เวทีปฏิรูปเครือข่ายผู้นำการเรียนรู้
ภาพสะท้อน “การศึกษาเพื่อตอบโจทย์ท้องถิ่น” : เมื่อ ‘เขตพื้นที่’ ปรับบทบาทจาก “หน่วยเหนือ” เป็น “นายช่างใหญ่” ประสานสร้างเครือข่าย ‘ธุรกิจ-ท้องถิ่น’ หนุน ‘โรงเรียน’ ทำ ‘หลักสูตรอาชีพ’ แก้ปัญหาเด็กดร๊อปเอาท์-เรียนจบ ทำงานได้จริง
หนึ่งในปัญหาใหญ่ร่วมกันของแวดวงการศึกษาไทย คือ ปัญหาเด็กดร็อปเอาท์ ที่สุดท้ายเด็กเยาวชนไทยจะถูกผลักเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างไม่ได้ตั้งตัว ขาดทักษะที่เหมาะสม กลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือ เมื่อมองย้อนกลับสู่ “ระบบการศึกษา” จากเดิมเคยตั้งธงมุ่งสู่การสร้างเด็กเยาวชนให้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา จึงต้องเริ่มมองหา “โจทย์การศึกษาแนวใหม่” ที่สอดคล้องตรงตามความของผู้เรียนในท้องถิ่น
“เรียนอย่างไร จบไปมีงานทำ” เพื่อสร้างทักษะชีวิตและโลกของงาน จึงกลายเป็นอีกหนึ่งโจทย์ร่วมที่เร่งด่วนของการปฏิรูปการศึกษาไทย โดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ ได้หยิบกรณีศึกษาของ “สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 2” ที่สะท้อนภาพการปรับกระบวนทัศน์ของระบบการทำงานครั้งใหญ่ของ “เขตพื้นที่การศึกษา” ที่มีการรับไม้ต่อเพื่อประสานความต้องการและวิธีการแก้ปัญหาเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนในพื้นที่รับผิดชอบร่วมกับ “ภาควิชาการ-ภาคธุรกิจ-ภาคประชาสังคม” โดยมีโจทย์หลักเพื่อส่งเสริมการสร้างอาชีพที่ยั่งยืนในระบบการศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับบริบทความต้องการของโรงเรียน และชุมชนท้องถิ่น เพื่อมุ่งลดอัตราเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างเร่งด่วน
นายสินอาจ ลำพูนพงศ์ ผู้อำนวยการสพป.เชียงใหม่ เขต 2 กล่าวสรุปถึงกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษาว่า หลังจากได้ปมปัญหา “เด็กออกจากระบบการศึกษา” แล้ว ก็นำสู่กระบวนการในการค้นหาวิธีการและรูปแบบในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ความพร้อมของนักเรียนและโรงเรียนในสพป.เชียงใหม่ เขต 2 จะพบว่ายากแก่การแข่งขันที่มุ่งระดับอุดมศึกษาเพียงอย่างเดียว และสิ่งที่สำคัญมากกว่าคือ ทำอย่างไรให้เด็กมี ‘อาวุธ’ ติดตัวไปประกอบอาชีพ และสามารถดำรงอยู่ในพื้นที่ของตัวเองได้จริง
ตลอดระยะเวลาปีเศษที่ผ่านมา จึงเป็นที่มาของการระดมโรงเรียนที่มีปัญหาร่วมเดียวกันในพื้นที่ จัดตั้งให้เกิด “ชมรมการศึกษาวิชาชีพ” เมื่อปลายปี 2555 ซึ่งมีบทบาทในการเป็นตัวกลางประสานแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านอาชีพที่ดีในชุมชน โดยมีการจัดประชุมเพื่อคัดเลือกโรงเรียนที่เข้มแข็ง และมีความพร้อมในการค้นหาสินค้าผลิตภัณฑ์ และบริการก่อน โดยรุ่นแรกได้โรงเรียนที่ “ทำจริง” ร่วมอุดมการณ์ 30 โรงเรียน โดยมี 9 โรงเรียนนำร่องในระยะที่ 1 ซึ่ง ปัจจุบันมีหลักสูตรที่บรรจุอยู่ในหน่วยการเรียนรู้ มีสินค้าและผลิตภัณฑ์ สามารถแบ่งเป็น 4 กลุ่มงานหลัก ดังนี้
กลุ่มงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่า เช่น เกษตรอินทรีย์ สวนพฤษศาสตร์สู่การจดลิขสิทธิ์งานวิจัยพันธุ์พืช
กลุ่มงานอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ไอศกรีมมะม่วง ไอศกรีมเต้าหู้ ทองม้วนถั่วเหลือง ชาใบหม่อน
