เลี้ยงลูกด้วยไอทีเสี่ยงอารมณ์ร้อน
กรมสุขภาพจิต เผยภาพรวมเด็กเกิดใหม่มีปัญหาด้านพัฒนาการประมาณ 2.4 แสน หรือประมาณ 30% แนะ ถ้ารู้เร็วจะสามารถแก้วิกฤติให้เป็นโอกาสในการพัฒนาเด้กที่ดีได้
เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กล่าวในงานแถลงข่าว “เด็กไทยไอคิวเกิน 100” ว่า อัตราเกิดของเด็กไทยเฉลี่ยปีละ 8 แสนคน ตัวกำหนดสติปัญญา 50% คือ พันธุกรรมและอีก 50% มาจากการเลี้ยงดูยิ่งอายุน้อยช่วงปฐมวัย 0-5 ขวบ ยิ่งมีผลต่อเซลล์สมองที่พัฒนาต่อเนื่อง ทั้งนี้โดยภาพรวมของเด็กเกิดใหม่ที่มีปัญหาด้านพัฒนาการจะพบประมาณ 2.4 แสน หรือประมาณ 30% ถ้าเรารู้เร็วจะสามารถแก้วิกฤติให้เป็นโอกาสในการพัฒนาเด็กให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ แต่หากปล่อยไว้ทุกอย่างจะยิ่งแย่
โดยเฉพาะปัจจุบันระบบการส่งต่อข้อมูลจากปฐมวัยเข้าสู่วัยประถมไม่มีประสิทธิภาพทำให้เด็กไม่ได้รับการติดตามดูแลอย่างถูกต้อง ครูก็ไม่รู้พื้นฐานของเด็กมองว่าเด็กที่มีปัญหาด้านพัฒนาการโดยเฉพาะกลุ่มสมาธิสั้นว่าเด็กก้าวร้าว เลี้ยงยาก เมื่อเป็นเช่นนี้ยิ่งจะก่อให้เกิดปัญหาสังคมเพราะเมื่อเด็กไม่ได้รับการยอมรับบนเวทีการศึกษาก็จะออกไปแสวงหาการยอมรับบนเวทีนักเลง
“พัฒนาการเด็กปฐมวัย 0-5 ขวบ ก็ล่าช้า ไอคิวก็ไม่น่าพอใจ ส่วนอีคิวก็ไม่ได้มากพอที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นสุขได้ ดังนั้น สธ.จึงได้สนับสนุนด้านนโยบาย งบประมาณ เครื่องมือ ให้เขตบริการระดับภูมิภาคดูแลเด็ก ยิ่งสังคมปัจจุบันคนรวยออกนอกหน้า เลี้ยงลูกด้วยเทคโนโลยีจะทำให้เด็กมีปัญหาการพูด ไม่ชัด มือคล่องแต่ปัดหน้าจอ แต่อ่อนแรง เมื่อทำอย่างอื่น ขาก็วิ่งไม่ได้ ถ้าวิ่งก็ชอบหกล้มเพราะแท็บเล็ตตรึงให้เด็กอยู่กับที่ นอกจากนี้ยังกลายเป็นเด็กอารมณ์ร้อน” พญ.อัมพร กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์