เสริมทีมกู้ชีพฉุกเฉินด้วยความรู้"กู้ชีพองค์รวม"
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
อาสาสมัครกู้ชีพเป็นอีกกลุ่มคนที่เสียสละเวลามาทำงานจิตสาธารณะคอยให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยหรือบาดเจ็บและอาจกล่าวได้ว่าจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่สามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้เร็วและสามารถส่งต่อให้ถึงมือแพทย์ได้ แต่การจะช่วยเหลือผู้ป่วยได้จำเป็นต้องได้รับการอบรมรวมทั้งฝึกฝนการกู้ชีพได้ถูกต้องตามหลักวิชาการแพทย์ เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตและลดความพิการ ของผู้ป่วยได้
ที่ผ่านมาสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทยภายใต้โครงการ ส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉินสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดการอบรม หลักสูตรการกู้ชีพองค์รวมหรือ CLS โดยมีศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ เป็นประธานในพิธีเปิด การอบรม และมีบุคลากรทางการแพทย์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ฉุกเฉิน กว่า 40 คนเข้าร่วม
ศ.นพ.สันต์ อธิบายว่า การอบรมครั้งนี้ทางสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ ได้จัดทำคู่มือ "กู้ชีพองค์รวม(CLS) สำหรับอาสาสมัครและประชาชนทั่วไป" ขึ้นมา ซึ่งได้ใช้เวลาในการเก็บรวบรวมองค์ความรู้ด้านการกู้ชีพฉุกเฉินมานานกว่า 10 ปีโดยพัฒนาขึ้นมาใช้กับแพทย์พยาบาลเจ้าหน้าที่กู้ชีพก่อนที่จะพัฒนามาทำในระดับอาสาสมัครและประชาชนเพื่อให้ผู้ที่อยู่ใกล้เหตุการณ์ที่สุดสามารถช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินที่อยู่ในภาวะคุกคามชีวิตให้รอดพ้นภาวะวิกฤติได้ก่อนที่หน่วยกู้ชีพจะเดินทางไปถึงและดูแลรักษาต่อ
การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่อยู่ในภาวะคุกคามชีวิตนั้น หากมีความล่าช้าหรือให้การดูแลรักษาที่ไม่ถูกต้อง อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือพิการโดยไม่สมควร
"จากการอบรมครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากอาสาสมัครและประชาชนบอกมีความสามารถและมั่นใจในตัวเองมากขึ้นว่า สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างถูกต้อง และควรจัดให้มีการอบรมในลักษณะนี้ เพื่อขยายผลไปสู่อาสาสมัครและประชาชนอย่างทั่วถึง ซึ่งการช่วยเหลือเบื้องต้นจะเป็น การเชื่อมต่อให้ลูกโซ่ของกระบวนการช่วยชีวิตเชื่อมต่อกัน ในทางตรงกันข้ามเมื่อตรวจไม่พบภาวะฉุกเฉินคุกคามต่อชีวิตก็สามารถให้การช่วยเหลือตามแนวทาง 'การปฐมพยาบาล' ได้ตามปกติ" ศ.นพ.สันต์ กล่าว
ด้านนพ.สมชาย กาญจนสุต อุปนายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ ระบุว่า การอบรมและจัดทำคู่มือดังกล่าว ทางสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯมีเป้าหมาย ที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินใน ภาวะคุกคามชีวิตเป็นหลัก โดยปกติ แล้วคนธรรมดาไม่สามารถแยกแยะได้ว่าผู้ป่วยแบบใด ที่อยู่ในภาวะคุกคามต่อชีวิตหากอาสาสมัครหรือประชาชนสามารถปฏิบัติได้ ตาม 5 ขั้นตอนตามคู่มือได้ จะช่วยเพิ่มโอกาส การรอดชีวิตและลดอัตราพิการลงได้เป็นอันมาก และเป็นการช่วยต่อเติมส่วนที่ขาดในระบบการกู้ชีพฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ด้านนายกฤษดา บุญทวี อาสาสมัครมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จัดได้ว่าเป็นอาสาสมัครมือใหม่เพราะเพิ่งทำงานมาได้ประมาณ 4 เดือน มองว่าการอบรมเรื่องการกู้ชีพแบบองค์รวมให้กับอาสาสมัครหรือประชาชนแบบนี้เป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้อาสา สมัครจะเป็นกลุ่มแรกๆที่จะเข้าถึงผู้ป่วยก่อนทีมแพทย์ การอบรมให้อาสาสมัครมีความรู้ในการช่วยเหลือผู้ป่วยได้ถูกต้อง เป็นเรื่องดี เพราะผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือที่ถูกต้อง รวดเร็ว เพราะถ้าคนที่ไปช่วยไม่มีความรู้อาจจะเป็นอันตรายต่อ ผู้ป่วยได้ในส่วนตัวเองเมื่ออบรมแล้วก็มีความมั่นใจที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยมากขึ้น
นอกจากนี้แล้วคนที่เป็นอาสาสมัครนอกจากจะต้องให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยในเบื้องต้นแล้ว จะต้องรู้จักวิธีประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้องเพื่อให้การส่งต่อผู้ป่วยเป็นไปอย่างถูกต้องและผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยจนถึงมือแพทย์