เสริมพลังเครือข่าย “เหยื่อเมาแล้วขับ”
ทุกๆคนมีโอกาสเป็น “เหยื่อ” จากปัญหา “เมาแล้วขับ” เพียงแต่เราไม่รู้แค่นั้นว่า เมื่อไรจังหวะเวลา ที่จะกลายเป็น “เหยื่อ” จะมาถึง ยิ่งไปกว่านั้น หากวันหนึ่งเราต้องกลายเป็น “เหยื่อ” เราจะใช้ชีวิตต่อไปข้างหน้าอย่างไร และเราจะทำอย่างไร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เป็นเวลาเกือบทศวรรษแล้วที่มูลนิธิเมาไม่ขับ ได้ปฏิบัติภารกิจด้านการเสริมพลังให้กับคนกลุ่มหนึ่ง ที่ต้องประสบชะตากรรมที่คาดไม่ถึง นั่นคือการตกเป้น “เหยื่อเมาแล้วขับ”
กิจกรรมเสริมพลัง “เหยื่อเมาแล้วขับ” ของมูลนิธิเมาไม่ขับ ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเชิงการให้กำลังใจ การให้คำปรึกษาในเชิงรูปคดีทางกฎหมาย และการจุดประกายความหวังเพื่อให้บุคคลที่ต้องเผชิญกับการสูญเสียเหล่านั้นสามารถยืนหยัดอยู่ได้ และก้าวเข้ามาเป็นแรงพลังสำคัญในการสื่อสารประเด็นปัญหาเมาไม่ขับไปสู่สาธารณะชนวงกว้าง
ในที่นี้ นิยามของคำว่า “เหยื่อเมาแล้วขับ” ในทัศนะของมูลนิธิเมาไม่ขับ ไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะในกลุ่มผู้สูญเสียร่างกายทางกายภาพที่มองเห็นจากการกระทำของบุคคลอื่น แต่ยังรวมไปถึง “เหยื่อเมาแล้วขับ” ผู้สูญเสียความสามารถในการควบคุมตนเองอันเป็นผลจากฤทธิ์ของเหล้า เบียร์ จนทำให้เขาหรือเธอเหล่านั้น ตกเป็นผู้ร้ายทำลายความสุขสมบูรณ์ของชีวิตตนเองอย่างน่าเศร้าใจ
ก้าวแรกของเครือข่าย “เหยื่อเมาแล้วขับ” จุดเริ่มต้นอย่างจริงจังของมูลนิธิเมาไม่ขับ ในการก้าวเข้าไปช่วยกอบกู้สภาพทั้งทางกาย และทางจิตวิญญาณของ “เหยื่อเมาแล้วขับ” เกิดขึ้นในราวปีพุทธศักราช 2543
ในวันนั้น นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ หรือที่สื่อมวลชนและผู้คนในแวดวงการรณรงค์ทางสังคมรู้จักเป็นอย่างดี ในนาม “คุณหมอเมาไม่ขับ” ได้มีโอกาสไปเป็นวิทยากรในเวทีเสวนาครั้งหนึ่งที่ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว
ในเวที่เสวนาเดียวกัน คุณภัทรพันธุ์ กฤษณา ก็ได้รับเชิญมาเป็นวิทยากรด้วย คุณภัทรพันธุ์ หรือ คุณบี เป็นชายหนุ่มผู้ครั้งหนึ่งเคยมีชีวิตที่สดใส เต็มไปด้วยพลัง แต่เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันจากการถูกคนเมาขับรถปาดหน้าจนเกิดอุบัติเหตุรุนแรง ทำให้เขาต้องอาศัยรถเข็นเป็นพาหนะคู่ใจแทนสองขาที่เคยแข็งแรงคล่องแคล่ว
หลังจากจบการเสวนาในวันนั้น คุณหมอแท้จริงและคุณภัทรพันธุ์มีโอกาสได้พูดคุย ทำความรู้จักกันแลกเปลี่ยนมุมมองประสบการณ์ และความฝันที่จะเห็นท้องถนนปลอดภัยจากคนขับขี่ยวดยานที่ไม่สามารถควบคุมตนเองจากฤทธิ์สุรา
เมื่อผู้มี “ฝัน” และมี “ไฟ” ในการทำงานทั้งคู่มาพบกัน การสานต่อและเรือข่ายการทำงานจึงงอกงามขึ้น คุณหมอแท้จริงได้ชักชวนคุณภัทรพันธุ์ ให้เข้ามาทำงานรณรงค์ร่วมกับมูลนิธิเมาไม่ขับ โดยมอบบทบาทสำคัญให้ คือ การทำหน้าที่เป็น “ตัวแทน” ของผู้ที่สูญเสียจากการเมาแล้วขับ นำประสบการณ์จริงอันแสนเจฌบปวดมาถ่ายทอดเป็นอุทาหรณ์ให้กับประชาชนทั่วไปได้รับทราบ
ข้อความที่สื่อสารจากใจและสภาพทางกายที่ไม่ต้องการคำอธิบายเพิ่มเติม ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทั้งคู่คาดว่า จะเป็นสื่อกลางที่ช่วยกระตุ้นเตือนผู้คนในสังคมไทยได้ตระหนักถึงภัยอันตรายอันน่าสะพรึงกลัวจากการเมาแล้วขับ ซึ่งอยุ่ใกล้เราเพียงแค่เอื้อม แต่จะยังคงคุกคามอีกร่ำไปหากท้องถนนยังไม่ปราศจากคนเมาแล้วขับ
ที่มา : หนังสือเมาไม่ขับ กับสังคมไทย มูลนิธิเมาไม่ขับ