่า แม่กำลังทำงาน ต้องรอแม่อีกสักพัก แม่ก็จะมาหา

 

เสริมวัคซีนใจ สร้างต้นทุนชีวิตเด็ก

 

             เข้าสู่ช่วงอายุ 1 2 ปี พ่อแม่ควรสร้างโอกาสให้ลูกได้มีโอกาสช่วยเหลือตัวเอง โดยการสอนให้ลูกทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองเพิ่มมากขึ้น หรือเวลาที่พ่อแม่ทำงานบ้าน ควรให้ลูกมาอยู่ด้วยใกล้ๆ ด้วย เพราะเด็กในช่วงวัยนี้จะเริ่มเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ และอยากที่ช่วยทำ ซึ่งพ่อแม่เองก็ควรปล่อยให้ลูกได้ทำ เพื่อเป็นการปลูกฝังเรื่องระเบียบวินัยให้กับลูกน้อยตั้งแต่ยังเยาว์

 

            เด็กๆ ในช่วงวัยนี้ อาจมีพฤติกรรมที่พ่อแม่หลายคนไม่ชอบใจนัก นั่นคือการออกฤทธิ์เกินกว่าเหตุ หรือกรีดร้องเพื่อให้ได้ดังใจ ซึ่งหนทางในการแก้ปัญหานั้น พ่อแม่ควรเริ่มทำตั้งแต่ลูกน้อยยังเป็นเด็ก ยังสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือปลูกฝังสิ่งดีๆ ได้ง่าย โดยเมื่อลูกกรีดร้อง พ่อแม่ควรดึงความสนใจของลูกไปยังสิ่งอื่น ชวนพูดชวนคุย หรือต้องทนทำเพิกเฉยต่อเสียงร้องนั้น เพื่อแสดงให้ลูกเห็นว่าสิ่งที่ทำนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ดี และไม่อาจเรียกร้องความสนใจได้ ลูกน้อยก็จะเลิกทำพฤติกรรมดังกล่าว

 

            การสร้างเสริมจินตนาการ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน พ่อแม่ควรใช้เวลาอยู่กับลูก เล่นและพูดคุยกับเขา อาทิ เล่านิทานให้ฟัง โดยใช้รูปภาพประกอบการเล่า ชวนพูดคุยถึงสิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่พบเห็นอย่าง สัตว์ ต้นไม้ ลำธาร ท้องฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้ยังควรเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นตามความสนใจ เพื่อให้ลูกมีอิสระ เกิดความคิดสร้างสรรค์ และมั่นใจในตัวเอง และถ้ามีโอกาส พ่อแม่ควรพาลูกไปเที่ยว เพื่อได้พบเห็นสิ่งต่างๆ มากขึ้น จะช่วยทำให้ลูกไม่รู้สึกกลัวในสิ่งแปลกใหม่ และสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี

 

            เมื่อลูกเริ่มตั้งไข่ และพยายามที่จะเดิน พ่อแม่ควรมองเขาจากทางด้านหลัง และยืนอยู่ให้กำลังใจเขา เพื่อให้เขารู้สึกว่า มีคนคอยดูอยู่ข้างหลัง ถ้าจะล้มก็มีคนคอยจับ ถ้าเจ็บก็มีคนคอยช่วยเหลือปลอบใจ เป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านจิตใจให้กับลูกน้อยอีกทางหนึ่ง

 

เสริมวัคซีนใจ สร้างต้นทุนชีวิตเด็ก

 

           เมื่อลูกเข้าสู่ช่วงอายุ 2 3 ปี พ่อแม่ควรสนับสนุนให้ลูกทำอะไรด้วยตัวเองมากขึ้น เพื่อให้ลูกรู้จักคิดและตัดสินใจด้วยตนเอง โดยเฉพาะเมื่อลูกเริ่มปฏิเสธ ไม่ทำตามที่พ่อแม่บอก เป็นสัญญาณแสดงให้รู้ว่า ลูกกำลังมีความคิดเป็นของตัวเอง พ่อแม่ไม่ควรโกรธ แต่ควรใช้วิธีพูดตามเหตุผลและต่อรอง แล้วให้ลูกตัดสินใจเอาเอง และในช่วงนี้ ลูกจะช่างซักช่างถาม ซึ่งบางครั้งก็ถามโดยไม่ต้องการคำตอบ และไม่ได้สนใจเนื้อหาสาระเท่าใดนัก แต่เป็นวิธีการที่ลูกอยากมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ พ่อแม่ควรแสดงท่าทีสนใจ พยายามตอบทุกครั้ง แม้จะเป็นการถามซ้ำซาก ถ้าพ่อแม่หาคำตอบที่ชัดเจนไม่ได้ ก็ควรชมว่าถามได้ดี พ่อแม่ไม่รู้ทุกอย่างแต่จะไปค้นหาคำตอบมาให้

 

