เวทีปฏิรูปการเรียนรู้ ครั้งที่ 25 จังหวัดภูเก็ต

         จากเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของคนภูเก็ต เพื่อร่วมกันฉายภาพถึงทิศทางการพัฒนาการศึกษาของจังหวัด ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า จัดโดยคณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจังหวัดภูเก็ต ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) นับเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความตื่นตัวของคนภูเก็ตทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน และภาคประชาสังคมที่มีต่อการจัดการศึกษาด้วยสมองและสองมือของคนภูเก็ตเอง

 /data/content/19517/cms/dfklopqtuz34.jpg

          ผลจากเวทีประชาพิจารณ์ด้านการศึกษาของคนภูเก็ต ทำให้เกิดการก่อตั้ง ‘สภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต’ ขึ้น พร้อมกับแนวทางสร้างเด็กภูเก็ตให้เป็นคน ‘ตงห่อ’ มีคุณธรรม สำนึกรักถิ่นเกิด และสื่อสารได้หลายภาษา 

          บัณฑูร ทองตัน ประธานสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต เล่าว่า สภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต ได้ออกเป็นข้อกำหนด โดยมีโครงสร้างของ 5 ภาคส่วน ประกอบด้วย ภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน ประชาสังคม และวิชาการ เพราะเล็งเห็นว่าการดึงทุกภาคส่วนเข้าร่วมมือจะเกิดประสิทธิภาพอย่างมาก ระหว่างนี้คณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะรักษาการคณะกรรมการสภาจังหวัดภูเก็ตไปก่อนจนกว่าจะหมดวาระ แล้วเลือกตั้งใหม่ 

        “ปัญหาที่ตามมาคือ สภาการศึกษาไม่ใช่นิติบุคคล ไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งมองว่า เราน่าจะคิดนอกกรอบ โดยการมีแหล่งทุนสนับสนุนเพื่อให้งานเดินต่อได้ จึงเกิดแนวคิดจัดตั้งมูลนิธิสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ตขึ้น และดึงกลุ่มศิลปินมาช่วยระดมทุน” 

        กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ – ลานปลดปล่อยศักยภาพ 

        สำหรับกิจกรรมการดำเนินงานของสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วย  โครงการพ่อแม่เลี้ยงดูลูกให้เป็นคนดี โดยร่วมกับแม่ชี/data/content/19517/cms/bfgimnrstu38.jpgศันสนีย์ เสถียรสุต จัดเวทีพ่อแม่เลี้ยงดูลูกให้มีคุณธรรม , การพัฒนาศักยภาพครูสอนดี , การแก้ปัญหาแม่วัยรุ่นในจังหวัดภูเก็ต , การดูแลกลุ่มเด็กด้อยโอกาส ร่วมกับมูลนิธิเด็กโสสะ นักพัฒนาชุมชนและนักสังคมสงเคราะห์ เก็บข้อมูลเด็กด้อยโอกาสและให้ความช่วยเหลือโดยส่งต่อไปยังสถานสงเคราะห์ , การส่งเสริมสาระท้องถิ่นในโรงเรียน 

         นอกจากนี้ ‘กองทุนพี่ร้อง ให้น้องได้เรียน’ ที่ได้จากการเปิดคอนเสิร์ตระดมทุน จึงมีการวางแผนการทำงาน  โดยปักธงเรื่องการสร้างเด็กภูเก็ตให้มีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งในปี 2557 จะเน้นเรื่องการสร้างสรรค์ผ่านงานศิลปะ โดยนายจุมพล หรือ โกไข่ เป็นผู้ดึงกลุ่มศิลปินที่มีชื่อเสียงด้านงานศิลปะ เช่น สีน้ำ การแกะสลักพระจีน มาเปิดลานสอนศิลปะให้แก่เด็กและเยาวชนภูเก็ตที่สนใจ ณ ตลาดนัดหน้าเดินหลาดใหญ่ 

