เศรษฐศาสตร์ มข.ออกค่ายอาสาฯ เดินตามรอยพ่อ ฝึกชีวิตพอเพียง

นักศึกษาสาขาเศรษฐศาสตร์ ชุมนุมวิทยเศรษฐกิจ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดกิจกรรมออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท ภายใต้ชื่อโครงการค่ายเศรษฐศาสตร์สู่สังคม ครั้งที่ 1 ตามรอยเท้าจากพ่อ ถักทอความฝัน สร้างสรรค์สังคม ในระหว่างวันที่ 11-17 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการค่ายอาสาพัฒนาสร้างเสริมสุขภาพ ปีที่ 6 มูลนิธิโกมลคีมทอง ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

เศรษฐศาสตร์ มข.ออกค่ายอาสาฯ เดินตามรอยพ่อ ฝึกชีวิตพอเพียง

กิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นที่ชุมชนบ้านห้วยเสือเต้น หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 16 ตำบลน้ำพอง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งการจัดกิจกรรมจะอยู่ในรูปแบบของค่ายอาสาพัฒนา นักศึกษาใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนร่วมกับชาวบ้าน โดยพักอาศัยแบบโฮมสเตย์ มีพ่อฮักแม่ฮักเป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด ตลอดจนการร่วมทำกิจกรรมผ่านการเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน พร้อมกับการเก็บข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ชุมชน

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมย่อยประกอบด้วย กิจกรรมรู้จักมักคุ้น ผักลอยฟ้า ฝึกสุขภาพจิตสุขภาพกายด้วยโยคะ กีฬาซ่าท้ากึ๋น อโรคาปาร์ตี้ คืนป่าให้ชุมชน พัฒนาชุมชน ดนตรีสร้างสุข ตามรอยเกษตรกรรม มูลมังอีสาน วิถีแห่งการพัฒนา ชิงช้าสวรรค์สัญจร ตลาดนัดสร้างสุข กีฬาฮาเฮ และบายศรีสู่ขวัญ

เศรษฐศาสตร์ มข.ออกค่ายอาสาฯ เดินตามรอยพ่อ ฝึกชีวิตพอเพียง

หมู่บ้านห้วยเสือเต้น เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่สามารถสร้างความเข้มแข็ง มีการบริหารจัดการภายในชุมชนที่ดี ผู้นำมีความเข้มแข็ง มีการประสานงานกับหน่วยงานภายนอกเพื่อพัฒนาชุมชน ก่อให้เกิดความร่วมมือในระหว่างชุมชน จนสามารถเป็นชุมชนที่สามารถพึ่งตนเอง สภาพภายในชุมชนประชาชนช่วยเหลือแบ่งปันซึ่งกันและกัน อยู่ในชุมชนอย่างมีความสุข จึงนับว่าเป็นชุมชนหนึ่งที่มีความโดดเด่นน่าสนใจในการศึกษา

นายสุรพงษ์ วงษ์ปาน ประธานโครงการ กล่าวว่า เป้าหมายหลักค่ายคือ การให้นักศึกษาซึ่งถูกเรียกว่า ปัญญาชน ได้ลองสัมผัสกับวิถีชีวิตแบบชาวบ้าน ผ่านการศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ วัฒนธรรมของชุมชน ตลอดจนการส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพควบคู่กับการสังเคราะห์ วิเคราะห์ และถอดบทเรียนจากประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกัน

เศรษฐศาสตร์ มข.ออกค่ายอาสาฯ เดินตามรอยพ่อ ฝึกชีวิตพอเพียง

“จากการใช้ชีวิตอยู่ที่หมู่บ้านแห่งนี้ตลอดเวลากว่า 7 วัน ทำให้ทราบว่า บ้านห้วยเสือเต้นเป็นหมู่บ้านที่มีความโดดเด่นในหลายด้าน ได้แก่ ด้านความพอเพียงในชุมชน ซึ่งแม้จะเป็นชุมชนที่อยู่ติดกับเมืองคืออำเภอน้ำพอง แต่มีการจัดระบบของการอยู่ร่วมกันในชุมชนด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเกื้อกูลกัน ประชาชนยึดหลักความพอเพียง มีการทำการเกษตรแบบผสมผสาน การทำการประมงน้ำจืดที่เป็นมิตรกับลำน้ำพอง มีการปลูกผักสวนครัวในหมู่บ้าน ที่สามารถลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้ อีกทั้งยังเป็นผักที่ปลอดสารพิษ

