เลือกใช้และสวมหมวกนิรภัยถูกวิธี
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
ปภ.แนะเลือกใช้และสวมหมวกนิรภัยถูกวิธีลดบาดเจ็บรุนแรง-ลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ
คุณชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า วัสดุภายในหมวกนิรภัยทำจากโฟม ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษสามารถยืดหยุ่นได้เมื่อถูกกระแทก จึงช่วยดูดซับและกระจายแรงไม่ให้ส่งไปยังสมองผู้ประสบอุบัติเหตุ ขณะที่วัสดุภายนอกมีความแข็งแรง จะช่วยปกป้องศีรษะไม่ให้กระแทกกับ พื้นถนนโดยตรง จึงช่วยลดการบาดเจ็บรุนแรง และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะผู้ขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์เลือกใช้และสวมหมวกนิรภัยอย่างถูกวิธี ดังนี้
การเลือกใช้หมวกนิรภัย ควรใช้หมวกนิรภัยแบบเต็มใบที่มีขนาดพอดีกับศีรษะ มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาห กรรม หมวกมีน้ำหนักไม่มากเกินไป รวมถึงมีสีสันสดใส จะช่วยให้ผู้ขับรถคันอื่นมองเห็นอย่างชัดเจนในระยะไกล การสวมหมวกนิรภัยอย่างถูกวิธี ให้สวมหมวกนิรภัยในลักษณะตรง ไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง คาดสายรัดคางและปรับความตึงให้กระชับใต้คาง สายไม่พลิก บิดหรือหย่อน รวมถึงกระชับเพียงพอที่หมวกนิรภัยจะไม่หลุดออกจากศีรษะเมื่อประสบอุบัติเหตุ จะช่วยป้องกันการบาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิตได้
ข้อควรระวังในการใช้หมวกนิรภัย ควรเปลี่ยนหมวกนิรภัยทุก ๆ 3-5 ปี หรือภายหลังที่หมวกนิรภัยกระแทกพื้น หรือของแข็งอย่างรุนแรง เพราะวัสดุภายในหมวกนิรภัยจะเสื่อมสภาพและไม่สามารถรองรับแรงกระแทกได้เมื่อประสบอุบัติเหตุ สวมหมวกนิรภัยและคาดสายรัดคางทุกครั้งที่ขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์ พร้อมใช้ความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะเป็นระดับความเร็ว ที่หมวกนิรภัยรองรับแรงกระแทกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เก็บรักษาหมวกนิรภัยอย่างถูกวิธี หลีกเลี่ยงการเก็บในบริเวณที่มีอุณหภูมิสูง ใกล้แหล่งความร้อน เพราะทำให้พลาสติกและโฟมหมดอายุการใช้งาน ส่งผลให้ไม่สามารถรองรับแรงกระแทกได้เมื่อประสบอุบัติเหตุ
การสวมหมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐานอย่างถูกวิธี ช่วยลดการบาดเจ็บรุนแรงที่ศีรษะได้ ร้อยละ 72 และลดการเสียชีวิตได้ ร้อยละ 39 เมื่อประสบอุบัติเหตุ เพื่อความปลอดภัย ทุกครั้งที่ขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์ไม่ว่าจะเดินทางในระยะใกล้หรือไกล ควรสวมหมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐานอย่างถูกวิธีทุกครั้ง จะช่วยป้องกันการบาดเจ็บรุนแรง และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน.