เลี้ยงลูกอย่างไรให้ “เก่ง ดี มีความสุข”

 

คงไม่มีพ่อแม่คนใด ที่ไม่อยากให้ลูกเป็นคนเก่ง ฉลาด แข็งแรง และเป็นคนดีของสังคม พ่อแม่ทุกคนล้วนอยากให้ลูกของตนมีคุณลักษณะดังกล่าวทั้งสิ้น มิเช่นนั้นแล้ว บรรดาพ่อแม่ที่มีทุนทรัพย์ หรือมีฐานะดีทั้งหลายคงไม่ทุ่มเทเงินทองไปกับการสรรหาอาหารที่มีประโยชน์ รวมถึงส่งลูกหลานของตนไปเรียนรู้สิ่งต่างๆ ทั้งวิชาการ กีฬา ดนตรี ฯลฯ เพื่อหวังให้เติบโตขึ้นไปเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะมีแต่เพียงพ่อแม่ที่มีฐานะดีเท่านั้น ที่จะสามารถพัฒนาศักยภาพของบุตรหลานของตนได้ เพราะแท้ที่จริงแล้ว เคล็ด (ไม่) ลับ ในการเลี้ยงดูลูกให้เก่ง ดี และมีความสุขนั้น อาจไม่จำเป็นต้องลงทุนมากมายแต่อย่างใด หากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเข้าใจถึงพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงอายุ และให้การเลี้ยงดูได้เหมาะสมตามวัย ก็สามารถทำให้เด็กน้อย เติบโตเป็นผู้มีคุณภาพ และคุณธรรมได้เช่นกัน วันนี้สกู๊ปหน้า 5 จะพาไปรู้จักพัฒนาการของเด็กแต่ละวัย และวิธีการเลี้ยงดู ให้การศึกษาที่เหมาะสม เผื่อจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านที่เพิ่งจะมี หรือกำลังจะมีทายาทตัวน้อยๆ ถือกำเนิดขึ้นมาได้บ้าง

พัฒนาการทางสมองของเด็กแต่ละวัย

แม้ว่าปัจจุบัน องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบประสาทและสมองจะถูกเผยแพร่ในวงกว้างมากขึ้น แต่กับพ่อแม่ที่เป็นประชาชนทั่วไป ที่ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตแบบหาเช้ากินค่ำอาจจะยังไม่ตระหนักในเรื่องดังกล่าวมากนัก ทั้งที่มีผลการศึกษายืนยันแล้วว่าช่วงชีวิตในวัยเด็ก โดยเฉพาะแรกเกิดถึงอายุ 6 ปี หากได้ซึมซับสิ่งใดแล้ว สิ่งเหล่านั้นมักจะถูกจดจำอยู่ในจิตใต้สำนึก กลายเป็นบุคลิกประจำตัวบุคคลนั้นไปชั่วชีวิต และยากที่จะมีอะไรมาเปลี่ยนแปลงได้

ข้อมูลจากคู่มือ “อ่านสร้างสุข” ที่จัดทำโดย แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อธิบายโครงสร้างของสมอง และพัฒนาการของเด็กแต่ละวัยเอาไว้อย่างน่าสนใจ และเข้าใจได้ง่าย กล่าวคือ

สมองคนเรานั้นมี 2 ซีก ซีกซ้ายเป็นเรื่องของการคำนวณ ตรรกะ เหตุผล ส่วนซีกขวานั้นเป็นเรื่องของอารมณ์ จริยธรรม ศิลปะ ทั้งนี้สมองของมนุษย์มีการจดจำสิ่งต่างๆ ที่กำหนดบุคลิกภาพของแต่ละคนตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุ 3 ปี โดยใน 3 ปีแรก สมองส่วนหน้าที่ทำหน้าที่จดจำ คิด วิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมีผลต่อการเรียนรู้จะถูกสร้างขึ้น ขณะที่เมื่ออายุ 3 ปีขึ้นไป สมองส่วนหลังที่ทำหน้าที่เรื่องอารมณ์ ความรู้สึก จินตนาการจึงค่อยๆ พัฒนาตามมา ดังนั้นการเอาใจใส่ต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

