เล่นน้ำทะเลกลางคืน เสี่ยงเจอแมงกะพรุนกล่อง

เตือนเล่นน้ำทะเลกลางคืน-หลังฝนตกเสี่ยงเจอแมงกะพรุนกล่อง


เตือนเล่นน้ำทะเลกลางคืน เสี่ยงเจอแมงกะพรุนกล่อง thaihealth


น.พ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงกรณีนักท่องเที่ยวสาวชาวเยอรมันลงเล่นน้ำทะเลที่เกาะสมุยช่วงเวลา 20.00 น. และถูกพิษจากแมงกะพรุนกล่องจนเสีย 1 ราย และบาดเจ็บ 1 ราย ว่า กรณีดังกล่าวเป็นการลงเล่นน้ำในช่วงกลางคืน เหมือนกับนักท่องเที่ยวสาวชาวไทยที่เพิ่งเสียชีวิตจากแมงกะพรุนกล่องที่เกาะพะงันเมื่อ ส.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากข้อมูลย้อนหลังช่วง 16 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเนื่องจากแมงกะพรุนพิษมากกว่า 900 คน ทั้งชาวไทยและต่างชาติ มีอาการหนักจนถึงหมดสติจำนวน 17 ราย จำนวนนี้เสียชีวิต 7 ราย เฉพาะปี 2558 พบผู้เสียชีวิตรวมรายล่าสุดเป็น 2 ราย อาการรุนแรงจนหมดสติ ต้องปั๊มหัวใจ 1 ราย โดยทั้ง 3 รายอยู่ที่ จ.สุราษฎร์ธานี


น.พ.โอภาส กล่าวว่า แมงกะพรุนกล่องหนึ่งตัวอาจมีถุงพิษถึงล้านเซลล์ จึงเป็นแมงกะพรุนชนิดที่มีพิษร้ายแรงที่สุด โดยถุงพิษของแมงกะพรุนกล่องมี 3 ชั้นในหนวดแต่ละเส้น ซึ่งการสัมผัสหนวดครั้งแรกมักมีการยิงพิษเพียงร้อยละ 10-20 ของถุงพิษทั้งหมด หากช่วยเหลือขั้นต้นผิดวิธีจะทำให้ถุงพิษที่เหลืออีกร้อยละ 80-90 เกิดการยิงพิษเข้าสู่ร่างกาย การช่วยเหลือเบื้องต้นที่ถูกวิธีจึงมีความสำคัญมากในการลดความรุนแรงของการได้รับพิษ สิ่งที่จะกระตุ้นการยิงพิษ ได้แก่ การกระเทือนในรูปแบบต่างๆ เช่น เอาทรายไปขัดถู การพยายามดึงสายหนวดออก ราดด้วยน้ำจืด หรือประคบน้ำแข็ง ส่วนการราดด้วยน้ำส้มสายชูจะระงับการยิงพิษจากถุงพิษ ดังนั้นหากราดด้วยน้ำส้มสายชูก็สามารถนำสายหนวดออกจากร่างกายได้


"พื้นที่ที่มักพบการบาดเจ็บรุนแรงจากแมงกะพรุนกล่อง คือบริเวณน้ำตื้นใกล้ชายหาด โดยเฉพาะในบริเวณอ่าวโค้งเว้า ในช่วงที่คลื่นลมสงบ เนื่องจากแมงกะพรุนกล่องมักจะว่ายเข้ามาหาเหยื่อพวกลูกกุ้ง ลูกปลาในพื้นที่ลักษณะดังกล่าว นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ป่วยที่เสียชีวิตหรืออาการรุนแรงหลายรายเกิดเหตุการณ์ขณะที่เล่นน้ำหลังฝนหยุดตกใหม่ๆ หรือเล่นน้ำตอนกลางคืน ในประเทศไทยพบแมงกะพรุนกล่องได้ทั้งในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน มักพบในฤดูฝนหรือช่วงปลายปี ซึ่งฤดูกาลที่พบแตกต่างกันในแต่ละฝั่งทะเล" รองอธิบดี คร. กล่าว 


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

Shares:
QR Code :
QR Code