เลือกผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค ให้ถูกต้องปลอดภัย

อย.แนะนำวิธีการเลือกซื้อ เลือกใช้ ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคให้ถูกต้องปลอดภัย หลังประชาชนกังวลเกี่ยวกับข่าวเชื้อโรคที่มีการระบาดผ่านทางเดินหายใจและการสัมผัส ทำให้ประชาชนหันมานิยมใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคกันมากขึ้น ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้ ควรอ่านฉลากให้ถี่ถ้วนเสียก่อนและปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด โดยสังเกตฉลากต้องระบุเลขทะเบียน วอส.ในกรอบเครื่องหมาย อย.


เลือกผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค ให้ถูกต้องปลอดภัย thaihealth


ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะโฆษก อย. เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ตามที่มีข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ว่ากำลังมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา สายพันธุ์ 2012 (MERS หรือโรคเมอร์ส) ทำให้ประชาชนมีความกังวลว่าจะติดโรคดังกล่าวหรือโรคอื่น ๆ ผ่านระบบทางเดินหายใจและการสัมผัส จึงทำให้ประชาชนหันมานิยมใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคมากยิ่งขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรค บริเวณพื้น ฝาผนัง เครื่องสุขภัณฑ์ โถสุขภัณฑ์ของอาคารบ้านเรือนทั่วไปและโรงพยาบาลจัดเป็นผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สารเคมีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคนั้น สามารถแบ่งเป็นกลุ่มได้ดังนี้


1.สารในกลุ่มอัลดีไฮด์ 2.สารในกลุ่มคลอรีน 3.สารในกลุ่มเกลือของคลอร์เฮกซิดีน 4.สารในกลุ่มฟีนอล และ 5.สารในกลุ่มสารลดแรงตึงผิวชนิดประจุบวก ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกนำมาใช้เพื่อลดจำนวนเชื้อโรคให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเท่านั้น แต่ไม่สามารถทำให้ปราศจากเชื้อโรคหรือไม่มีเชื้อโรคได้ โดยปกติมนุษย์จะมีระบบป้องกันเชื้อโรคตั้งแต่ภายนอก คือ ผิวหนัง ซึ่งเชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังได้ยาก ยกเว้นผิวหนังที่มีบาดแผล หรือมีรอยถลอก และยังมีระบบภูมิคุ้มกันหรือความต้านทานโรคอีกด้วย การทำความสะอาดด้วยน้ำ สบู่ ผงซักฟอก หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดธรรมดาจะช่วยลดปริมาณเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่ตามพื้น ฝาผนัง เฟอร์นิเจอร์ และวัสดุอื่น ๆ ในบ้านให้อยู่ในระดับที่ไม่ทำให้เกิดโรคได้


การทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการถูบ้าน ซักผ้า ล้างจาน โดยใช้น้ำและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเพียงอย่างเดียวเป็นประจำก็เพียงพอแล้ว สำหรับบ้านเรือนซึ่งไม่ได้มีเชื้อโรคอยู่มากมายการทำความสะอาดนอกจากจะช่วยลดจำนวนเชื้อโรคแล้วยังเป็นการขจัดแหล่งอาหาร และที่อยู่ของเชื้อโรคด้วยแต่ห้ามลืมที่จะทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ทำความสะอาดด้วย โดยการซัก ล้าง และทำให้แห้ง เพราะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้เช่นกันอาการเกิดพิษของสารเคมีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคมีได้ตั้งแต่เกิดการระคายเคืองผิวหนังเมื่อสัมผัส ระคายเคืองตา อาการเกิดพิษจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับบริเวณที่รับสัมผัส ความเข้มข้นของสารระยะเวลาที่รับสัมผัส


หากผลิตภัณฑ์ที่เป็นกรด – ด่างมากจะมีฤทธิ์กัดกร่อน ทำให้เกิดอาการปวดร้อนระคายเคืองไหม้ หากรับประทานเข้าไปจะมีอาการปวดร้อนภายในปาก คอ กระเพาะอาหาร และลำไส้อักเสบ อาเจียน อุจจาระร่วงถ่ายเป็นเลือด ความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็ว ไตถูกทำลายและในรายที่อาการรุนแรงอาจตายได้เนื่องจากการอุดตันของทางเดินหายใจ หากสูดดมไอควัน จะมีอาการไอ สำลักปวดศีรษะ หน้ามืด อ่อนเพลียและแน่นหน้าอก หากสัมผัสบริเวณผิวหนังจะมีอาการปวดร้อน และไหม้หากเข้าตาจะมีอาการระคายเคืองปวดร้อนและน้ำตาไหล


รองเลขาธิการ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ก่อนซื้อ ก่อนใช้ ควรอ่านฉลากให้ละเอียด โดยฉลากต้องระบุเลขทะเบียน วอส.ในกรอบเครื่องหมาย อย. หากพื้นผิวสกปรกมากให้ทำความสะอาดพื้นผิวก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ ผลิตภัณฑ์ต้องแสดงฉลากเป็นภาษาไทยที่มีข้อความครบถ้วน อาทิ ชื่อสารสำคัญปริมาณสารสำคัญ ประโยชน์ วิธีการใช้ คำเตือน วิธีการเก็บรักษา อาการเกิดพิษ และวิธีการแก้พิษเบื้องต้น ชื่อที่ตั้งและหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ผลิตนำเข้าหรือจัดจำหน่าย ทะเบียนวัตถุอันตราย วันเดือนปีที่ผลิต เลขหรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต ภาชนะบรรจุควรอยู่ในสภาพดี และฉลากไม่ฉีกขาดหรือเลอะเลือนควรเก็บผลิตภัณฑ์ไว้ในที่มิดชิด ห่างจากเด็ก อาหารและสัตว์เลี้ยงเพื่อความปลอดภัยและป้องกันการนำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ อ่านวิธีการใช้ผลิตภัณฑ์บนฉลากให้ละเอียดก่อนใช้ทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค


 


 


ที่มา: เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