ในด้านเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นชุมชนที่มีการบริหารจัดการภายในชุมชนได้เป็นอย่างดีและมีความเข้มแข็ง มีการรวมกลุ่มกันเพื่อจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเพื่อแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรเช่น การทอเสื่อ การแปรรูปถั่วลิสงภายใต้ตราสัญลักษณ์ “เสือยิ้ม” การตั้งโรงสีชุมชน การจัดการปุ๋ยร่วมกันของคนในชุมชน การรวมกลุ่มเพาะเห็ด และการผลิตน้ำดื่มในชุมชน

อีกทั้งในด้านศิลปวัฒนธรรม ชุมชนแห่งนี้มีศิลปินท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้านในหลายแขนง ทั้งการนวด หมอยาสมุนไพร หมอสู่ขวัญทำขวัญและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมถึงการขับร้องสรภัญญะ และการจ่ายผญา ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังคงอยู่คู่กับชุมชนแห่งนี้ และนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง”

เศรษฐศาสตร์ มข.ออกค่ายอาสาฯ เดินตามรอยพ่อ ฝึกชีวิตพอเพียง

นางสาวมนทิรา ภูบุตรตะ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ที่เข้าร่วมกิจกรรมกล่าวว่า เป็นค่ายที่ดีที่สุดและประทับใจมากที่สุด มาค่ายนี้ได้ทำอะไรหลายๆอย่าง จากคนที่ทำอะไรไม่เป็น จากคนที่ไม่กล้าทำอะไร ไม่กล้าแสดงออก ไม่รู้อะไรในบางเรื่อง ก็ได้รู้ ทำได้ กล้าทำ เปลี่ยนเป็นอีกคนเลยค่ะ

เช่นเดียวกับ นายยงยุทธ กิตติฤทธิชัย นักศึกษาชั้นปีที่ 2 หนึ่งในชาวค่ายที่กล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะไม่เคยไปออกค่ายที่ไหนเลย ค่ายนี้จึงเป็นค่ายแรกของผม พอได้มาอยู่ค่ายนี้แล้วรู้สึกสนุกกว่าที่คิด ทีมงานบ้าน the starทุ่มเทกับงานมาก ผมขอขอบคุณบ้าน the star ที่เสียสละเวลาจัดเตรียมงานให้เราทำกิจกรรมในแต่ละวัน มาอยู่ค่ายนี้คุ้มค่ามาก ได้ทั้งความรู้ การพบปะพูดคุยกับชาวบ้าน ซึ่งแม้จะคนละภาษา แต่ก็เป็นชีวิตที่สนุกและมีคุณค่ามากๆ

ด้าน อาจารย์ประเสริฐ วิจิตรนพรัตน์ อาจารย์ที่ปรึกษาชุมนุมวิทยเศรษฐกิจ กล่าวว่า การออกค่ายครั้งนี้ คงจะเป็นโอกาสที่นักศึกษาได้ใช้วิชาความรู้จากที่ได้เล่าเรียน ในการประยุกต์ใช้กับสภาพจริง ตลอดจนการได้เรียนรู้และเข้าใจสังคมที่เป็นอยู่ มากกว่าการเรียนหรือมองในห้องแคบๆ

เศรษฐศาสตร์ มข.ออกค่ายอาสาฯ เดินตามรอยพ่อ ฝึกชีวิตพอเพียง

“สุดท้ายแล้ว นักศึกษาจะสามารถหาคำตอบได้เองว่า ตอนนี้เราเรียนอะไร เรียนไปทำไม เรียนไปเพื่ออะไร และต่อไปเราควรจะทำอย่างไร การออกค่ายครั้งนี้ คงจะเป็นเครื่องการันตีว่า ชีวิตนักศึกษาทุกคนในครั้งนี้ จะไม่ได้เพียงแค่กระดาษแผ่นเดียวที่เรียกว่า ปริญญาบัตร อย่างแน่นอน” อาจารย์ประเสริฐ กล่าว

 

ที่มา: เว็บไซต์เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์

Shares:
QR Code :
QR Code