เสริมทักษะชีวิตเด็กไทยยุค 4 จี
แฟ้มภาพ
ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เราจึงเห็นเด็กสมัยนี้หันมาใช้เทคโนโลยีกันมากขึ้น แม้ว่าเทคโนโลยียุค 4 จี จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่หากใช้อย่างไม่ถูกต้อง ก็อาจมีผลกระทบต่อพฤติกรรมและสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชน ซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติ
พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ บอกถึงการใช้เทคโนโลยีของเด็กและเยาวชนว่า ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ซึ่งหากดูแลไม่ดีก็อาจกลายเป็นพื้นที่อบายมุขที่เด็กเข้าถึงได้ง่าย จึงต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กเพื่อให้รู้เท่าทันสื่อ ดังนี้
1. เด็กๆ ต้องรู้เท่าทันเว็บไซต์
เมื่ออ่านเนื้อหาข้อมูลบนเว็บไซต์ เด็กๆ ต้องรู้จักสงสัยและตั้งคำถาม ใครเป็นคนเขียนข้อมูลบนเว็บไซต์ คนเขียนมีความชำนาญในเรื่องที่เขียนหรือไม่ ข้อมูลใหม่ทันสมัยหรือตกยุคไปแล้ว ผู้เขียนกระทู้มีจุดประสงค์อะไร มีอารมณ์อย่างไรขณะที่โพสต์ ขณะเดียวกันควรตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ เพื่อไม่ให้หลงเชื่อหรือคล้อยตาม และตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาขายสินค้า หรือส่งต่อข่าวลือต่างๆ
2. ต้องรู้เท่าทันคนบนอินเทอร์เน็ต
ไม่ใช่ว่าทุกคนที่พูดคุยกับเราบนโลกออนไลน์จะเป็นมิตรเสมอไป บนอินเทอร์เน็ตมีมิจฉาชีพ มีคนดี คนโกง มีเพื่อน มีศัตรู เช่นเดียวกับในสังคมปกติที่เราเดินสวนกันไปมานั้นก็มีทั้งคนดีและคนเลว เรายิ่งต้องระมัดระวังการคบเพื่อนบนอินเทอร์เน็ต เนื่องจากเทคโนโลยีเปิดโอกาสให้เราบอกรับเพื่อนได้ง่ายๆ เพียงแค่เขาส่งคำขอเป็นเพื่อนมาทางอีเมล ทางเฟซบุ๊ค แล้วเราก็ตอบรับ โดยไม่เคยเห็นหน้า ไม่เคยพูดคุยหรือรู้จักกันมาก่อน
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น บอกว่า เด็กจำนวนมากโดนหลอกล่วงละเมิดทางเพศ ดังนั้น ข้อมูลส่วนตัวของเรา เช่น หมายเลขโทรศัพท์ รูปถ่าย ที่อยู่ที่บ้าน บัตรประจำตัว รหัสบัตรต่างๆ ทั้งของตัวเองและของพ่อแม่ เป็นสิ่งที่เด็กๆ ไม่ควรโพสต์บนเว็บไซต์ หรือแจกใครๆ บนอินเทอร์เน็ต
3. ต้องรู้จักแบ่งเวลาให้เหมาะสม
เด็กๆ ไม่ควรเล่นอินเทอร์เน็ต แช็ทกับเพื่อน อ่านการ์ตูนออนไลน์ ดูหนัง ฟังเพลง จนลืมการเรียน หรือไม่ช่วยงานบ้านพ่อแม่ ดังนั้นเด็กจะต้องรู้จักสร้างวินัยในตัวเอง โดยอาจจะให้คนในบ้านช่วยเตือน หรือตั้งนาฬิกาปลุกเตือนตัวเอง เพื่อให้ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสม
4. ต้องรู้จักมารยาทในการใช้อินเทอร์เน็ต
พญ.วิมลรัตน์ อธิบายว่า การใช้ภาษาในสื่อสาธารณะจะต้องสุภาพ เคารพและให้เกียรติผู้อื่น คิดก่อนโพสต์ หรือหากเราจะส่งข้อความ รูปภาพ หรือคลิปวิดีโอใดๆ ไปในอินเทอร์เน็ต ควรคิดทบทวนเสียก่อนว่า ไม่ได้สร้างความเสียหายหรือทำร้ายใคร เพราะเมื่อส่งไปแล้วจะเรียกคืนไม่ได้ หนำซ้ำคนอื่นอาจก๊อปปี้สิ่งที่เราส่งนั้นไปตกแต่ง บิดเบือน หรือส่งต่อ สร้างความเสียหายหรือผลกระทบอย่างที่เราคาดไม่ถึง ขณะเดียวกันต้องควบคุมอารมณ์ เวลาแสดงความคิดเห็นบนสื่อสาธารณะ
5. ควรรู้เท่าทันเนื้อหาของเกม
เด็กๆ ควรเลือกเกมให้เหมาะสมกับเพศและวัย โดยเลือกเกมที่เป็นประโยชน์ หรืออย่างน้อยไม่เป็นโทษต่อตัวเรา อย่างไรก็ตามการเล่นเกมบ่อยๆ แม้รู้ทันเนื้อหาของเกม แต่บางครั้งก็อาจติดหรือซึมซับอารมณ์หรือบทบาทในเกมโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น พฤติกรรมชกต่อย ขโมยของ เป็นต้น ทางที่ดีคือ ไม่เล่นเกมใดเกมหนึ่งติดต่อกันซ้ำๆ เป็นเวลานานหลายเดือน เพื่อป้องกันไม่ให้หมกหมุ่นหรือติดเกม ติดพฤติกรรมในเกมแล้วเอามาใช้ในชีวิตจริง
"พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องหาเวลาคุยกับเด็ก อย่าไปปิดบังปิดกั้น ต้องคุยกับเด็กตรงๆ ให้เขารู้จักควบคุมตนเองให้ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ได้เรียนรู้มาว่า เป็นสิ่งที่ดี เป็นที่ยอมรับ และไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน" จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น บอกทิ้งท้าย
เรื่องโดย : นายฉัตร์ชัย นกดี team content www.thaihealth.or.th
ขอบคุณข้อมูลจาก มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