"เล่นสนุก" เพื่อสุขภาพที่ดีของเด็กไทย
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ภาพโดย สสส.
เด็กคืออนาคตของชาติ แต่สถานการณ์ปัจจุบันของเด็กและเยาวชนไทย ยังน่าเป็นห่วงเกี่ยวกับพฤติกรรม การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อความบันเทิงประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือเครื่องเล่นเกม ที่พบว่า เด็กและเยาวชนไทยกว่าร้อยละ 75 มีพฤติกรรมที่ใช้สูงกว่าเกณฑ์จนเข้าขั้นวิกฤต ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาทางด้านสุขภาพในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติทางสายตา สมองและการเรียนรู้ ตลอดจนพัฒนาการทางด้านอารมณ์และสังคม
ขณะที่ข้อแนะนำจากสถาบันที่เชี่ยวชาญทางด้านเด็กของสหรัฐอเมริกา ระบุ ให้เด็กทารกจนถึงวัย 2 ขวบ ไม่ควรหยิบจับอุปกรณ์ไฮเทคต่าง ๆ ส่วนเด็กอายุ 3-5 ขวบให้เล่นได้วันละไม่เกิน 1 ชั่วโมง และในวัยที่โตกว่านั้นจนถึงอายุ 18 ปี ควรเล่นแค่วันละ 2 ชั่วโมง
เมื่อปัญหาสุขภาพของเด็กไม่เล็กอย่างที่คิด จึงทำให้เกิดแนวคิดการเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการ หรือ โปรแกรม ACP (Active Child Program) โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล ได้ร่วมมือกับสมาคมกีฬาแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Sport Association) ผู้เป็นต้นแบบโปรแกรม ACP เพื่อสร้างทางเลือกในการส่งเสริมการเคลื่อนไหว และการมีกิจกรรมทางกาย ลดวิกฤตเด็กไทย ติดหน้าจอ
มร.ชิฮารุ อิบาขิ ผู้จัดการทั่วไป สำนักส่งเสริมการกีฬา สมาคมกีฬาแห่งประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า สำหรับประเทศญี่ปุ่น ภาวะสุขภาพของเด็กถือว่ามีความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ โดยในปี ค.ศ.1985 สุขภาพของเด็กในญี่ปุ่นมีเกณฑ์ที่ดีมาก หลังจากปีนั้นเป็นต้นมาก็มีเกณฑ์ต่ำลงเรื่อย ๆ จึงทำให้สมาคมเองเกิดการตระหนักและอยากแก้ไข จนเกิดโปรแกรม ACP (Active Child Program)
"การจัดการปัญหาของสุขภาพเด็กด้วยการมองเด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็กที่จะควบคุมให้ไปออกกำลังกายได้ ทำให้เกิดแนวคิดการเล่นอย่างสนุก ถูกวิธี เพื่อให้ เกิดการเคลื่อนไหว ซึ่งประยุกต์เข้ากับการเล่นพื้นบ้านของประเทศญี่ปุ่น เช่น เกมดึงหัวไชเท้า เกมพื้นบ้านยอดฮิต ของญี่ปุ่น โดยยึดหลักการสร้างแรงจูงใจ 4 อย่าง ได้แก่ สถานที่ เพื่อน เวลา และความใส่ใจของผู้ปกครอง เพื่อดึงดูดให้เด็กหันมาเล่นมากกว่าติดหน้าจออยู่ในบ้าน" เขา กล่าว
และเผยว่า ผลจากแนวคิดการเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการ ACP กับเด็ก ๆ ในญี่ปุ่น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเด็กในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งในเรื่องสมรรถนะทางกาย สุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง พัฒนาการตามช่วงวัย ตลอดจนความสุขและรอยยิ้มที่เกิดขึ้น ทางสมาคมกีฬาจึงปรารถนาที่จะถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนแนวคิดที่เป็นประโยชน์กับประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย เพื่อนำแนวทางความรู้ไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม และนำความรู้จากประเทศต่าง ๆ มาปรับใช้กับแนวทางของประเทศญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้มีการกำหนดเกณฑ์ "การเคลื่อนไหวร่างกาย" ซึ่งไม่ได้เฉพาะเจาะจงแค่การออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว โดยระบุว่า ในวัยผู้ใหญ่ควรมีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ส่วนในวัยเด็กควรมีการ เคลื่อนไหวอย่างน้อยวันละ 60 นาที หรือ 1 ชั่วโมง ซึ่งสำหรับประเทศไทยได้ทำการสำรวจสถานการณ์การเคลื่อนไหวร่างกายภายในเด็ก พบว่า วัยเด็กที่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย 60 นาที ต่อวัน มีเพียงแค่ 26 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
การสำรวจการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ระหว่างปี 2557-2558 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า เด็กไทยใช้เวลามากถึง 13 ชั่วโมง 35 นาทีต่อวันกับการมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง (ไม่รวมการนอนหลับ) และประมาณร้อยละ 41 ใช้เวลาอยู่กับ หน้าจอทีวีเฉลี่ย 6 ชั่วโมงต่อวัน