กลุ่มงานหัตถกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์แฮดเมตด์จากหนัง งานแกะสลัก งานประดิษฐ์ดินญี่ปุ่นของตกแต่งธรรมชาติ
กลุ่มงานบริการ เช่น การนวด การโรงแรม การจัดการและบริหารธุรกิจ
โดยสพป.เชียงใหม่เขต 2 ได้เปิด “สำนักงานเขตพื้นที่” เป็นศูนย์กลางในการรับจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์และบริการในรูปแบบ “สหกรณ์การค้า” เพื่อสร้างให้เกิดระบบหมุนเวียนครบวงจรอย่างยั่งยืนในโลกธุรกิจการทำงานจริง ต้นทุนจริง กำไรจริง และขาดทุนจริง โดยได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจหลายแห่งที่นำสินค้าผลิตภัณฑ์ของนักเรียนไปจัดวางขายตามจุดพักรถ และตามร้านของฝาก
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สสค. กล่าวว่า ประเด็นสำคัญของการจัดการเรียนรู้สู่การมีงานทำนั้น จะต้องมีความแตกต่างกันในเรื่องรูปแบบ และวิธีการในแต่ละช่วงชั้น เช่น ในระดับประถม ควรให้เด็ก “สู้งาน-ไม่หยิบโหย่ง”
ขณะระดับม.ต้น และม.ปลายนั้น ต้องสอนเริ่มสอนเด็กให้สำรวจโลกของอาชีพ เพื่อให้เด็กเริ่มมีทางเลือกในชีวิต นอกเหนือจากการผลักสู่การเรียนระดับอุมศึกษาเพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกันก็ต้องมีการเชื่อมต่อการฝึกงานกับภาควิสาหกิจชุมชน เพื่อให้เด็กทั้งม.ต้น และม.ปลาย สามารถเรียนจบไปแล้วทำงานได้จริง เช่นเดียวกับเด็กหลุดออกนอกระบบ ก็ต้องมีเส้นทางใดที่จะให้เด็กเหล่านี้สามารถกลับมาพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อเตรียมพร้อมตัวเอง ก่อนที่จะกลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือได้ ฉะนั้น “ระบบ” ที่ว่านี้ จึงต้องมีการเชื่อมโยงท้องถิ่น ชุมชน ทั้งภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อสร้างเส้นทางให้เด็กเยาวชนไทยทั้งในระบบ และนอกระบบมีทางเดินต่อไปได้ตามสิ่งที่พวกเขาต้องการ
โดยครั้งนี้ สสค.ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และสพป.เชียงใหม่เขต 2 จัดเวทีสัญจรในพื้นที่ระหว่างวันที่ 5-6 ก.ย.นี้ ณ สพป.เชียงใหม่เขต 2 โดยวงเสวนาวันแรกจะเป็นการพบกันนระหว่าง “ภาคธุรกิจเชียงใหม่ vs ผู้ประกอบการท้องถิ่น” กับโรงเรียนที่มาพร้อมสินค้าผลิตภัณฑ์ และบริการ เพื่อให้ผู้รู้จากฝากนายทุนนักธุรกิจได้แนะนำทิศทางการสร้างทักษะและอาชีพในโลกของงาน เป็นการส่งไม้ต่อจากภาคการศึกษาสู่ภาคธุรกิจให้สุดทาง เช่น ผู้ประกอบการจากบริษัท ชาระมิงค์ จำกัด และบริษัทเชียงใหม่ “วนัสนันท์” ร้านของฝากชื่อดัง
ส่วนเวทีเครือข่ายผู้นำการเรียนรู้สู่ทักษะชีวิตและโลกของงานในวันที่ 6 ก.ย.นั้น จะเป็นการพบกันของเครือข่ายผู้อำนวยการที่ปฏิบัติงานจริง ทำจริงในพื้นที่ จากทั่วประเทศ อาทิ ตาก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ พะเยา เชียงราย น่าน ศรีสะเกษ และพังงา มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการศึกษา “เรียนอย่างไร จบไปมีงานทำ” โดยมี ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ให้เกียรติเป็นประธานร่วมลงพื้นที่สัญจร และจะมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีวิทยุชุมชน www.tnewsnetwork.com ในวันที่ 6 กันยายนนี้ ระหว่างเวลา 09.30-13.00 น.โดยสามารถรับฟังการถ่ายทอดสดกันได้ที่ www.qlf.or.th และร่วมแสดงความคิดเห็นในช่วงถ่ายทอดสดได้ที่ 084-004-0216 เช่นเคย
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)