            ในช่วงวัยนี้ เด็กๆ จะมีจินตนาการเพิ่มมากขึ้น พ่อแม่ควรร่วมเล่นและพูดคุยกับลูก โดยต้องคล้อยตามและร่วมไปกับความรู้สึกนึกคิดของลูก อย่าเห็นเป็นเรื่องเพ้อฝัน ดุว่า ล้อเลียนหรือเห็นเป็นเรื่องขบขัน ไร้สาระ เพราะจะทำให้เด็กขาดมั่นใจในการที่จะคิดสร้างสรรค์ หรือขาดจินตนาการได้

 

            และช่วงวัยสุดท้าย ที่เหมาะต่อการฉีดวัคซีนก็คือช่วงอายุ 3 5 ปี ซึ่งเหมาะแก่การที่พ่อแม่จะสอนให้ลูกรู้จักผิด รู้จักถูก เมื่อพบว่าลูกทำผิดก็ต้องสอนให้เขากล้าที่จะมาบอกพ่อแม่และยอมรับผิดต่อสิ่งที่ทำ โดยพ่อแม่ควรมีหน้าที่ในการแนะนำวิธีที่ถูกต้องเหมาะสม ให้ลูกรู้ว่า สิ่งที่ทำนั้นไม่ดีอย่างไร และเขาควรทำอย่างไร เพื่อให้ลูกได้เกิดการเรียนรู้ และเมื่อลูกเริ่มเกิดอารมณ์โกรธ กลัว อิจฉา เสียใจ พ่อแม่ควรแสดงความเข้าใจ พร้อมกับใช้คำพูดง่ายๆ สอนให้ลูกได้รู้จักอารมณ์ของตัวเองว่า ตอนนี้หนูกำลังโกรธนะ หรือ ตอนนี้หนูกำลังเสียใจนะ และปลอบโยนให้ลูกสงบลงก่อนแล้วค่อยๆ หาทางอธิบายให้เข้าใจ

 

เสริมวัคซีนใจ สร้างต้นทุนชีวิตเด็ก

 

            ที่สำคัญ เด็กๆ จะเริ่มอยากทำอะไรด้วยตัวเองมากขึ้น แต่ยังไม่อาจใช้มือหยิบจับได้อย่างมั่นคง จนบางครั้งอาจทำของแตกหัก เสียหายได้ พ่อแม่ควรทำใจเย็น อย่าได้รักของมากกว่ารักลูก เพราะถ้าพ่อแม่มัวแต่เสียดายของและลงโทษลูก จะเป็นการทำลายความกระตือรือร้นที่จะทำอะไรด้วยตัวเองของลูกให้หมดไป โดยเฉพาะถ้าลูกทำไปด้วยความตั้งใจดี ลูกจะยิ่งเสียใจมาก ถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจ

 

            นอกจากนี้ พ่อแม่ควรหาสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ หรือเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ๆ ให้กับลูก อาทิ เปลี่ยนที่เล่น ที่กิน ที่นอน เพื่อให้ลูกรู้สึกสนุกสนาน และเรียนรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงสถานที่เป็นเรื่องสนุก ไม่ใช่เรื่องลำบาก หรือน่ากลัว จะช่วยให้ลูกรู้จักปรับตัวได้ดี และในช่วงนี้ลูกเริ่มโตพอที่จะมีที่นอนของตัวเองได้แล้ว แทนที่จะนอนเตียงเดียวกับพ่อแม่ ลูกจะได้มีความรู้สึกว่ามีอะไรเป็นของตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้จะนำไปสู่การรับผิดชอบตัวเอง

 

            ไม่เพียงเท่านี้ พ่อแม่ยังควรสนับสนุนให้ลูกมีโอกาสได้ร่วมเล่นกับเด็กอื่นๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้กติกาในการเล่น การเข้าสังคม การแบ่งปันของเล่น การปลอบโยนและช่วยเหลือเพื่อน รวมถึงการปรับตัวในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ถึงแม้ว่าในบางครั้งอาจจะต้องทนเห็นลูกถูกเอาเปรียบ ถูกรังแกบ้าง พ่อแม่ก็ควรที่จะทำใจ อย่าเข้าไปยุ่ง หรือไปทะเลาะกับเด็ก แต่หากเกิดการลงไม้ลงมือกันขึ้น จึงค่อยเข้าไปจับแยกเพื่อป้องกันอันตราย ที่สำคัญไม่ควรตัดสินว่าใครผิดใครถูก เพราะลูกจะเรียนรู้ได้เองว่า ถ้าจะเล่นโดยไม่ทะเลาะกันจะต้องทำอย่างไร เขาจะค่อยๆ ปรับตัว รู้แพ้ รู้ชนะ และรู้อภัยด้วยตัวเอง

 

เสริมวัคซีนใจ สร้างต้นทุนชีวิตเด็ก

 

 

ลูกจะได้อะไรจากการฉีดวัคซีนใจ??

