เวทีถกโรคเบาหวานกับภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน
ที่มา : ข่าวสด
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ hfocus.org
จัดอบรม "มีสุขภาพดี" คุมได้ แก้ไขได้ทัน "สรรค์ความช่วยเหลือ" เนื่องในวันเบาหวานโลก
ในวันที่ 14 พ.ย.ของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศ ไทยภายใต้โครงการป้องกันและส่งเสริม คนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน สนับสนุน โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเวทีระดมทีมแพทย์ บุคลากร ผู้เชี่ยวชาญด้านงานเวชศาสตร์ฉุกเฉินจากทั่วประเทศกว่า 100 คน จัดอบรมภายใต้แนวคิด "มีสุขภาพดี" คุมได้ แก้ไขได้ทัน "สรรค์ความช่วยเหลือ" โดยมีหัวข้อที่ น่าสนใจ ได้แก่ คำถามที่พบบ่อยจากผู้ป่วยเบาหวาน และแนวทางปฏิบัติทำให้ไม่เกิดการ เจ็บป่วยฉุกเฉินจากโรคเบาหวาน โดย รศ.พญ.ทิพาพร ธาระวานิช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ พญ.ฐิตินันท์ อนุสรณ์วงศ์ชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อมไร้ท่อและโรคเบาหวานโรงพยาบาลเลิดสิน
รศ.พญ.ทิพาพร กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินจนถึงขั้นเข้าโรงพยาบาลนั้น มักเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ 1.แทรกซ้อนแบบเฉียบพลัน คือ มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ-สูง อย่างรุนแรง โดยผู้มีน้ำตาลในเลือดต่ำจะมีน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 ส่วนภาวะน้ำตาลในเลือดสูงนั้นจะมีน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 126
2.แทรกซ้อนแบบเรื้อรัง จะเป็นลักษณะของ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต แขน-ขาไม่มีแรง โรคหัวใจ หรือ โรคจากการติดเชื้อ เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด หรือผู้ป่วยเบาหวานที่ขาเป็นแผล จนต้องตัดขา เป็นต้น
สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยโรคเบาหวานในประเทศไทยขณะนี้ พบว่า ในคนไทย 11 คน จะพบผู้ป่วย 1 คน หรือ คิดเป็น ร้อยละ 9.8 จากประชากรทั้งหมด ซึ่งเบาหวานที่พบบ่อยคือ เบาหวานที่เกิดกับผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ที่กำหนดหรืออ้วนหรือมีประวัติทางกรรมพันธุ์
นอกจากนี้ เบาหวานที่เกิดกับกลุ่มเยาวชนที่มีน้ำหนักเกินมีแนวโน้มสูงขึ้นจากอดีต โดยมักจะอยู่ในภาวะน้ำตาลในเลือดสูง จนต้องฉีดอินซูลินวันละหลายๆ ครั้ง หากผู้ป่วยขาดยามื้อใดมื้อหนึ่งไป อาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจนเลือดเป็นกรด ซึ่งผู้ปกครองต้องดูแลในส่วนนี้อย่างใกล้ชิด
"หากมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง หอบ เหนื่อย หน้าและ ปากเบี้ยว พูดไม่ได้ แขน ขาอ่อนแรง ซึ่งเป็นอาการของโลกอัมพฤกษ์อัมพาต หรือมีไข้สูง มีแผล ที่เท้าติดเชื้อบวมแดงขอให้รีบมา โรงพยาบาลทันที สำหรับแนวทางป้องกัน ผู้ป่วยต้องรู้จักอาการแต่ละชนิดก่อนว่าเกิดจากสาเหตุใด และต้องพึงระลึก ไว้เสมอว่าโรค เบาหวานไม่ใช่โรคที่เกี่ยวกับน้ำตาลเพียงอย่างเดียว แต่เป็นโรคเกี่ยว กับหลอดเลือด เพราะฉะนั้น ต้องรักษาความดัน ไขมัน พบแพทย์ สม่ำเสมอ ออกกำลังกาย งดสูบบุหรี่ และลดน้ำหนัก"
พญ.ฐิตินันท์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ควบคุมโอกาสการเกิดโรคเบาหวานได้คือ การลดน้ำหนัก การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ส่วนปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้คือ เชื้อชาติ กรรมพันธุ์ อายุที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้โรคแทรก ซ้อนอื่นๆ อาทิ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นโรคหัวใจ หรือมีถุงน้ำในรังไข่ก็เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคเบาหวานได้เช่นกัน
"จากหลายๆ ผลการศึกษาจากต่างประเทศพบว่า การแก้ไขวิถีการดำเนินชีวิต โดยการออกกำลังกายแอโรบิก สัปดาห์ละ 150 นาทีเป็นอย่างน้อย ลดอาหารหวานและอาหารที่ให้พลังงานเยอะ กินอาหารตรงเวลา ลดปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้เอง สามารถชะลอการเกิดโรคเบาหวานในอนาคตได้ถึง 28% โดยไม่ต้องอาศัยยาให้เสีย ค่าใช้จ่าย ซึ่งถือว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด" พญ.ฐิตินันท์ ระบุ
เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่คนส่วนใหญ่คิดว่าไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมน้ำตาลอยู่ในระดับปกติ จะส่งผลให้เจ็บป่วยฉุกเฉินด้วยโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้ หรือทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้