โดยสมองของเด็กแรกเกิดถึงอายุ 1 ปี ก็เริ่มที่จะสามารถจดจำสิ่งที่เห็นได้แล้ว วัยนี้สิ่งที่เหมาะสมคือการกระตุ้นทักษะการมองเห็นและการได้ยินของเด็ก โดยใช้ของเล่นที่เคลื่อนไหวได้ (โมบาย) รวมถึงหมั่นพูดคุยกับลูก อย่างไรก็ตาม ของเล่นไม่ควรมีมากเกินไป เพราะทำให้เด็กเสียสมาธิเนื่องจากเลือกไม่ถูกว่าจะเล่นของเล่นชิ้นไหน ทำให้ไม่สามารถศึกษาของเล่นแต่ละชิ้นได้อย่างละเอียด (พื้นฐานของการมีสมาธิ) และระวังเด็กเผลอหยิบของเล่นเข้าปากด้วย

สำหรับเด็กวัย 1-2 ปี เรามักพบว่าเด็กวัยนี้เริ่มที่จะหัดเดิน คือมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงขึ้น สามารถทรงตัวได้ดีขึ้น ดังนั้นการส่งเสริมพัฒนาการในช่วงนี้ สามารถทำได้โดยให้เด็กหยิบจับสิ่งของด้วยตนเอง (สิ่งของนั้นต้องไม่เป็นอันตรายต่อเด็กด้วย) โดยควรปล่อยให้เด็กได้ลองผิดลองถูก พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ต้องเข้าไปช่วยเหลือทุกเรื่องเสมอไป แน่นอนว่าเด็กคงไม่สามารถทำได้ถูกต้องไปเสียทั้งหมด แต่การได้ลองผิดลองถูกนี้เป็นการเรียนรู้ที่สำคัญยิ่ง ส่วนทางด้านสมองนั้น เด็กวัยนี้สามารถจดจำคำพูดหรือภาษาต่างๆ ได้แล้ว ดังนั้นการอ่านหนังสือให้ลูกฟังจะช่วยกระตุ้นการพัฒนาของสมองได้มากทีเดียว อย่างไรก็ตาม ไม่ควรจำกัดเวลาว่าจะอ่านหนังสือให้ลูกฟังเวลาไหนเป็นหลัก แต่ให้เลือกช่วงเวลาที่ดูแล้วทั้งพ่อแม่และลูกมีจิตใจที่เบิกบาน มีความพร้อมทั้งสองฝ่ายจึงค่อยอ่านให้ฟังจะดีที่สุด

และสำหรับเด็กอายุ 2-6 ปี หรือที่เรียกกันว่า “วัยอนุบาล” นั้น พบว่าเด็กวัยนี้ร่างกายแข็งแรงมากขึ้น สามารถเดินและวิ่งได้ ขณะที่สมองนั้นเป็นช่วงเวลาที่มีการพัฒนาด้านความคิดและจินตนาการ ดังจะเห็นได้จากเด็กวัยนี้เป็นเด็กช่างพูด ช่างถามช่างสงสัยอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นพ่อแม่ควรทำความเข้าใจ และพยายามตอบคำถามเด็กให้ได้ อย่าใช้วิธีตัดบท หรือดุด่าด้วยความรำคาญ เพราะการกระทำดังกล่าวจะไปทำลายกระบวนการพัฒนาความคิดของเด็ก ในวัยนี้ พ่อแม่สามารถเริ่มสอนให้ลูกอ่านหนังสืออย่างง่ายๆ ได้บ้างแล้ว รวมไปถึงการเล่นของเล่นที่เสริมพัฒนาการของเด็กวัยนี้ เช่นตัวต่อบล็อคไม้ หรือการต่อภาพ (จิ๊กซอว์) เป็นต้น