 

          1. ความรักและความเอาใจใส่ ถ้าลูกได้รับการปลูกฝัง ลูกจะเติบโตเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี จิตใจมั่นคง เชื่อมั่นในตนเอง มีอารมณ์สุขุม หนักแน่น แต่หากไม่ได้รับการปลูกฝัง ลูกจะไม่เกิดความผูกพันและไม่ไว้วางใจผู้อื่น ขาดความอบอุ่น ขาดความมั่นคงทางใจ และมีแนวโน้มที่จะมีอารมณ์อ่อนไหวง่าย

 

          2. การสร้างโอกาสให้ลูกได้ช่วยเหลือตัวเอง ถ้าลูกได้รับการปลูกฝัง ลูกจะรู้จักคิด รู้จักทำ มีความรับผิดชอบ และรู้จักพึ่งพาตนเอง แต่ถ้าไม่ได้รับการปลูกฝัง ลูกจะกลายเป็นคนทำอะไรไม่เป็น แก้ปัญหาด้วยตัวเองไม่ได้ ความรับผิดชอบไม่ดี สุดท้ายก็จะกลายเป็นภาระให้กับพ่อแม่

 

          3. การสอนให้ลูกน้อยรู้จักที่จะรอคอย อดทน และอดกลั้น ถ้าได้รับการปลูกฝังลูกจะมีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ตนเองได้ดี มีความยับยั้งชั่งใจต่อสิ่งล่อใจหรือสิ่งที่มายั่วยุได้ ตัดสินใจได้ว่าสิ่งใด ควรกระทำ และเคารพในกฎเกณฑ์ของสังคม ถ้าลูกไม่ได้รับการปลูกฝัง ลูกมักจะเติบโตเป็นคนเอาแต่ใจตัวเอง อารมณ์เสียง่าย เครียดง่าย ทุกข์ง่าย ทำใจไม่ได้ ระงับอารมณ์ไม่ได้เมื่อผิดหวัง เสียหน้า หรือไม่ได้ดังใจ

 

           4. การเปิดโอกาสให้ลูกรู้จักปรับตัว เผชิญ และแก้ปัญหาด้วยตนเอง ถ้าลูกได้รับการปลูกฝัง ลูกจะมีความมุ่งมั่นที่จะก้าวเดินไปสู่ความสำเร็จ พร้อมทั้งรู้จักพลิกแพลงแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ต้อทั้งตนเองและผู้อื่น แต่ถ้าหากไม่ได้รับการปลูกฝัง ลูกก็จะกลายเป็นคนขาดความพยายาม ไม่อดทน ขาดความกระตือรือร้น ท้อถอยง่ายเมื่อเผชิญปัญหา

 

            5. ให้ลูกได้มีโอกาสเล่น ลูกจะเรียนรู้การอยู่ร่วมกับคนอื่น ฝึกยอมรับ และแก้ไขความผิดพลาด รู้จักมีอารมณ์ขันและสนุกเบิกบาน รวมทั้งได้เรียนรู้การเป็นผู้นำ-ผู้ตาม และการร่วมงานกับผู้อื่น ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้ หากลูกไม่ได้รับการปลูกฝัง เมื่อโตขึ้น มักจะเข้าสังคมยาก ไม่รู้จักกติกาของสังคม ไม่รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ขาดความกระฉับกระเฉงในการทำงานและการเรียนรู้ชีวิต

 

             6. สอนให้ลูกรู้จักให้ รู้จักช่วยเหลือ และเข้าใจผู้อื่น ถ้าลูกได้รับการปลูกฝัง ลูกจะเป็นที่ชื่นชอบของคนอื่นๆ ทั่วไป และสามารถประสานความร่วมมือกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น ถ้าไม่ได้รับการปลูกฝัง ลูกจะเป็นคนที่นึกถึงแต่ตัวเองเป็นใหญ่ ใจคอคับแคบ ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และเข้ากับคนอื่นได้ยาก

 

 

เสริมวัคซีนใจ สร้างต้นทุนชีวิตเด็ก

 

            แต่สิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด นั่นก็คือ การทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก เพราะพ่อแม่ดำเนินชีวิตอย่างไร ลูกก็จะเรียนรู้การดำรงชีวิตแบบนั้น เช่นกันหากพ่อแม่อยากให้ลูกเติบโตขึ้นมาเป็นคนดี เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าก็ควรทำตัวเองให้ดีและมีคุณค่าด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อเด็กๆ ได้รับวัคซีนใจที่ดีแล้ว ก็จะทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกัน มีต้นทุนชีวิตที่ดี ที่จะสามารถออกสู่สังคมและใช้ชีวิตอยู่กับสังคมได้อย่างมีความสุขค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : อารยา สิงห์สวัสดิ์ Team content www.thaiheath.or.th

 

 

Update 22-02-53

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์

Shares:
QR Code :
QR Code