เล่นสมาร์ทโฟนเสี่ยง ‘สายตาสั้นเทียม’

ลูกเล่นสมาร์ทโฟนเสี่ยงภาวะ "ตาเพ่งค้าง" ก่อสายตาสั้นเทียม จักษุแพทย์เตือนพ่อแม่พาไปตัดแว่นที่ร้านระวังได้แว่นไม่ตรงค่าสายตา เหตุสายตาสั้นเทียมหายเองได้ในไม่กี่นาทีหรือหลายวัน แนะตรวจที่โรงพยาบาลใช้ยาหยอดลดการเพ่ง ช่วยได้ค่าสายตาที่แท้จริง


เล่นสมาร์ทโฟนเสี่ยง 'สายตาสั้นเทียม' thaihealth


รศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า การใช้สมาร์ทโฟนของเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี จะมีลักษณะการใช้สายตาในการเพ่งมองใกล้มากกว่าการใช้คอมพิวเตอร์ จนเกิดภาวะที่เรียกว่า "ตาเพ่งค้าง" อาจทำให้เกิดอาการปวดหัว ตาพร่าได้ หรือที่เรียกว่าสายตาสั้นเทียมชั่วคราว ซึ่งขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและภาวะของแต่ละคนด้วย อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือพ่อแม่มักพาเด็กกลุ่มนี้ไปตัดแว่นที่ร้านแว่นต่างๆ เพราะเข้าใจว่าลูกสายตาสั้น แต่จริงๆ แล้วอาจไม่ใช่ ซึ่งสายตาสั้นเทียมบางรายเกิดแค่ไม่กี่นาทีก็หาย บางคนเป็นวัน ทำให้เมื่อสวมใส่แว่นตาแล้วสุดท้ายมีอาการปวดสายตาและส่งผลเสียต่อตาในที่สุด


รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า อย่างการตรวจรักษาตาในเด็กของ รพ.ธรรมศาสตร์ฯที่มีกว่า 500 คนต่อเดือน พบว่า อาการตาพร่ามัวที่พ่อแม่เข้าใจว่าลูกสายตาสั้นจากการเล่นเกมนั้น ร้อยละ 50 เป็นสายตาสั้นเทียม โดยวิธีในการตรวจว่าเป็นสายตาสั้นเทียมหรือไม่ จะตรวจสายตาตามปกติก่อน ซึ่งมักจะได้ค่าสายตามากกว่าปกติ จากนั้นจะหยอดยาลดการเพ่ง เพื่อปรับสายตาให้คงที่ แล้วจึงวัดค่าสายตาว่าจริงๆ แล้วสายตาเด็กยังปกติอยู่หรือไม่ เป็นเพียงสายตาสั้นเทียม หรือว่าสายตาสั้นเท่าไร เป็นต้น


"หากเป็นร้านแว่นจะตรวจละเอียดเช่นนี้ไม่ได้ว่าเป็นสายตาสั้นเทียมหรือไม่ เพราะไม่สามารถหยอดยาดังกล่าวได้ เนื่องจากผิดกฎหมายการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สุดท้ายเด็กก็จะได้แว่นสายตาที่ไม่ตรงกับค่าสายตาจริงๆ ดังนั้น การตรวจจึงควรมาพบแพทย์มากกว่า และขอให้ผู้ปกครองหมั่นควบคุมการใช้โทรศัพท์มือถือ วันธรรมดาควรให้เล่นไม่เกินวันละ 2 รอบ รอบละไม่เกิน 30-45 นาที จากนั้นให้พักสายตา มองไปไกลๆ อย่างน้อย 5-10 นาที และวันเสาร์อาทิตย์อาจให้เล่นมากขึ้นประมาณ 3 รอบ" รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว


นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเพ่งมองสมาร์ทโฟนหรือ คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ต้องพิจารณาว่าใช้งานมากน้อยแค่ไหน อย่างการเพ่งมองสมาร์ทโฟน หรืออ่านหนังสือเตรียมสอบของนักเรียน ส่วนใหญ่จะส่งผลกระทบกับสายตา คือ สายตาสั้นชั่วคราว แต่เมื่อออกจากการใช้สายตาลักษณะดังกล่าวก็จะกลับมาเหมือนเดิม แต่กรณีที่ใช้สายตาแบบนั้นนานๆ หลายชั่วโมงกินเวลาเป็นปีๆ ก็มีโอกาสสายตาสั้นถาวรได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อตาโดยปกติจะมีการปรับการมองเห็นใกล้และไกลอย่างอัตโนมัติ แต่หากมองอะไรเป็นเวลานานๆ ก็จะทำให้ระบบกล้ามเนื้อตาดังกล่าวไม่ทำงานอัตโนมัติอีก ซึ่งปกติระบบกล้ามเนื้อตาจะเสื่อมลงตามอายุ แต่หากใช้โทรศัพท์ หรือจ้องมองอะไร หรือใช้งานสายตามากๆเป็นเวลานานติดต่อกันย่อมทำให้เสื่อมเร็ว และมีโอกาสสายตาสั้นถาวร


 


 


ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์        


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต                    

Shares:
QR Code :
QR Code