เสริมทักษะเยาวชนรู้ทัน ‘อุบัติเหตุ’

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


เสริมทักษะเยาวชนรู้ทัน 'อุบัติเหตุ' thaihealth


กิจรรมค่าย 10 ทักษะความปลอดภัยเพื่อฝึกทักษะการอยู่รอดปลอดภัยจากอุบัติเหตุของเด็กชั้น ป.1-ป.3 ม.มหิดล ศาลายา


รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบัน แห่งชาติเพื่อพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล (ม.มหิดล) เปิดเผยภายหลังการจัดกิจรรมค่าย 10 ทักษะความปลอดภัยเพื่อฝึกทักษะการอยู่รอดปลอดภัยจากอุบัติเหตุของเด็กชั้น ป.1-ป.3 ม.มหิดล ศาลายา โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า ในแต่ละปีเด็กไทยอายุ 1-14 ปี จะเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุกว่า 2,500 รายต่อปี หรือเฉลี่ย 200 รายต่อเดือน และในแต่ละปีพบว่าเดือนที่มีเด็กตายจากอุบัติเหตุสูงสุดคือเดือน เม.ย. หรือเฉลี่ย 350 รายต่อเดือน และการจมน้ำมีสถิติการตายถึงร้อยละ 33 หรือ 740 ราย ร้อยละ 31 ตายจากภัยทางถนน หรือ 700 ราย ที่เหลือร้อยละ 36 ตายจากสาเหตุอื่น และช่วงปิดเทอม 4 เดือนยังเป็นช่วงอันตรายสูงสุด


นอกจากนี้พบว่า อุบัติเหตุจราจรเป็นการตายอันดับ 2 ของเด็ก ทั้งการเดินทางไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ซ้อนมอเตอร์ไซค์ถูกรถชนในละแวกบ้านรวมทั้งการซ้อนมอเตอร์ไซค์เด็กไม่ได้สวมหมวกกันน็อก โดยมีคำแนะนำว่าในเด็กก่อนวัย 6 ขวบ ไม่ควรซ้อนรถจักรยานยนต์เพราะยังอยู่ในวัยที่ดูแลตัวเองไม่ได้ยังไม่เข้าใจความเสี่ยง  อีกทั้งเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ขาวางยังไม่ถึงที่วางเท้า รวมทั้งตามกฎหมายมอเตอร์ไซค์จะโดยสารได้แค่  2 คน คือคนขับและคนซ้อนเท่านั้น


รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเคยจัดเวทีประชุมเรื่องการใช้คาร์ซีทในรถจักรยานยนต์แต่บริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ยืนยันว่าไม่สามารถทำได้และระบบการผลิตไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้เด็กนั่งซ้อนท้าย ซึ่งในต่างประเทศกำหนดอายุเด็กซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ต้องอายุ 7 ขวบขึ้นไป นอกจากนี้ยังพบว่าแม้จะให้เด็กซ้อนมอเตอร์ไซค์ แต่ขนาดหมวกนิรภัย (หมวกกัน น็อก) ของเด็กที่ใช้อยู่ยังไม่สามารถรองรับหัวของเด็กได้ เนื่อง จากมาตรฐานใหม่ของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมที่เพิ่งหมดไปต้องใช้โฟมที่มีขนาดบางลงเพื่อเป็นโครงของหมวก แต่ขนาดโฟมที่มีอยู่ในโรงงานเป็นขนาดของหมวกกันน็อกผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนาเด็กและครอบครัวเสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดให้นำหมวกจักรยานมาใช้แทนหมวกกันน็อกสำหรับเด็ก ซึ่งประเทศเวียดนามก็นำมาตรฐานของหมวกจักรยานไปปรับใช้ แต่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ยินยอม


ขณะนี้ ทางโรงงานผลิตหมวกกันน็อกกำลังหาทางแก้ไขเรื่องขนาดของโฟมที่มีความหนาเกินขนาดศีรษะเด็ก เมื่อนำมาขึ้นรูป จึงไม่พอดีกับส่วนหุ้มภายนอก ดังนั้นวิธีแก้ไขในเบื้องต้นคือต้องมาเสริมโฟมด้านในเพื่อให้กระชับกับศีรษะเด็ก ทั้งนี้ทักษะความปลอดภัย 10 อย่าง ประกอบด้วยอาทิ 1. ทักษะความปลอดภัยทางน้ำและการวิเคราะห์ความเสี่ยงในชุมชน อายุที่ต้องทำได้ 6-7 ขวบ  2.ทักษะการเดินถนนโดยลำพัง การขี่จักรยานอย่างปลอดภัย และการโดยสารรถยนต์รถจักรยานยนต์อย่างปลอดภัย อายุที่ต้องทำได้ 6-7 ขวบ

Shares:
QR Code :
QR Code