เสนอกฎหมาย “อากาศสะอาด” แก้ปัญหาฝุ่นยั่งยืน
ที่มา : Workpoint News
แฟ้มภาพ
นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เสนอให้ออกกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหามลภาวะอากาศ เรียกว่า “ร่างกฎหมายอากาศสะอาด” แก้ปัญหาฝุ่นอย่างยั่งยืน
คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ระบุว่า ในฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มีสารพิษ-จุลินทรีย์ปนเปื้อน เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก สามารถเข้าไปสู่ส่วนลึกของก้าน หรือขั้วปอดได้ เมื่อสูดดมฝุ่นนี้เข้าไปมาก ๆ ก็จะก่อให้เกิดโรคต่างๆ ได้ในระยะยาว ผลวิจัยจากการเก็บตัวอย่างฝุ่นบนดาดฟ้า คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา พบสารโลหะหนัก 51 ชนิด ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย มีบางตัวที่เกินค่ามาตรฐาน คือ แคดเมียม และทังสเตน ซึ่งมีแหล่งกำเนิดเดียวกันกับฝุ่น PM 2.5
ขณะที่ผลการศึกษาจุลินทรีย์ในฝุ่นฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศในพื้นที่ กทม.ของคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร พบเชื้อจุลินทรีย์กลุ่มบาซิลลัส ที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ และพบเชื้อบาซิลลัส แอนทราซิส ทำให้เกิดโรคแอนแทรกซ์ หากสูดดมมาก ๆ ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต นอกจากนี้ยังพบเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ หอบหืด ซึ่งปริมาณฝุ่นมีความสัมพันธ์กับปริมาณเชื้อในอากาศ
ศ.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันฯ นิด้า เสนอว่า ภาครัฐควรกำหนดค่ามาตรฐานจุลินทรีย์ และโลหะหนักในอากาศ เหมือนเช่นกำหนดในน้ำ รวมทั้งอาหาร โดยอาจนำค่ามาตรฐานของประเทศยุโรปมาใช้ และควรออกกฎหมายอากาศสะอาด เพื่อแก้ปัญหามลพิษในอากาศ การแก้ปัญหาฝุ่นของภาครัฐขณะนี้ยังมีความทับซ้อนของหน่วยงานรัฐ จึงควรจัดตั้งสำนักพิทักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยออกเป็นกฎหมายเฉพาะเพื่อดูแลเรื่องสภาพอากาศ เรียกว่า พ.ร.บ.อากาศสะอาด เพื่อให้มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง และต่อเนื่อง