ข้อควรระวังประการหนึ่ง เด็กวัยนี้อาจมีจินตนาการที่ไม่ตรงกับความจริง ยกตัวอย่างการวาดรูปช้าง เด็กอาจจะระบายสีไม่ตรงกับช้างจริงๆ พ่อแม่ก็ไม่ควรจะไปดุด่าหรือบังคับให้ระบายสีให้เป็นไปตามความจริง เพราะเป็นการทำลายกระบวนการคิดสร้างสรรค์ของเด็กที่จะติดตัวไปในอนาคต ทั้งนี้เมื่อเด็กโตขึ้น หลักเหตุผลและความจริงจะเข้ามาแทนที่ไปเองในที่สุด

“คุณธรรม-จริยธรรม” สอนอย่างไร?

นอกจากจะพัฒนาร่างกายและสมองตามวัย เพื่อให้เด็กเป็นคนเก่ง คือกระตุ้นนิสัยรักการเรียนรู้ตามหัวข้อข้างต้นแล้ว การปลูกฝังให้บุตรหลานของตนเติบโตอย่างมีคุณธรรม-จริยธรรมก็เป็นสิ่งสำคัญ และสามารถทำได้ตามวัยเช่นกัน โดย นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้อธิบายพัฒนาการของเด็ก และการปลูกฝังพฤติกรรมที่เหมาะสมตามแต่ละช่วงวัยตามทฤษฎี “หน้าต่างแห่งโอกาส” ไว้ดังนี้

โดยเด็กวัยแรกเกิดถึงอายุ 2 ปี จะเริ่มเรียนรู้ถึงความไว้วางใจ และความผูกพันกับผู้อื่น ซึ่งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ เพราะหากขาดคุณสมบัติทั้ง 2 ข้อนี้ เด็กจะไม่สามารถเข้าสังคม คือสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้เลย

ขณะที่เด็กวัย 3-5 ปี หรือวัยอนุบาล จะเริ่มเรียนรู้ถึงความถูก-ผิด ควร-ไม่ควร รวมถึงการควบคุมอารมณ์ตนเอง พ่อแม่จึงควรปลูกฝังลักษณะนิสัยที่เหมาะสม เช่น ไม่ทำร้ายรังแกผู้อื่น ไม่หยิบของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต การรู้จักเอื้อเฟื้อแบ่งปัน รู้จักอดทนอดกลั้น เป็นต้น ซึ่งวัยอนุบาลนี้ การอ่านนิทาน หรือเรื่องเล่าที่สอนใจ ปลูกฝังคุณธรรมให้เด็กนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก

ส่วนเด็กวัย 6-12 ปี หรือวัยประถม (ป.1-ป.6) เด็กจะเริ่มเรียนรู้ และคิดในเรื่องที่ซับซ้อนได้มากขึ้น เช่นเรื่องของจำนวนเงิน เวลา และหน้าที่ความรับผิดชอบ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรปลูกฝังระเบียบวินัย การรู้จักประหยัดอดออม ตรงต่อเวลา หรือนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนให้กับเด็กวัยประถมนี้มากที่สุด

การสอนที่ดีที่สุด คือการที่ตัวผู้สอน หรือพ่อแม่ผู้ปกครองทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีให้บุตรหลานเห็นอยู่เสมอ เพราะเด็กจะซึมซับจากพฤติกรรมที่ผู้ใหญ่แสดงออกมาโดยอัตโนมัติอย่างไม่รู้ตัวยิ่งกว่าการสอนด้วยคำพูดใดๆ ซึ่งเรื่องนี้ เราขอยกคำกล่าวของ นายเสริมเกียรติ วรดิษฐ์ ผู้ตรวจการอัยการ ที่เคยกล่าวเกี่ยวกับปัญหาทุจริตคอรัปชั่นมาเน้นย้ำอีกครั้ง ดังนี้ “ผู้ใหญ่ต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่าง ถ้าปากสอนอย่างเดียวว่าอย่าโกงกินแต่ยังรับยังให้สินบน ไม่เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้น้อย ผู้น้อยเขาก็ไม่เชื่อถือ ท้ายที่สุดผู้น้อยเหล่านี้ก็จะโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ทุจริตคอรัปชั่นในโอกาสต่อไป”

ปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อเด็ก

อย่างไรก็ตาม แม้จะเข้าใจพัฒนาการของเด็กแต่ละวัยแล้ว แต่ปัจจัยบางอย่างอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กได้ โดย รศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ อาจารย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก โดยเฉพาะโภชนาการตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา หรือการที่มารดาเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งมีผลต่อระดับสติปัญญา (ไอคิว) ของเด็กอย่างมาก

“ไอโอดีนเป็นสารที่หากขาดแล้ว จะทำให้ไอคิวหายไปมากที่สุด ถ้าขาดสารไอโอดีนเรื้อรัง ไอคิวจะหายไปประมาณ 12-13 จุด ซึ่งจากโครงการเกลือเสริมไอโอดีนถ้วนหน้าที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง พบว่าภาวะการขาดไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์ลดลง ซึ่งถ้าทำต่อไปเรื่อยๆ สมองของเด็กตั้งแต่ในครรภ์ก็จะพัฒนาได้อย่างเต็มที่ ส่วนการขาดธาตุเหล็ก หากเป็นเด็กจะทำให้สมาธิสั้น ความจำไม่ดี อ่อนเพลีย ซึม และมีผลต่อภาวะโลหิตจาง

ส่วนถ้าเป็นผู้ใหญ่ขาดธาตุเหล็ก ความสามารถในการทำงานจะลดลงไปถึง 1 ใน 3 ขณะที่ปัญหาที่พบบ่อยในปัจจุบัน เด็กสมัยนี้ไม่ค่อยได้กินอาหารเช้า แม้กระทั่งเด็กเล็กๆ สองขวบสามขวบ พ่อแม่พาไปส่งศูนย์เด็กเล็กก็ยังไม่กิน ทั้งที่สมองเด็กต้องการอาหาร คือพ่อแม่เร่งรีบจนลืม ซึ่งการไม่กินอาหารเช้า มีผลต่อความสามารถในการคิดคำนวณ ความจำระยะสั้น ความสามารถในการอ่าน การแก้ปัญหา และสมรรถภาพทางกาย ส่วนถ้าเป็นเด็กโตไม่กินมื้อเช้า พอช่วงพักเบรก สัก 10 โมง ออกมาคว้าโดนัท คว้าน้ำอัดลมมากิน ก็เป็นโรคอ้วนกันไปอีก”

พญ.ลัดดา กล่าวทิ้งท้าย พร้อมทั้งเสริมอีกว่า ปัจจุบันมีการศึกษา พบว่าภาวะทุพโภชนาการในวัยเด็กยังมีผลต่อการป่วยเป็นโรคต่างๆ ในวัยผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยเช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุด ต้องดูแลตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา หรืออีกนัยหนึ่ง คือต้องดูแลสุขภาพของสตรี ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ หรือถ้าเป็นไปได้คือต้องก่อนที่จะตั้งครรภ์ด้วยซ้ำไป เพื่อให้เด็กที่จะลืมตามาดูโลกได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนสมบูรณ์

จะเห็นได้ว่าทั้งหมดที่เราได้นำเสนอมาตั้งแต่ต้น อย่างด้านอาหารนั้น เชื่อได้ว่าผู้อ่านทุกท่านคงได้เรียนรู้เรื่องอาหารครบ 5 หมู่มาแล้ว ซึ่งการหาอาหารรับประทานให้ครบ 5 หมู่ในยุคปัจจุบันนั้น คงไม่น่าจะยากจนเกินไปนัก ขณะที่ความรู้ด้านพัฒนาการแต่ละวัย ก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนอะไรแพงๆ นอกจากการให้เวลา สังเกต เอาใจใส่อย่างต่อเนื่องเท่านั้น

เพื่อที่ลูกหลานของท่าน จะได้เติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ คือ “เก่ง ดี มีความสุข” และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติของเราต่อไป

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

 

Shares:
QR Code :
QR Code