เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ลดป่วย ช่วยกระตุ้นพัฒนาการเด็ก

 

มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กระตุ้นเตือนและชักชวนให้แม่ยุคใหม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะน้ำนมแม่เปรียบเหมือนวัคซีนหยดแรก ที่จะช่วยลดปัญหาการเจ็บป่วย ที่ไม่ควรเกิดกับทารก เช่น โรคท้องเสีย โรคทางเดินหายใจอักเสบ โรคแพ้โปรตีนนมวัว ซึ่งเป็นต้นตอของการนำโรคต่าง ๆ สู่ทารก

เนื่องจากนมแม่อุดมด้วยสารภูมิคุ้มกัน เซลล์ภูมิคุ้มกัน สารคัดหลั่ง สารฮอร์โมนหลากหลาย ที่จะช่วยปกป้องทารก และการโอบกอดเลี้ยงดูด้วยตัวแม่เองจะเพิ่มโอกาสการมีพัฒนาการที่ดี พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ กล่าวว่า น้ำนมแม่ในช่วง 3 วันแรกหลังคลอดหรือที่เรียกว่า “หัวน้ำนม” เป็นน้ำนมที่มีระดับของสารภูมิคุ้มกัน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ และสารที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของทารกที่สูงมาก เปรียบเสมือนกับเป็น “วัคซีนหยดแรก” ดีกับทารกทุกคน ไม่ว่าจะคลอดมาปกติ หรือไม่ปกติ

“น้ำนมแม่จะช่วยให้ทารกที่คลอดก่อนกำหนด เกิดการพัฒนาลำไส้และอวัยวะต่าง ๆ ได้เต็มที่ ช่วยพัฒนาเนื้อเยื่อประสาทของสมอง ประสาทหู และจอรับภาพ ทำให้ หูได้ยินดี สายตามีความคมชัด เป็นลูกโซ่ นำภาพ นำการเรียนรู้ สู่การพัฒนาสมอง นอกจากนั้นยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแพ้โปรตีนนมวัว โรคภูมิแพ้ โรคอ้วน หรือแม้แต่โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ทารกที่ป่วย ยิ่งต้องควรได้รับนมแม่ เพื่อให้ได้อาหาร พร้อมภูมิคุ้มกัน ในการต่อสู้กับโรค”

สำหรับทารกที่มีความพิการแต่กำเนิด เช่น ปากแหว่ง เพดานโหว่ ทารกกลุ่มอาการดาวน์ ทารกมีปัญหาลิ้นติด ทารกคลอดแฝด ฯลฯ จะเป็นกลุ่ม ที่มีโอกาส ถูกแยกแม่แยกลูก ด้วยภาวะเจ็บป่วย ในความเป็นจริงถ้าทารกเหล่านี้ได้รับนมแม่ จะยิ่งทำให้ การซ่อมแซมเนื้อเยื่อ ดีขึ้น ลดโอกาสการติดเชื้อโรคแทรกซ้อน แต่ทำอย่างไรทารกทั้งป่วยและไม่ป่วยจะได้รับนมแม่ เป็นความท้าทาย ในการให้การดูแลเป็นอย่างมาก แต่อุปสรรคเรื่องสำคัญคือ ความไม่สะดวกในการให้แม่อยู่เลี้ยงลูก บุคลากรหรือแม่คิดว่า ใช้นมผสมก็เหมือนนมแม่ และการอุ้มให้ลูกกินนมไม่เป็น หรือลูกดูดไม่เป็น ฯลฯ

พญ.ศิริพร กล่าวต่อว่า ปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ เช่น การอนุญาตให้แม่เฝ้าลูกได้ การจัดหาพื้นที่ให้แม่อยู่กับลูกช่วยเลี้ยงลูก การทำความเข้าใจว่าไม่มีนมอะไรมาแทนที่นมแม่ได้ การเรียนรู้เทคนิคการอุ้ม การดูด ฯลฯ ซึ่งองค์ความรู้ต่าง ๆ เหล่านี้บันทึกไว้ในหนังสือ “เรียนรู้นมแม่จากภาพ” (ฉบับภาษาไทย) หรือ the breastfeeding atlas thai edition คู่มือที่ช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบความสำเร็จได้แม้ในสภาวะพิเศษ ในหนังสือมีเนื้อหาครบถ้วนอ่านเข้าใจง่าย และสามารถนำไปใช้ได้จริง เพื่อให้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ นำไปประกอบในการช่วยเหลือส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั้งในเด็กปกติและเด็กป่วย รวมถึงมีคำแนะนำสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการช่วยเหลือแม่ที่มีปัญหา เช่น หัวนมบอด เต้านมคัด น้ำนมไม่พอ

นอกจากนี้ในเด็กกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมที่มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรงบริเวณใบหน้า ปาก ลิ้นและคอ การดูดนมแม่นอกจากทำให้ได้รับภูมิคุ้มกันและสารอาหารที่มีประโยชน์ การช่วยให้ลูกได้ดูดนมแม่ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อ กระตุ้นพัฒนาการทางสมอง กระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า ช่องปาก และลิ้นให้ทำงานประสานกันดีขึ้น และจะช่วยแก้ปัญหาการแลบลิ้นออกจากปากและปัญหาการพูดเมื่อโตขึ้น

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code