          เด็กภูเก็ต ‘ตงห่อ’ ปลูกฝังนิสัยคุณธรรม 

          ‘ตงห่อ’ ภาษาถิ่นของจังหวัดภูเก็ต มีความหมายถึง การเป็นคนดีในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ และกตัญญู การสร้างเด็กภูเก็ตให้เป็นคน ‘ตงห่อ’ หรือเป็นคนดี ตามสไตล์ภูเก็ต ภายใต้สโลแกน “สร้างเด็กภูเก็ตให้ตงห่อ เพียงพอด้วยหลักคิด ใกล้ชิดวัฒนธรรมประเพณี รักศักดิ์ศรีพูดจาภาษาถิ่น” จึงเริ่มจากการดึงผู้นำนักเรียนในแต่ละโรงเรียน กว่า 53 คน มาทำงานร่วมกัน โดยสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต ได้จัดประชุมเพื่อให้แนวคิด จากนั้นได้เปิดโอกาสให้ผู้นำนักเรียนได้ร่วมกันคิดกิจกรรมสู่การสร้างเด็กภูเก็ตตงห่อ ทั้งในโรงเรียนของตนเองและนอกโรงเรียน จนเกิดเป็นปฏิญญาว่าด้วยเด็กภูเก็ตขึ้น   

        วันนี้แกนนำเด็กและเยาวชนจ.ภูเก็ต กำลังเริ่มปฏิบัติการสร้างเด็กและเยาวชนจ.ภูเก็ตให้เป็นคน ‘ตงห่อ’ โดยกระจายสู่โรงเรียนของตัวแทนนักเรียนและกิจกรรมสู่สาธารณชน ตลาดนัดหน้าเดินหลาดใหญ่ ชุมชนเก่าแก่ในต.ตลาดใหญ่ จึงกลายเป็นลานกิจกรรม เพื่อสื่อสารความเป็นเด็กภูเก็ตตงห่อ จนคำๆนี้ กลับมาเป็นที่คุ้นหูของคนภูเก็ตอีกครั้ง

         ระบบฐานข้อมูลเด็กและเยาวชน นำร่องเทศบาลนครภูเก็ต    

         เทศบาลนครภูเก็ต ถือเป็นพื้นที่นำร่องของการจัดทำระบบฐานข้อมูลเด็กและเยาวชน ร่วมกับสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต และมหาวิทยาลัยนเรศวร ในโครงการวิจัยและจัดทำระบบฐานข้อมูลและเยาวชนของสสค.  

          นพ.โกศล แตงอุทัย รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครภูเก็ต เล่าว่า “การมีระบบฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนจะทำให้ได้คำตอบเรื่องการลงทุนทั้งเรื่องคนและงบประมาณว่าได้ผลคุ้มค่าหรือไม่ ต้องเปลี่ยนกลยุทธ์หรือกลวิธีการทำงานหรือไม่ และรู้สถานการณ์ความเป็นไปของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ เพื่อออกแบบการทำงานอย่างถูกทิศทาง” 

          ไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เล่าว่า การมีสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ตถือเป็นเรื่องที่ดีต่อคนภูเก็ต เพราะมาจากหลากหลายหน่วยงาน จากผู้ที่รู้ปัญหาจริงและผู้ที่ลงมือปฏิบัติจริง และมีการจัดเวทีประชาพิจารณ์และจัดทำโครงการต่างๆขึ้นมารองรับโดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ร่วมกันคิด ร่วมแรงร่วมใจที่จะพัฒนาการศึกษาให้เคลื่อนกันทั้งระบบ ทั้งนี้ในการเคลื่อนต่อไป สิ่งที่อยากเห็นคือ การดูแลกลุ่มเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสที่ไม่สามารถหาโรงเรียนได้ พ่อแม่ไม่สนับสนุนเรื่องการเรียน และชาวต่างชาติที่มาทำงานในภูเก็ต เช่น ชาวพม่า ยังมีปัญหาการเข้าเรียนจำนวนมาก เพื่อดูแลให้ครบทุกกลุ่มให้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ 

 

 

           ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)

Shares:
QR Code :
QR Code