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการ สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ค่าเฉลี่ยของเด็กไทยในการเคลื่อนไหวร่างกายถือว่าน้อยมาก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับทั่วโลกแล้วก็อยู่ในเกณฑ์ที่ใกล้กัน ทำให้เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกระจายไปทั่วโลก ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์โรคติดต่อไม่เรื้อรัง หรือ NCDs เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวานในเด็กที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสาเหตุหลัก ๆ คือการติดจอเฉลี่ยวันละ 3 ชั่วโมง ไม่ใช่แค่เฉพาะหน้าจอมือถือ รวมถึงหน้าจอโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ โดยที่จะเป็นการนั่งนิ่ง ๆ ไม่มีการขยับหรือเคลื่อนไหวร่างกายใด ๆ เลย พฤติกรรมเด็กเปลี่ยนไม่ได้ออกไปเล่นข้างนอกเหมือนสมัยก่อน
"การแก้ปัญหา คือ ไม่ใช่การโทษเด็ก แต่จะมาช่วยกันดูถึงต้นตอและวิธีการรับมือ ทั้งตัวผู้ใหญ่ ผู้ปกครองที่ดูแลเรื่องกิจกรรมในบ้าน คุณครูดูเรื่องกิจกรรมระหว่างเรียน ตอนพักกลางวัน ช่วงเย็นก่อนเลิกเรียน และ ภาครัฐช่วยกันสนับสนุน จึงเกิดแนวทางหนึ่ง ชื่อ 10-20-30 คือ ก่อนไปโรงเรียน 10 นาทีเด็กได้เล่นกับเพื่อน ระหว่าง พักเที่ยง พักกลางวันก็ใช้เวลาประมาณ 20 นาทีให้เด็กขยับร่างกาย และ 30 นาทีช่วงหลังเลิกเรียนก็อาจจะเป็นช่วงกิจกรรมการเล่นกีฬา เมื่อรวมกันแล้วก็ได้ครบ 60 นาที ถือว่าพอดีและอยู่ในเกณฑ์การเคลื่อนไหวร่างกายของเด็กที่เหมาะสม นอกจากการจัดการด้านเวลาแล้ว ยังมีการจัดการสถานที่ จัดการด้านอุปกรณ์ให้พร้อมต่อเด็ก"
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า สสส. ได้กำหนดให้ประเด็นด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญด้านการส่งเสริมสุขภาพของประชากร และมองว่านี่คือการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่มีความคุ้มค่าในระยะยาว เพื่อให้การพัฒนาการเคลื่อนไหวร่างกายของเด็กมีรูปธรรมในสังคมไทยมากขึ้น จึงร่วมมือกับสมาคมกีฬาแห่งประเทศญี่ปุ่น เพื่อดึงเอาแนวทาง วิธีการและการจัดการของ ACP (Active Child Program) มาปรับ ประยุกต์กับของประเทศไทย จนเกิดการ บูรณาการเข้ากับการเล่นพื้นบ้านของไทยให้เกิดความสนุก รวมถึงมีการจัดการเข้าสู่ระบบการศึกษาให้เข้าใจอย่างทั่วถึง
รศ.ดร.รศรินทร์ เกรย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล กล่าวว่า สถาบันฯ มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ด้านการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมทางสังคมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางประชากรและสังคม ซึ่งรวมถึงประเด็นทางด้านสุขภาพของประชากร กิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้จึงเป็นการต่อยอดงานวิจัยเพื่อพัฒนาต้นแบบด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียนที่ทางสถาบันฯ กับทาง สสส. ร่วมมือกันดำเนินการก่อนหน้านี้ให้มีความหลากหลายในเชิงกระบวนการเพื่อนำไปสู่การเผยแพร่และขยายผลในระดับประเทศได้ในอนาคต
เสริมโดย ปัญญา ชูเลิศ หัวหน้าโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาต้นแบบส่งเสริมการเล่นในบริบทไทยเพื่อสร้างทักษะสำหรับเด็กและเยาวชน หรือ THAI-ACP ที่เผยว่า หลังจากทำการศึกษาโปรแกรม ACP ของประเทศญี่ปุ่น พบข้อยืนยันว่าช่วยส่งผลดี ต่อตัวของเด็ก ๆ ในหลาย ๆ ด้านตามที่กล่าวข้างต้น จึงได้นำมาประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมการเคลื่อนไหวให้เด็กไทยผ่านกิจกรรมที่ช่วยดึงความสนใจของเด็ก ๆ ให้ห่างหรือลดพฤติกรรมการใช้หน้าจอ ให้น้อยลงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
โดยเฉพาะการเล่นพื้นบ้านดั้งเดิม ของไทย เช่น งูกินหาง มอญซ่อนผ้า รีรีข้าวสาร มีประโยชน์ทั้งการช่วยเสริมสร้างพัฒนาทางร่างกายของเด็ก แล้วยังช่วยพัฒนาทักษะต่าง ๆ ช่วยให้เด็กเกิดความคิดรวบยอด รวมทั้งส่งเสริมกระบวนการทำงาน และกระตุ้นพฤติกรรมทางสังคมอื่น ๆ เช่น การสื่อสาร การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
การเล่น จึงไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ที่ให้ความสนุกเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้การเคลื่อนไหวร่างกาย สุขภาพที่ดีแก่เด็กอีกด้วย