เสนอเก็บภาษีความเค็ม ป้องกันโรคไต

ที่มา : เว็บไซต์มติชนออนไลน์


เสนอเก็บภาษีความเค็ม ป้องกันโรคไต thaihealth


แฟ้มภาพ


พฤติกรรมกินเค็ม ทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไป เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพมากมาย ทั้งโรคไต ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้นทางเครือข่ายลดบริโภคเค็ม จึงเดินหน้าเสนอแนวทางการเก็บภาษีความเค็มเพื่อสุขภาพที่ดีห่างไกลโรค


รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยบริโภคโซเดียมหรือกินเค็มโดยเฉลี่ยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวันหรือเท่ากับเกลือ 1.8 ช้อนชา ทั้งๆ ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม ทำให้คนไทยเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายมากมาย ทั้งโรคไต โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โดยที่ผ่านมาทางเครือข่ายลดการบริโภคเค็มได้ประชุมร่วมกับองค์การอนามัยโลก สสส. และ อย. เพื่อหาแนวทางในการปรับปริมาณเกลือในอาหารสำเร็จรูปลงปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นที่มาของการเรียกร้องให้ภาครัฐวางกฎระเบียบ เพื่อควบคุม เช่น นโยบายภาษี เช่นเดียวกับภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง


รศ.นพ. สุรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า จากข้อมูลของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสาธารณสุข (HITAP) พบว่าถ้ามีการใช้งบประมาณในการรณรงค์ลดเกลือ 1 บาทจะได้ผลกำไรในการป้องกันโรคถึง 10 บาท และถ้าเราลดเกลือลงได้ 30 เปอร์เซ็นต์ในปี 2568 เราจะป้องกันการตายได้เป็นแสนคน ค่าใช้จ่ายจะประหยัดไปหลายหมื่นล้านบาท


นพ.ชนาธิป ไชยเหล็ก กลุ่มงานพัฒนานักระบาดวิทยาภาคสนามและเครือข่ายกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า แนวโน้ม 5-6 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน กลุ่มอาหารสำเร็จรูป เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม มีปริมาณโซเดียมลดลง ในขณะที่อาหารแช่เย็น แช่แข็งกลับมีปริมาณโซเดียมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์อาหารส่วนใหญ่ตามร้านสะดวกซื้อ ได้มีการปรับสูตรโซเดียมเพิ่มขึ้น มีเพียง 1 ใน 3 ที่ปรับสูตรโซเดียมลดลง ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลตั้งแต่ปี 2558-2562 เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วปรากฏว่าแนวโน้มสูตรการลดโซเดียวยังมีไม่มากพอ ดังนั้นภาครัฐต้องมีมาตรการเพิ่มขึ้นด้วยการกำหนดเพดานการเก็บภาษี รณรงค์ให้ผู้บริโภคอ่านฉลากมากขึ้น ควรมีตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์ กำหนดมาตรการให้มีการปรับสูตรโซเดียมต่ำในผลิตภัณฑ์อาหาร


นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เปิดเผยจากผลสำรวจอาหาร 53 ตัวอย่าง พบว่า อาหารจานด่วนมีปริมาณโซเดียม 450-1,390 มิลลิกรัม ขนมขบเคี้ยวโดยเฉพาะมันฝรั่งมีปริมาณโซเดียมสูงสุด รองลงมาคือ ปลาเส้น ซึ่งเป็นอาหารที่คนทุกวัยบริโภค โดยเฉพาะเด็ก วัยรุ่น อาหารแช่เย็น แช่แข็งในร้านสะดวกซื้อ และขนมขบเคี้ยว สามารถเลือกซื้อได้ง่าย


"ข้อเสนอของเราคือ ควรมีฉลากอาหาร ฉลากโภชนาการ และฉลากโภชนาการแบบ GDA เพื่อง่ายต่อผู้บริโภคตัดสินใจก่อนเลือกซื้อ ผู้ประกอบการควรลดโซเดียมตามปริมาณที่เหมาะสม และหน่วยงานรัฐต้องมีการแก้ไขกฎหมายหรือข้อบังคับการลดโซเดียม และสนับสนุนให้เกิดมาตรการภาษีโซเดียมเพื่อสร้างแรงจูงใจในการปรับสูตรอาหารและทาง อย.ควรทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง" นายธนพลธ์ กล่าว


ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 26 พฤศจิกายน คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมสรรพสามิต ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม จัดการประชุมสัมมนาเพื่อการขับเคลื่อนมาตรการลดการบริโภคเกลือโซเดียมในประชากรไทย โดยมีวาระสำคัญ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือในประเทศไทย และ ลดการบริโภคเค็มด้วยแนวทางการเก็บภาษีโซเดียมเพื่อสุขภาพหรือภาษีอาหารที่มีรสเค็มจัด โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานและรับฟังแนวทางการขับเคลื่อนด้วยตัวเอง

Shares:
QR Code :
QR Code