เวทีแลกเปลี่ยน แก้จนแบบูรณาการ
จ.ชัยภูมิ ดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการ พบครัวเรือนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ดีขึ้น
นางนภา ศกุนตนาค รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ มอบใบประกาศเกียรติคุณ และเปิดกิจกรรมนำเสนอผลการบริหารจัดการชีวิต ครัวเรือนยากจน ของ ปี 2557 ก่อนร่วมรับฟังการนำเสนอผลการจัดการชีวิตครัวเรือนยากจนต้นแบบ ซึ่งสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดชัยภูมิจัดขึ้น ที่ ห้องประชุมแคนา ร้านอาหารโสเจ๊ง หวังสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัว สามารถลดปัญหาความยากจนได้ตามเป้าหมาย หลังจาก กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินโครงการลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ด้วยการขจัดความยากจนในชนบท ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา โดยมอบหมายให้ กรมการพัฒนาชุมชนเป็นเจ้าภาพหลักในการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยดำเนินโครงการ “การบริหารจัดการครัวเรือนยากจนแบบบูรณาการ : ชี้เป้าชีวิต จัดทำเข็มทิศชีวิต บริหารจัดการชีวิต และดูแลชีวิต”
จังหวัดชัยภูมิ มีกลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำ 30,000 บาท ต่อคนต่อปี จากข้อมูล จปฐ. ปี 2556 จำนวน 614 ครัวเรือน ปัจจุบันมีครัวเรือนเป้าหมายที่เสียชีวิต อพยพออกนอกพื้นที่ 12 ครัวเรือน คงเหลือ 602 ครัวเรือน โดยดำเนินโครงการฯ ตามแนวทางที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนด และจังหวัดชัยภูมิ ดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการ จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 2โครงการ ได้แก่ โครงการ “ชัยภูมิงานบุญ งานเศร้า ปลอดเหล้า และอบายมุข” ปัจจุบันมีหมู่บ้านสมัครและบันทึกข้อตกลงเข้าร่วมโครงการฯ 629 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 1,617 หมู่บ้านซึ่งในปี 2557 มีหมู่บ้านดำเนินกิจกรรมฯ ตามบันทึกข้อตกลงฯแล้ว จำนวน 261 หมู่บ้าน สามารถลดรายจ่ายจากการดำเนินกิจกรรมฯ เป็นเงินจำนวน 5,251,451 บาท และ โครงการ “ชัยภูมิรวมใจ ซ่อมแซม/ปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้ครัวเรือนยากจน อยู่เย็น เป็นสุข” กลุ่มเป้าหมาย 14 ครัวเรือน ได้รับการซ่อมแซม/ปรับปรุงที่อยู่อาศัยแล้ว จำนวน 9 ครัวเรือน อยู่ระหว่างการซ่อมแซมฯ 2 ครัวเรือน โดยได้รับการบริจาคเงิน จากเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน/ข้าราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน กลุ่ม/องค์กร เครือข่ายการพัฒนาชุมชน ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ เป็นเงิน 101, 357 บาท และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 86,350 บาท และจากศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 10 จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 20,000 บาท คงเหลือ 3 ครัวเรือน อยู่ระหว่างการประชาสัมพันธ์เพื่อขอรับเงินบริจาค และวัสดุ/อุปกรณ์
จากการดำเนินงาน ตามโครงการดังกล่าว พบว่า มีครัวเรือนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิต และยกระดับรายได้ผ่านเกณฑ์ จำนวน 562 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 93.35 คงเหลือ 40 ครัวเรือน อยู่ระหว่างการดำเนินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยการติดตาม และสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมฯ จากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบครัวเรือนยากจน ชุดปฏิบัติการแก้จนระดับตำบล และอำเภอ
ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์