เสนอ “ฉลากขนม” แบบไฟสัญญาณ! เข้าใจง่ายเด็กได้ประโยชน์

วันพุธที่ 9 มีนาคม 2554 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว, สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ, สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล, เครือข่ายคนไทยไร้พุง, โครงการโภชนาการสมวัย, แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ และเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน รวม 8 องค์กร ร่วมกันจัดงานเสวนาวิชาการ “รวมพลังครอบครัว เปิดไฟเขียว ฉลากขนม” เพื่อเป็นการถ่ายทอดข้อมูลทางวิชาการและแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับฉลากขนม เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการบริโภคเพื่อสุขภาพ พร้อมนำเสนอฉลากขนมแบบใหม่ในรูปแบบสัญญาณไฟจราจร ซึ่งง่ายต่อความเข้าใจของผู้บริโภค

รศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กล่าวว่า โรคอ้วนกำลังเป็นภัยคุกคามคนไทย เด็กไทยมีน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยครั้งล่าสุด เมื่อ พ.ศ. 2551-2552 พบว่าเด็กไทยที่มีอายุ 1-14 ปี จำนวน 540,000 คน หรือ 5% มีน้ำหนักเกิน และอีก 540,000 คน หรือ 5 % เช่นเดียวกันอยู่ในภาวะอ้วน ในจำนวนนี้ 135,000 คนเสี่ยงเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 โดย 28 % ของเด็กอายุ 2-14 ปีกินขนมกรุบกรอบที่มีไขมันสูงทุกวันหรือบ่อยกว่า สอดคล้องกับการสำรวจของสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ในปี 2552 ที่ระบุว่า เด็กมีความถี่ในการกินขนมกรุบกรอบเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปี 2546 นั่นคือ 72 % ของเด็กอายุ 2-5 ปีกินขนมกรุบกรอบอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เด็กอายุ 6-14 ปี กินขนมกรุบกรอบทุกวัน 12 % ขณะที่การกินบะหมี่สำเร็จรูป เด็กอายุ 2-5 ปี 7 % กิน 4-6 ครั้งต่อสัปดาห์ และ 12 % ของเด็กอายุ 6-14 ปี กิน 4-6 ครั้งต่อสัปดาห์

รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า การอ่านข้อมูลฉลากโภชนาการหรือฉลากอาหารแสดงส่วนประกอบบนบรรจุภัณฑ์เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะนำไปสู่การสร้างพฤติกรรมการบริโภคที่ดีต่อสุขภาพ แต่จากการสำรวจผู้บริโภค ในเขตกรุงเทพฯ เกี่ยวกับการอ่านข้อมูลบนฉลากโภชนาการ พบว่ามีน้อย โดยส่วนใหญ่ 91 % อ่านวันหมดอายุ รองลงมาอ่านส่วนประกอบ วันที่ผลิต ฉลากโภชนาการ และเครื่องหมาย อย. ตามลำดับ โดยประมาณ 40 % ของผู้ที่อ่านฉลากโภชนาการระบุว่าไม่เข้าใจความหมาย ส่วนในจังหวัดอื่นๆ พบว่า ใน 14 จังหวัดในภาคต่างๆ มีผู้ใช้ข้อมูลโภชนาการในการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารน้อยกว่า 10 % และมีการเสนอให้ทำฉลากให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น สอดคล้องกับการสำรวจผู้ปกครองนักเรียนเมื่อปี 2549 ที่พบว่า 50 % ของผู้บริโภคต้องการสัญลักษณ์ที่จะทำให้เข้าใจข้อมูลโภชนาการมากขึ้น

รศ.ดร.ประไพศรีกล่าวว่า สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลจึงวิจัยเกี่ยวกับสัญลักษณ์โภชนาการ เพื่อพัฒนาให้ง่ายต่อการอ่านและการใช้ประโยชน์ โดยได้ทบทวนสถานการณ์สัญลักษณ์โภชนาการในต่างประเทศด้วย เช่น ในสหราชอาณาจักร กลุ่มผู้ผลิตอาหารบางกลุ่มได้ทำสัญลักษณ์โภชนาการแบบ guideline daily amounts (gda) ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากสัญลักษณ์ไฟจราจรของ food standards agency (fsa) แต่กลุ่มผู้บริโภคเห็นว่า การแสดงข้อมูลควรเป็นไปในรูปแบบเดียวกัน และรายงานการศึกษาในปัจจุบันก็ได้แสดงให้เห็นว่า รูปแบบสัญลักษณ์ไฟจราจรของ fsa เข้าถึงผู้บริโภคได้มากกว่าในการคัดเลือกอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งจากการศึกษาของสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในนักเรียนและผู้ปกครอง จำนวน 450 คน โดยการทดสอบความเหมาะสมและความเข้าใจสัญลักษณ์โภชนาการ 4 แบบ พบว่า สัญลักษณ์ไฟจราจร ให้ความหมาย ความเข้าใจ และเหมาะสมที่สุด

