เสนอเพิ่มโทษเมาแล้วขับ
ที่มา : เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
ปรับจากหมื่นเป็นแสน ตำรวจชงเพิ่มโทษเมาแล้วขับทวีคูณ หวังผลลดอุบัติเหตุทางถนน
พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 3 ในฐานะคณะกรรมการแก้ไขกฎหมายจราจรสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) กล่าวว่า ขณะนี้ สตช.มีแนวคิดที่จะเพิ่มอัตราโทษเมาแล้วขับโดยเบื้องต้นได้มีการเสนอเพิ่มอัตราโทษปรับให้สูงขึ้นประมาณ 100,000-200,000บาท จำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือทั่งจำทั้งปรับ จากอัตราโทษเดิมคือจำคุกไม่เกิน 1 ปีปรับไม่เกิน 10,000บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตามการพิจารณาโทษปรับนั้นจะยึดตามการกระความผิดซ้ำโดยหากพบว่าผู้ขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกฎหมายกำหนดซ้ำครั้งที่ 2 จะต้องให้ศาลพิจารณาโทษปรับเป็นทวีคูณจากครั้งแรกที่กระความผิดและหากมีการกระทำความผิดซ้ำต่อเนื่องก็จะต้องถูกปรับเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าปรับครั้งล่าสุดโดยมีเพดานอัตราค่าปรับสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งการกำหนดอัตราค่าปรับและบทลงโทษจะพิจารณาปริมาณแอลกอฮอล์ที่วัดด้วยหากพบปริมาณแอลกอฮอล์สูงมากอาทิ ตรวจพบประมาณ 100-200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จะถูกลงโทษอย่างรุนแรงและปรับให้สูงขึ้น ทั้งนี้ จะมีการระบุไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจนถึงขั้นตอนและวิธีการพิจารณาโทษเพื่อให้ศาลนำไปตัดสินผู้ที่เมาแล้วขับ อย่างไรก็ตามการแก้ไขกฎหมายเมาแล้วขับจะเป็นการเข้มงวดเพื่อไม่ให้เกิดการกระทำความผิดซ้ำโดยขั้นตอนการเสนอปรับแก้กฎหมายเมาแล้วขับขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกฤษฎีกา
พล.ต.ต.เอกรักษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการเพิ่มอัตราค่าปรับในกรณีเมาไม่ขับเป็นการควบคุมและบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งสตช.เห็นว่าหากมีบทลงโทษทางอาญาแล้ว ผู้ขับขี่ไม่เกรงกลัวก็ควรจะเพิ่มโทษทางเศรษฐกิจแทน โดยการเพิ่มค่าปรับให้สูงขึ้นถือว่าเป็นการลดอุบัติเหตุ เนื่องจากผ่านมาพบว่ากรณีเมาแล้วขับยังเป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเทศกาลหรือวันหยุดยาว ส่วนกรณีที่มีการกำหนดว่าหากเกิดอุบัติเหตุทุกครั้งจะต้องตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ ที่ผ่านมา สตช.ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องแต่อาจจะมีการติดขัดในเรื่องงบประมาณค่าตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด โดยแต่ละเทศกาลตำรวจได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณะสุขและสสส.เพื่อนำมาจ่ายค่าตรวจวัดโดยเฉลี่ยประมาณ 2-3 ล้านบาทต่อเทศกาล ซึ่งค่าใช้จ่ายในการวัดจะอยู่ที่ 800 บาทต่อราย ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการสามารถทำได้ทั้งปี สตช.จึงได้เสนอให้สำนักงานป้องกันอุบัติเหตุทางถนน(สปถ.)เสนอขอให้รัฐบาลพิจารณาจัดสรรงบประมาณมาให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเพื่อที่จะได้วัดปริมาณแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ทุกรายขณะที่มีอุบัติเหตุขึ้นซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