“การใช้รูปแบบและสัญลักษณ์อย่างง่าย เช่น สัญลักษณ์ไฟจราจร ที่ใช้การอ้างอิงสีจากไฟจราจร เขียว-เหลือง-แดง”เช่น รูปแบบไฟจราจรที่ใช้วงกลม 5 วงวางเรียงกัน แต่ละวงเป็นตัวแทนสารอาหารและปริมาณโดยคำนึงถึง พลังงาน-ไขมัน-ไขมันอิ่มตัว-น้ำตาล-โซเดียม” โดยภายในวงกลมจะระบายสีไฟจราจรสีใดสีหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณสารอาหาร ที่มีในหนึ่งหน่วยบริโภคของอาหารนั้นๆ น่าจะช่วยให้ผู้ปกครองตัดสินใจเลือกซื้อขนมสำหรับบุตรหลานได้ง่ายขึ้น หรือแม้กระทั่งเด็กที่ซื้อขนมไปรับประทานเองก็เข้าใจฉลากเหล่านี้ได้มากกว่าแบบเดิม ที่มีแต่ภาษาทางวิชาการ” รศ.ดร.ประไพศรีกล่าว

นางสาวเกณิกา พงษ์วิรัช หัวหน้าโครงการเครือข่ายเฝ้าระวังภัยรอบโรงเรียนกล่าวว่า พ่อแม่ไม่สามารถดูแลลูกได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อลูกไปโรงเรียน ก็จะให้เงินลูกไว้ ซึ่งเด็กก็จะไปเลือกซื้อขนมต่างๆ ทั้งนี้ฉลากแบบเดิมเป็นตัวเลข ดูไม่ค่อยเข้าใจ เมื่อจะนำมาสอนลูกว่าฉลากเหล่านี้บอกถึงอะไรบ้างก็ค่อนข้างยาก หากไม่ได้เรียนมาด้านโภชนาการ คงอธิบายไม่ได้ แต่ฉลากแบบใหม่ น่าจะทำให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น ลูกของเราเองก็จะดูได้ง่ายขึ้น เพราะเป็นแบบสัญญาณไฟสีเขียว เหลือง แดง ซึ่งมีเกณฑ์กำหนดที่แน่นอน

 “บางครั้งผู้ปกครองไม่รู้ว่ารับประทานขนมถุงเท่าไหร่จึงจะเพียงพอ เช่น วันละ 2 ซอง ก็เพียงพอ พฤติกรรมส่วนใหญ่พ่อแม่ก็เตรียมขนมให้ลูก เพราะรสชาติถูกใจขนมมากกว่าผลไม้ ยิ่งถ้าเด็กติดรับประทานขนมกรุบกรอบมาแต่เด็กแล้วก็จะเปลี่ยนแปลงยาก ซึ่งพ่อแม่ค่อนข้างหนักใจพฤติกรรมการติดขนมถุงของเด็ก หากมีการใช้ฉลากแบบสัญญาณไฟ อย่างน้อยก็จะเป็นประโยชน์ต่อเด็ก พ่อเป็นแม่ก็สบายใจ และจะส่งผลให้ผู้ผลิต เริ่มผลิตของที่มีคุณภาพ เพราะวันนี้ เราดูขนมบางอย่าง บางทีไม่ค่อยมีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เครือข่ายครอบครัว ผู้ปกครองจะรวบรวมรายชื่อเพื่อเตรียมยื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 15 มีนาคมนี้ เพื่อขอให้รัฐบาลช่วยผลักดันการติดสัญลักษณ์สัญญาณไฟเขียว-เหลือง-แดง บนฉลากขนมและอาหาร” นางสาวเกณิกากล่าว

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

 

Shares:
QR Code :
QR Code